ทุเรียน

(durian)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Durion zibethinus Merr.
ชื่อวงศ์ BOMBACACEAE
ชื่ออื่น เรียน
ถิ่นกำเนิด บอร์เนียวและสุมาตรา
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-12 ม. ขนาดทรงพุ่ม 6-8 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปกรวยเมื่อยังเล็ก โตขึ้นทรงพุ่มกว้าง และค่อนข้างกลม เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาว และหลุดล่อนเป็นแผ่นบางๆ


ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรี กว้าง 4-5 ซม. ยาว 10-15 ซม. ปลายใบติ่งแหลมอ่อน โคนใบมน ขอบใบห่อขึ้นและเรียบเป็นคลื่น แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบด้านล่างสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาว 1.5-2 ซม.


ดอก สีขาวขนาดใหญ่ มีกลิ่นเหม็น ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยก แขนงที่กิ่งที่แยกจากลำต้นหรือบนกิ่งขนาดใหญ่ กระจุกละ 5-10 ดอก ช่อดอกห้อยลงยาว 15-20 ซม. ดอกตูมทรงกลม ก้านดอกหนา กลีบเลี้ยง รูปไข่สีเขียวอมนํ้าตาล 5 กลีบ มีกลีบประดับรูปก้วยรองรับกลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 5-6 กลุ่ม เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 5-7 ซม. ออกดอกเดือน ก.พ.-เม.ย.
ผล ผลแห้งแตกกลางพู รูปไข่หรือทรงกลม กว้าง 15-20 ซม. ยาว 20-30 ซม.เปลือกหนามีหนามแข็งและแหลมอยู่รอบๆ เขียวอมน้ำตาล เมื่อสุกสีน้ำตาลอมเหลืองเนื้อสีเหลืองอ่อนจนถึงเหลืองเข้มห่อหุ้มเมล็ด เมล็ดรูปไข่ สีน้ำตาลอมแดง ขนาดใหญ่หลายเมล็ด ติดผลเดือน มี.ค.-ก.ค. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เสียบยอดหรือทาบกิ่ง
นิเวศวิทยา พบการปลูกเลี้ยงทางภาคใต้และภาคตะวันออก
การใช้ประโยชน์ เนื้อทุเรียนรับประทานอร่อย ทั้งสด ทั้งกวน และทอด ในชนบทบริโภคทุเรียนร่วมกับข้าว เมล็ด เผารับประทาน เถ้าจากเมล็ด ใช้สกัดเอาสารมีฤทธิ์เป็นด่าง เป็นสารให้สีจากพืชเพื่อใช้ย้อมผ้าบาติก น้ำด่างนี้แช่ข้าวเหนียวทำขนมจ่างให้เนื้อขนมใสดี
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร ราก รักษาอาการไข้ โดยดื่มน้ำราก ทุเรียนต้มแล้วเอารากที่ต้มจนเปื่อยยุ่ยถูตามตัว เปลือก ตากแห้งใช้ไล่ตัวเลือด
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย