จุลินทรีย์ ปัจจัยที่ทำให้ดินสมบูรณ์

วารี  ยินดีชาติ

โดยทั่วไปแล้ว ดินที่มีคุณสมบัติต่อการเจริญเติบโตของพืช จะมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ชนิด คือ อนินทรีย์วัตถุ อินทรีย์วัตถุ น้ำ อากาศ และจุลินทรีย์ หากขาดองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไปเพียงชนิดเดียว ต้นพืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้

ส่วนประกอบของดินที่สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของพืช

1.  อนินทรีย์วัตถุ เป็นชิ้นส่วนที่สลายตัวทางเคมี ฟิสิกส์และทางชีวเคมีของแร่และหินชนิดต่าง ๆ โดยในดิน 100 ส่วน จะมีอนินทรีย์วัตถุประมาณ 45% โดยปริมาตร

2.  อินทรียวัตถุ เป็นส่วนที่เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพัง สลายตัวของสิ่งมีชีวิต เช่น เศษซากพืช และสัตว์ ในดิน 100 ส่วน จะมีอินทรีย์วัตถุประมาณ 5% โดยปริมาตร

3.  น้ำ น้ำจะอยู่ในช่องว่างของก้อนดินหรือในอนุภาคของดิน ซึ่งในดิน 100 ส่วน จะมีน้ำประมาณ 25% โดยปริมาตร

4.  อากาศ จะอยู่ในช่องว่างของก้อนดิน หรืออนุภาคของดินเช่นกันในดิน 100 ส่วน จะมีอากาศประมาณ 25% โดยปริมาตร เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์

5.  จุลินทรีย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กมาก เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ฯลฯ ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสบายแร่ธาตุในดินอีกทีหนึ่ง เช่น ฟอสเฟต เมื่อจุลินทรีย์ย่อยสลายเศษซากพืชหรือสัตว์ จะเป็นการปล่อยแอมโมเนียม ไนเตรท ซัลเฟต ให้ออกมาเป็นประโยชน์ต่อต้นพืช

แม้จุลินทรีย์จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นตัวที่คอยควบคุมความสมดุลย์ กล่าวคือ การที่ต้นพืชสักต้นจะเจริญงอกงามได้ พืชต้องการธาตุอาหารที่จำเป็นมากมายโดยผ่านไปทางราก เมื่อถึงเวลาอันควรจะมีใบ มีดอก มีผล ร่วงหล่นมาสู่พื้น หากไม่มีจุลินทรีย์ที่จะมาช่วยย่อยสลายให้ผุพังกลับไปเป็นธาตุอาหารคืนสู่ดินแล้ว สิ่งที่ร่วงหล่นนั้นก็จะกองทับถมกันไปเรื่อย ๆ ทว่าดินที่อยู่ชั้นล่างสุดกลับไม่มีความสมบูรณ์เหลืออยู่จุลินทรีย์จึงมีความสำคัญดังนี้เอง

ทว่าในปัจจุบัน มีการใส่สารเคมีที่เป็นอันตรายทางการเกษตรมากมาย สารเคมีเหล่านั้นเป็นตัวที่ทำลายความสมดุลย์ทางระบบนิเวศรวมทั้งจุลินทรีย์ด้วย

กิจกรรมในการปรับปรุงบำรุงดินหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก การคลุมดิน ฯลฯ ล้วนต้องอาศัยจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยสลายทั้งสิ้น การรอจุลินทรีย์ตามธรรมชาติเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่พอเพียง เราจึงเห็นว่ามีผู้ผลิตหลายรายทำเชื้อจุลินทรีย์ออกมาวางจำหน่ายอำนวยความสะดวกให้พร้อมสรรพ

จากข้อมูลของสมาคมเกษตรธรรมชาติ ประเทศเกาหลีที่เขาได้ศึกษาเรื่องการนำจุลินทรีย์มาใช้ในแปลงเกษตรและก็เป็นเจ้าตำรับสูตรการทำเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้นำมานี้กล่าวไว้ว่า การนำเชื้อจุลินทรีย์จากต่างถิ่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตามจะมีผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้นลดลง ส่งผลให้ต้นพืชเกิดความเครียดและเกิดโรคตามมาได้อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการผลิตโดยไม่จำเป็น

ที่ว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็นนั้น ก็เนื่องจากว่าจุลินทรีย์นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติพบมากในบริเวณที่มีเศษใบไม้ร่วงทับถมกันมาก ๆ ส่วนจุลินทรีย์ที่แข็งแรงมักอยู่บริเวณขุยไม้ไผ่ เนื่องจากระบบรากของต้นไผ่มีรสหวาน ซึ่งช่วยดึงดูดจุลินทรีย์ให้มาอาศัย

และหากเราต้องการในปริมาณมาก ๆ เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในการปรับปรุงดิน ก็สามารถทำขึ้นเองได้ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

วิธีทำจุลินทรีย์

1. หุงข้าวขาวให้สุกแต่ให้แข็งกว่าปกติเล็กน้อย(หุงข้าวโดยใช้น้ำน้อย)

2.  นำข้าวไปใส่ในกล่องไม้หรือกล่องพลาสติก ความหนาประมาณ 7 ซม. โดยต้องคอยระวังไม่ให้หนาเกินกว่านี้ และอย่าให้ข้าวเป็นก้นอ

3.  นำกระดาษมาปิดกล่อง แล้วใช้เชือกผูกให้แน่น

4.  จากนั้นนำไปฝังใต้กองใบไม้หรือใต้กอไผ่ แล้วใช้ พลาสติกคลุมทับ เพื่อป้องกันน้ำหรือฝน จากนั้นนำตะแกรงลวดมาปิดทับ ด้านบนของพลาสติกอีกชั้นเพื่อป้องกันหนู ทิ้งไว้ 3 วัน

วิธีเพาะเลี้ยงและขยายเชื้อ

1.  นำข้าวที่มีจุลินทรีย์มาผสมกับน้ำตาลทรายแดง อัตราส่วน 1:1 ใส่ในภาชนะทึบแสง เก็บไว้ในที่เย็นไม่มีแสงส่องถึง เพื่อให้จุลินทรีย์ชะลอการทำงานทิ้งไว้ 3 วัน

2.  จากนั้นนำหัวเชื้อไปผสมน้ำ อัตราส่วน 1:1,000

3.  นำน้ำหัวเชื้อที่ผสมแล้วไปคลุกเคล้ากับรำ ให้มีความชื้นประมาณ 50% คือ กำดูแล้วเป็นก้อนบิแตกง่าย จากนั้นนำฟางมาคลุมให้หนาประมาณ 1 ซม. หมักทิ้งไว้ 7-10 วัน

วิธีการใช้

วิธีการใช้ คือ นำไปหว่านในแปลงเพาะปลูก แล้วหาฟาง มาคลุมไว้ 3 วัน เพื่อให้เชื้อจุลินทรีย์ทำหน้าที่ในการย่อยสลาย หรือจะนำหน้าดินที่ต้องการเพาะปลูกมาผสมกับตัวเชื้อ ในอัตราส่วน 1:1 คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วทิ้งไว้ 3 วัน ก็เป็นอันใช้ได้เช่นกัน