ตะบูนขาว


ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus granatum Koenig
ชื่อวงศ์ MELIACEAE
ชื่ออื่น กระบูน กระบูนขาว ตะบูน (กลาง, ใต้), หยี่เหร่ (ใต้)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 8-20 ม. ไม่ผลัด
ใบ ยอดแผ่กว้าง รูปทรงไม่แน่นอน ลำต้นมักคดงอ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกสีเทาอมขาวน้ำตาลแดง เรียบบาง คล้ายต้นฝรั่งหรือต้นตะแบก รากมีลักษณะแบน แตกสาขามากมายอยู่บนผิวดินและใต้ดิน


ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ใบย่อยเรียงตรงข้าม มี 2 คู่ รูปไข่กลับ กว้าง 4.5-5 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายใบมนโคนใบ สอบเรียว แผ่นใบหนาและเปราะ ขอบใบโค้งลงและเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ 6-9 เส้น ก้านใบสีน้ำตาลสั้น ยาว 0.3-0.5 ซม.
ดอก สีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมยามบ่ายถึงคํ่า ออกรวมเป็นช่อ แบบช่อแยกแขนงตามซอกใบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยมสั้น 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ ดอกบานเต็มที่กว้าง 1-1.2 ซม. เกสรเพศผู้ 8 อัน ออกดอกเดือน มี.ค.-เม.ย.


ผล แห้งแตก ทรงกลมแข็ง สีน้ำตาล ขนาด 15-20 ซม. ก้านผลยาว 3-5 ซม. หนัก 1-2 กก. ซึ่งมีขนาดผลใหญ่ที่สุดในกลุ่มของตะบัน ตะบูนขาวและดำ มีร่องตามยาวตามผล 4 แนว มีเมล็ด รูปร่างเหลี่ยม โค้งปลายแบบประสานเข้าเป็นรูปทรงกลม 4-17 เมล็ดต่อผล สีของผลเหมือนลูกทับทิม ออกผลเดือน มิ.ย.-ก.พ.
นิเวศวิทยา พบปะปนกับไม้หลายประเภท เช่นไม้โปรงแดง ตาตุ่ม และไม้โกงกางใบเล็ก ขึ้นได้ดีในน้ำกร่อย
การใช้ประโยชน์ เปลือกให้น้ำฝาด ใช้ย้อมผ้า
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร เปลือกและผล แก้อหิวาต์ เปลือก และเมล็ดแก้ท้องร่วง แก้บิด และต้มเพื่อชะล้างแผล
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย