น้ำตาลมะพร้าว

ดอกมะพร้าว

มะพร้าว

ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ มะปาว พร้าว มะแพร้ว หมากพร้าว หมากอูน หมากอุ๋น

ชื่ออังกฤษ Coconut

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cocos nucifera Linn.

วงศ์ Palmae

ส่วนที่ใช้ ช่อดอก

สารสำคัญ ในช่อดอกมีน้ำตาลซูโครสเป็นส่วนใหญ่

มะพร้าวเป็นพืชจำพวกปาล์ม เป็นพืชในวงศ์เดียวกับหมากและ ตาล เป็นพืชที่มีลำต้นกลม ตรง สูงได้ถึง 30 เมตร ใบเป็นใบประกอบขนาดใหญ่เรียก ‘ทาง’ ประกอบด้วยใบย่อยจำนวนมาก ใบอยู่รวมกันบริเวณปลายยอด ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ มีกาบหรือใบประดับหุ้มอยู่มิด เมื่อดอกจะบานกาบนี้จะหลุดออก ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในก้านช่อดอกย่อยอันเดียวกัน ดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า มีจำนวนน้อย และอยู่ตอนโคนก้าน ดอกย่อย ส่วนดอกตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าและมีจำนวนมากกว่าดอกตัวเมีย ดอกตัวผู้จะอยู่ต่อจากดอกตัวเมียไปทางปลายของก้านช่อดอกย่อย ดอกมีสีเหสืองอมขาว เมื่อดอกตัวผู้บานจะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ช่อดอกมะพร้าวเรียกว่า ‘งวง’ หรือ ‘จั่น’ เมื่อติดผลเรียกว่า ‘ทะลาย’ ผลมีขนาดใหญ่ รูปเกือบกลม เมื่ออ่อนเปลือกผลมีสีเขียว ผลมะพร้าวแก่แต่ยังไม่แก่จัดเรียกว่า มะพร้าวทึนทึก เปลือกผลจะมีสีเขียวอมน้ำตาล เนื้อในแข็ง กะลามีสีเนื้อแก่ ส่วนมะพร้าวที่แก่จัดเรียกว่า มะพร้าวห้าว ผิวของผลจะเป็นสีนํ้าตาลและแข็ง กะลามีสีนํ้าตาลดำ

น้ำตาลมะพร้าว

วิธีทำน้ำตาลจากมะพร้าว

วิธีที่ชาวสวนใช้ทำนํ้าตาลจากจั่น หรืองวงมะพร้าวทำได้ดังนี้

ใช้จั่นที่มีอายุตั้งแต่ 45 วัน โน้มลงมาแล้วปาดเพื่อรองนํ้าตาลสดโดยทำตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1. ใช้ควันรมภาชนะที่ใช้รองรับ ซึ่งอาจจะเป็นกระบอกไม้ไผ่ หรือกระป๋องอลูมิเนียมก็ได้ รมภาชนะให้แห้งสนิททุกครั้งเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียซึ่งจะเป็นต้นเหตุให้นํ้าตาลบูด

2. ใส่ไม้ที่มีรสฝาด (บางทีเรียกไม้เชื้อ) ไม้พวกนี้ได้แก่ เนื้อไม้ หรือเปลือกไม้เคี่ยม (Cotylelobium melanoxylon Pierre) ไม้ตะเคียนทอง (Hoped odornta Roxb.) หรือไม้พยอม (Shored floribunda Kurz) ลงไป 2-3 ชิ้นที่ก้นภาชนะ เนื่องจากในไม้พวกนี้มีสารพวกโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย เป็นการยับยั้งการสลายตัวของน้ำตาลสดได้บ้าง

3. นำภาชนะที่เตรียมได้ไปแขวนที่จั่นมะพร้าวโดยเอาสวมเข้า ตรงปลายจั่น ใช้เชือกผูกให้แน่น ใช้มีดที่คมและสะอาดปาดจั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ ทำให้จั่นเป็นแผล ตัดใหม่อยู่เสมอทุกๆ ครั้งที่เปลี่ยนภาชนะรองรับ เก็บนํ้าตาลสดเวลาเช้าและบ่าย โดยถ้าปาดรองตอนเช้าก็เก็บตอนบ่าย ถ้าปาดตอนบ่ายก็เก็บตอนเช้า

4. กรองนํ้าตาลสดด้วยผ้าหรือใช้ผ้าขี้ริ้วมะพร้าวจากคอมะพร้าวก็ได้ เมื่อกรองแล้วเทนํ้าตาลลงกะทะเหล็ก เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ เมื่อนํ้าตาลเริ่มเดือดจะมีฟองลอยขึ้นมาเป็นฝา ช้อนฟองทิ้ง ถ้าเดือดมากฟองอาจล้นกะทะซึ่งอาจป้องกันได้โดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นกระบุงไม่มีก้นวางบนปากกะทะเพื่อให้ฟองไต่ขึ้นไปแล้วสลายตัวไหลกลับลงมา

5. ถ้าต้องการให้นํ้าตาลขาว ในขณะที่เคี่ยวให้ใส่ผงฟอกสีลงไป ประมาณ 1-2 กรัม

6. เมื่อเคี่ยวจนนํ้าตาลงวดมากแล้ว เอากระบุงที่ครอบปากกะทะออก เคี่ยวต่อจนกระทั่งได้ที่ดีแล้วจึงยกกะทะขึ้นจากไฟ เอาไม้ตีนกาจุ่มลงในนํ้าตาลขณะร้อนๆ และชักเชือกที่ติดกับด้ามให้หมุนไปมาเพื่อให้นํ้าตาลเย็นลง และแข็งตัวโดยไม่เป็นยางเหนียว ถ้าทำในฤดูหนาวใช้เวลาปั่นประมาณครึ่งชั่วโมง ในฤดูร้อนนํ้าตาลจะเหนียวมาก ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง นำนํ้าตาลที่ได้ไปใส่ภาชนะเช่น ปีบ นํ้าตาลนั้นก็จะเรียกว่านํ้าตาลปีบ หรือหากเอานํ้าตาลไปหยอดหลุมจะได้เป็นนํ้าตาลปีก เป็นต้น

ประโยชน์

นํ้าตาลมะพร้าวส่วนใหญ่นิยมใช้ประกอบอาหาร เพราะมีรสหอมหวานปนมันซึ่งผิดกับนํ้าตาลโตนด