ธาตุอาหารที่สำคัญของพืชตระกูลถั่ว

อาการผิดปกติเนื่องมาจากการขาดหรือ มีธาตุอาหารบางชนิดมากเกินไป (defi­ciency or excess of minerals)

ก. ธาตุแมงกานีส (Mn)

ถั่วเป็นพืชที่มีการตอบสนองที่ค่อนข้างไว คือธาตุแมงกานีส ทั้งในกรณีที่ขาดและมีมากเกินไป โดยเฉพาะถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วดำ ถั่วกระด้าง และถั่วเหลือง

อาการ

อาการที่พืชพวกถั่วแสดงออกในกรณีที่ขาดหรือได้รับธาตุแมงกานีสไม่เพียงพอจะปรากฏให้เห็นที่ใบบริเวณ ยอดหรือส่วนของต้นที่อ่อนก่อน โดยใบเหล่านี้จะแสดงอาการออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น เป็นแผลจุดละเอียดสีเทา (gray speck) หรือสีเหลือง แผลเป็นแอ่ง หรือเกิดอาการใบด่างลายสีเหลืองสลับเขียวระหว่างเนื้อใบและเส้นใบ อาการผิดปกติเหล่านี้มักจะปรากฏให้เห็นเมื่อถั่วมีอายุเจริญเติบโตอยู่ในช่วง 4-6 อาทิตย์ ใบที่แสดงอาการดังกล่าวต่อมาจะค่อยๆ ซีดเหลือง ทั้งใบ แล้วเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล บางครั้งอาจมีอาการขอบใบม้วนขึ้นบนติดตามมา ในกรณีที่การขาดเป็นไปอย่างรุนแรง ใบจะแห้งตายทั้งใบ แล้วร่วงหลุดจากต้น ส่วนยอดหรือปลาย และตาจะแห้งตายในลักษณะ die-back ต้นถั่วที่แสดงอาการขาด Mn มักจะไม่มีการสร้างฝักหรือมีฝักแต่ภายในไม่มีเมล็ด อย่างไรก็ดี หากการขาดเกิดขึ้นภายหลังหรือในระยะที่ติดฝัก และสร้างเมล็ดแล้วอาการจะไปแสดงออกที่เมล็ดถั่วภายในฝัก โดยจะเกิดแผลขึ้นที่เมล็ด ลักษณะเป็นแผลยุบตัวลงสีน้ำตาลเข้มหรือดำอยู่ทั่วไปเรียกว่า marsh spot นอกจากแสดงอาการดังกล่าวเหล่านี้แล้วต้นถั่วที่ขาด Mn มักจะชะงักหยุดการเจริญเติบโต

อย่างไรก็ดี ความต้องการ Mn ในพืชนับว่าอยู่ในปริมาณที่น้อยมากเนื่องจากเป็นธาตุที่จัดอยู่ในประเภทธาตุอาหารรองจากการที่ได้มีผู้ทำการศึกษาทดลอง พบว่า Mn เพียง 0.2 ส่วนในล้าน (0.2 ppm.) ก็เพียงพอสำหรับพืชเพื่อการเจริญเติบโตปกติและจะเป็นอันตรายหากปริมาณที่ได้รับสูงขึ้นไปถึง 20 ส่วนในล้าน (20 ppm.) โดยจะก่อให้เกิดอาการในลักษณะเดียวกันกับที่ขาด

สำหรับปริมาณ Mn ที่มีอยู่ในส่วนประกอบของถั่วนั้นพบว่า ถั่ว bean เช่น ถั่วแขก ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง มีปริมาณ Mn เป็นส่วนประกอบราว 39 – 40 ppm. ในขณะที่ถั่ว pea เช่น ถั่วลันเตา ถั่วพอดพีมี Mn อยู่ราว 15.7 ppm.

ปกติแล้วอาการขาด Mn ในพืชทั่วๆ ไปมักจะพบน้อย เนื่องจากในดินธรรมดามักจะมี Mn อยู่ในปริมาณที่พอเพียงต่อความต้องการของพืชนอกจากดินที่มีฤทธิ์เป็นด่างที่มี pH เกินกว่า 6.5 ขึ้นไป หรือดินที่มีอินทรีย์วัตถุสูง

การแก้หรือการป้องกันการขาด Mn

1. แก้ความเป็นด่างของดินปลูกโดยการใส่สาร หรือปุ๋ยที่อาจก่อให้เกิดหรือชักนำให้เกิดกรดลงในดินที่เป็นด่างโดยเฉพาะดินแปลงเพาะกล้า เช่น แมงกานีสซัลเฟต แอมโมเนียมซัลเฟต หรือผงกำมะถัน โดย MnSO4 หรือ (NH4)SO4 ใช้ในปริมาณตั้งแต่ 10-40 กก. ต่อไร่ ส่วนกำมะถันใช้ 20-40 กก. ต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่า pH ของดินสูงมากหรือน้อยเพียงไร

2. ใช้ Mn SO4 หรือ (NH4)2SO4 ผสมนํ้าฉีดพ่น ให้กับพืชที่ขาดโดยตรง โดยใช้ในอัตราส่วน 100 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ทำการฉีดทันทีที่พืซแสดงอาการ และฉีดซ้ำต่อมาทุกๆ 10 วัน จนกว่าจะหาย

ในกรณีที่พืชได้รับ Mn มากเกินไปจนเป็นอันตรายซึ่งมักจะพบในดินกรด ก็ให้แก้ความเป็นกรดของดินให้เป็นกลาง หรือด่างเล็กน้อย โดยการเติมปูนขาวหรือปูนมาลลงไป และระวังเรื่องการใช้ปุ๋ยพวกแอมโมเนีย หรือแมงกานีสซัลเฟต เพื่อป้องกันไม่ให้ดินเป็นกรดมากขึ้น

ข. ธาตุโมลิบดีนัม (Mo)

โมลิบดีนัมจัดเป็นธาตุสำคัญอีกชนิดหนึ่งในพืชพวกถั่วนอกเหนือจาก Mn ที่กล่าวไปแล้ว ต่างกันตรงที่ Mo มักจะพบว่าขาดในถั่วที่ปลูกในดินที่เป็นกรดจัด (pH4.2 – 5.0)

อาการ

ลักษณะอาการที่ถั่วแสดงออกเมื่อขาดธาตุโมลิบดีนัม จะปรากฏให้เห็นที่ใบเช่นกัน โดยเริ่มจากการยุบสลายตัวลงของเนื้อเยื่อระหว่างเส้นใบใหญ่ บริเวณขอบใบ มีการเปลี่ยนสีของเนื้อใบจากเขียวปกติกลายเป็นเขียวปนนํ้าตาลแล้วเหลืองปนนํ้าตาลในที่สุด ใบพวกนี้มักจะไม่สมบูรณ์ ส่วนเนื้อใบที่แสดงอาการจะบางผิดปกติทำให้เกิดอาการขาดหลุดหรือแหว่งขึ้นกับว่าเป็นเนื้อใบบริเวณขอบหรือริมใบ ทำให้ไบมีขนาดเล็กลง ส่วนของเนื้อใบที่เหลือง ด้านในอาจหดย่นหรือเป็นคลื่นใบพวกนี้ในที่สุดจะหลุดร่วงออกจากต้น ต้นถั่วที่แสดงอาการขาด Mo รุนแรงจะไม่ให้ฝัก แต่ถ้าไม่รุนแรงนักก็อาจจะมีฝักได้เช่นต้นปกติ

โมลิบดีนัมก็เช่นเดียวกับแมงกานีสคือเป็นธาตุอาหารรอง พืชต้องการเพื่อการเจริญเติบโตในปริมาณเพียงเล็กน้อยในดินปกติธรรมดาทั่วๆ ไปมักจะมีเพียงพอ ส่วนใหญ่มักจะขาด ในดินที่เป็นกรดจัดดังได้กล่าวแล้ว เพราะ Mo ที่มีอยู่จะอยู่ในรูปที่ไม่ละลายน้ำ พืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ พืชจะใช้ Mo ได้ดีในดินที่เป็นกลาง หรือดินที่เป็นกรดและด่างอ่อนๆ เท่านั้น

การแก้การขาดโมลิบดีนัม

หลีกเลี่ยงการปลูกพืชพวกถั่วในดินที่เป็นกรด แต่หากไม่สามารถเลี่ยงได้ก็ให้แก้การเป็นกรดของดินด้วยการเติมปูนขาวหรือปูนมาร์ลลงในดิน แล้วตรวจวัด pH ขยกระทั่งเป็นกลางหรือด่างอ่อนๆ ในกรณีที่พืชที่ปลูกแล้วแสดงอาการขาดให้เห็น ภายหลังก็ให้ฉีดพ่นด้วยแอมโมเนียม หรือโซเดียมโมลิบเดท ละลายนํ้าให้กับต้นพืชโดยตรงก็จะช่วยแก้การขาดได้