บัวสวรรค์

บัวสวรรค์

วงศ์ซินจิเบอร์เรซีอี (ZINGIBERACEAE)

พืชวงศ์นี้มีประมาณ 49 สกุล 1,300 ชนิด พบกระจายทั่วไปในเขตร้อนของโลก เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นใต้ดินที่แตกสาขา อาจพบลำต้นเหนือดินแต่มักมีขนาดเล็กสั้น ใบเดี่ยวเจริญจากลำต้นใต้ดิน โคนใบแผ่ออกเป็นกาบ ดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ กลีบแบ่งเป็นสองชั้น กลีบชั้นนอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบชั้นใน 3 กลีบ มักจะเชื่อมติดกันและแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนล่างมักมีขนาดใหญ่กว่า ส่วนของดอกทั้งหมดมีใบประดับซึ่งมีลักษณะเป็นกาบรองรับ เกสรตัวผู้ 1 อัน และมักพบเกสรตัวผู้ที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างไปคล้ายกลีบดอก เกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่อยู่ใต้ชั้นต่างๆ ของดอก ผลมีเนื้อหรือแห้งและไม่แตก เมล็ดมักมีเยื่อหุ้ม พืชที่รู้จักกันดีในประเทศไทย คือ ขิง (Zingiber officinale Roscoe) ข่า (Languas galanga (Linn.) Stuntz) และมหาหงส์ (Hedychium coronarium Roem.)

Curcuma alismatifolia Gagnep.

บัวสวรรค์ บัวบก

บัวสวรรค์เป็นไม้ล้มลุก ก้านใบและใบรวมกันยาวประมาณ 30-40 ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อตั้ง จุดเด่นของดอกอยู่ที่ใบประดับ ใบประดับของดอกด้านล่างสีเขียวอมชมพูคล้ายกลีบบัวหลวง (Nelumbo nucifera Gaertn.) ด้านบนมีขนาดใหญ่กว่ามีสีชมพูสด ดอกมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีขาว แต่กลีบด้านล่างสุดสีม่วง ตรงกลางกลีบบริเวณโคนสีขาวประเหลือง ดอกบานราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม