ลักษณะทั่วไปของต้นถั่วดำ


ชื่อวิทยาศาสตร์ Bruguiera parviflora (Roxb.) Wight & Arn.ex Griff.
ชื่อวงศ์ RHIZOPHORACEAE
ชื่ออื่น ถั่วทะเล (ระนอง), รังกะแท้ (ใต้) ลังกะโด นังกะได (มลายู-ใต้)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 10-20 ม. พูพอนน้อย ผิวเปลือกบริเวณโคนต้นมีจุดสีขาว ทรงพุ่มแคบกลมเป็นรูปปิรา-มิด สีเขียวอมเหลือง มีรากหายใจเหนือผิวดิน เปลือกต้นสีเทา หรือสีน้ำตาลเข้ม เรียบถึงแตกเป็นเกล็ดมีช่องอากาศเล็กๆ


ใบ ออกกระจุกที่ปลายกิ่ง เรียงตรงข้ามสลับทิศทาง แผ่นใบรูปรี ขนาด กว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม แผ่นใบมีสีเหลืองอมเขียว ลักษณะเกลี้ยงทั้งสองด้าน เส้นใบบางมี 7 คู่ สามารถมองเห็นทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 1.5-2 ซม. หูใบยาว 3-6 ซม. สีเหลืองอมเขียว


ดอก สีเหลืองอมเขียว ออกเป็นช่อกระจุกที่ง่ามใบ ช่อละ 3-7 ดอก ก้านช่อดอกยาว 1.8-2.2 ซม. ก้านดอกย่อยยาว 0.6-1.5 ซม. วงกลีบเลี้ยง เป็นหลอดยาว 0.7-0.9 ซม. สีเหลืองอมเขียว มีสันปลายแยกเป็นแฉก 8 แฉก กลีบดอก 8 กลีบ รูปขอบขนาน ยาว 0.1-0.2 ซม.ขอบกลีบมีขน ปลายกลีบมีขนแข็ง 3 เส้น
ผล ผลแบบงอกตั้งแต่ยังติดอยู่บนต้น รูปทรงกระบอก ยาว 1.3-2.5 ซม. กลีบเลี้ยงหุ้มผลตรงลำต้นใต้ใบเลี้ยง หรือฝักรูปทรงกระบอก เรียงตรง กว้าง 0.3-0.6 ซม. ยาว 8-18 ซม. ผลอ่อนสีเขียว และเปลี่ยน เป็นสีนํ้าตาลเขียว เมื่อแก่ ออกดอกและติดผลเกือบตลอดปี
นิเวศวิทยา พบตามพื้นที่ด้านในของป่าชายเลนที่น้ำท่วมถึงอย่าง สม่ำเสมอ
การใช้ประโยชน์ ไม้ นำมาเผาถ่าน และทำที่อยู่อาศัย
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย