จิงจ้อหลวง

มันเทศ

วงศ์คอนโวลวูเลซีอี (CONVOLVULACEAE)

พืชวงศ์นี้มีประมาณ 50 สกุล 1,800 ชนิดทั่วโลก ในประเทศไทยพบพืชวงศ์นี้ประมาณ 102 ชนิด 22 สกุล กระจายทั่วไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ มักพบตามพื้นที่ที่รกร้างริมถนน หรือชายป่าที่มีแดดส่องถึง ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อย มียางขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อหรืออาจลดรูปจนมีลักษณะคล้ายดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูปกรวย รูประฆัง หรือรูปถ้วย ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบหรือ 5 แฉกตื้นๆ ตรงกลาง ของกลีบแต่ละกลีบที่เชื่อมติดกันจะมีลักษณะเป็นแถบรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมชี้ไปยังจุดกึ่งกลางของกลีบดอก ทำให้เห็นลักษณะคล้ายรูปดาว 5 แฉก เกสรตัวผู้ 5 อัน ติดที่ฐานของกลีบดอกส่วนที่เชื่อมติดกัน เกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือกว่าชั้นต่างๆ ของดอก ผลค่อนข้างกลม อาจแตกตามยาว ตามขวาง หรือแตกในตำแหน่งที่ไม่แน่นอนแล้วแต่ชนิด พืชในวงศ์นี้ที่รู้จักกันดี เช่น มันเทศ (Ipomoea batatas Lamk.) ผักบุ้ง (Ipomoea aquatica Forsk.) ลดาวัลย์ (Porana volubilis Burm.)

จิงจ้อหลวง

Merremia vitifolia (Linn.) Hall. f. จิงจ้อหลวง

จิงจ้อหลวงเป็นไม้เลื้อย ทอดไปตามพื้นดิน หรือเลื้อยพันไปกับต้นไม้อื่น ลำต้นและใบมีขน แผ่นใบแยกเป็น 5-7 แฉกคล้ายรูปมือ แต่ละแฉกมีลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม ดอกออกเป็นช่อ บางครั้งอาจพบที่เป็นดอกเดี่ยว ดอกสีเหลืองเด่น สะดุดตา มักพบทั่วไปเป็นจำนวนมากตามป่าผสมผลัดใบ ชายป่า ริมลำธาร ออกดอกราวเดือนตุลาคม-เมษายน

ผักบุ้งรั้ว

Ipomoea cairica (Linn.) Sweet ผักบุ้งรั้ว

ผักบุ้งรั้วเป็นไม้เลื้อย ลำต้นพันต้นไม้อื่น หรือแผ่คลุมดิน มียางขาว ใบรูปกลม ขอบใบเว้าลึกเกือบถึงโคนใบ 5-7 แฉก แต่ละแฉกปลายมนหรือแหลม ดอกออกเป็นช่อ กลีบดอกรูปกรวย สีม่วงแดง ด้านในของกรวยสีเข้ม พบขึ้นทั่วไปตามที่รกร้าง โล่งแจ้ง ออกดอกเกือบตลอดทั้งปี