ข้าวตอกฦาษี

ข้าวตอกฤาษี

BRYOPSIDA

พืชพวกมอสมีจำนวนชนิดประมาณ 14,500 ชนิด ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มไบรโอไฟท์ พบได้ทั่วไปมากกว่าพวกลิเวอร์เวิร์ธและฮอร์นเวิร์ธ ลักษณะคล้ายต้นไม้เล็ก ๆ และมักจะพบอับสปอร์รูปคล้ายผอบเล็ก ๆ มีฝาปิดเจริญอยู่บนต้นที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ ในประเทศไทยมีไบรโอไฟท์ที่มีชื่อไทยเพียงชื่อเดียวคือ ข้าวตอกฤาษี (Sphagnum spp.) นอกนั้นยังไม่มีชื่อในภาษาไทย

วงศ์สะแฟกเนซีอี (SPHAGNACEAE)

มอสวงศ์นี้พบได้ที่ระดับความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป ชอบขึ้นในที่ชื้นและในแอ่งนํ้า และมีคุณสมบัติพิเศษคือ ทำให้น้ำและดินบริเวณใกล้เคียงกับที่มอสวงศ์นี้ขึ้นอยู่มีสภาพเป็นกรด ดังนั้นต้นส่วนล่างที่ตายไปแล้วจึงสลายตัวช้า สภาพแวดล้อมที่มีมอสวงศ์นี้ขึ้นอยู่มีสังคมพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะเฉพาะ นอกจากนั้นใบของมอสชนิดนี้ยังมีลักษณะคล้ายฟองนํ้า ทำให้ซึมซับน้ำได้ดี จึงมีความสำคัญในธรรมชาติโดยเป็นแหล่งรักษาความชุ่มชื้นของป่า

sphagnum sp.

ข้าวตอกฤาษี มีส่วนปลายยอดที่ประกอบด้วยกิ่งหลายขนาด ได้แก่ กิ่งขนาดยาวและห้อยลงแนบต้น ทำหน้าที่ดูดซับน้ำจากส่วนโคนต้น กิ่งยาวแยกตั้งตรงข้ามกับกิ่งแบบแรกซึ่งต่อมาจะหักออกได้ต้นใหม่ และกิ่งประเภทที่ 3 เป็นกิ่งที่ทำหน้าที่สร้างอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ กิ่งทั้ง 3 แบบ มีรูปคล้ายเรือ เรียงซ้อนทับกันตลอด