บัว…พืชเป็นยาและอาหาร

ภูมิปัญญาไทย พญ.เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ

ขึ้นชื่อเรื่องไว้ว่า บัวพืชเป็นยาและอาหาร เพราะจะกล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของบัวที่นำสรรถคุณมาใช้ในยาไทยหลายตำรับ และอาหารที่ทำจากบัว จากการศึกษาค้นคว้าเรื่องบัวพบว่า ส่วนต่าง ๆ ของบัวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายและมีสรรพคุณเป็นยานำมารักษาโรคและอาการต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะบัวหลวงมีสรรพคุณนำมาใช้ตามตำรายาไทย ได้แก่

–         ใบบัวอ่อน มีรสฝาดเปรี้ยว ช่วยบำรุงร่างกายให้ชุ่มชื่น

–         ใบบัวแก่ รสฝาดเปรี้ยวเมาเล็กน้อย ช่วยแก้ไข้ บำรุงโลหิต สูดกลิ่นแก้ริดสีดวงจมูก/ใช้ใบแก่ รับประทานจะช่วยให้มีลมเบ่งในการคลอดบุตร/หรือนำใบมาดื่มติดต่อกันสัก 20 วัน จะช่วยลดความดันโลหิตและลดไขมันในเส้นเลือดลงได้

–         ดอกบัว รสฝาดหอม สรรพคุณบำรุงครรภ์ ช่วยให้คลอดลูกง่าย แก้ไข้รากสาด และไข้ที่มีพิษร้อน แก้เสมหะและโลหิต บำรุงหัวใจ ใช้ดอกบัวสีขาวสดต้มดื่มติดต่อกันหลายวัน จะช่วยให้หายอ่อนเพลีย สดชื่นลดอาการใจสั่น

–         เกสร รสฝาดหอมเย็น(เกสรตัวผู้ มีรสฝาดสมาน มีกลิ่นหอม) ใช้แก้ไข้รากสาด แก้เสมหะ แก้อ่อนเพลีย แก้คลื่นเหียนอาเจียน ใช้เป็นยาบำรุงครรภ์ ส่วนเกสรตัวผู้ใช้ปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท

–         เปลือกฝัก รสฝาดหอม ใช้แก้ท้องเดิน สมานแผลในมดลูก

–         ฝักบัว มีรสฝาดหอม แก้ท้องเสีย แก้พิษเห็ดเมา ช่วยขับรกของสตรีคลอดบุตรให้ออกเร็วยิ่งขึ้น

–         เปลือกหุ้มเมล็ด รสฝาด แก้ท้องร่วง สมานแผล

–         เมล็ด รสหวานมัน เย็น ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงไขข้อ บำรุงประสาท เส้นเอ็น ช่วยให้กระชุ่มกระชวย แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง แก้ดีพิการ แก้อาเจียน แก้อ่อนเพลีย ช่วยเพิ่มพลังงาน และไขมันในร่างกาย(ผู้ป่วยที่ไอมีเสมหะไม่ควรใช้)

–         ดีบัว รสขม ช่วยขยายหลอดเลือดหัวใจ แก้กระหายน้ำ

–         ก้านดอก รสเย็นเมา ใช้ตากแห้ง สูดแก้ริดสีดวงจมูก

–         ก้านใบ มีฤทธิ์เป็นยาห้ามเลือด

–         รากบัว ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงเพลิงธาตุ แก้เสมหะ แก้กระหาย ต้มเป็นกระสายแก้ร้อน แก้อ่อนเพลีย แก้อาเจียน แก้พุพอง ละลายยาแก้สะอึก

–         เหง้าบัว รสหวานเย็นมัน บำรุงกำลัง แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ แก้พุพอง แก้ดีพิการ แก้อาเจียน ใช้เหง้าบัวต้มน้ำดื่ม แก้อาการไอ ขับเสมหะ ลดอาการอ่อนเพลีย ระงับอาการท้องร่วง ธาตุไม่ปกติในเด็ก

–         ทั้งต้น ให้ถอนพิษจากการรับประทานเห็ดพิษ และพิษจากการดื่มสุราเรื้อรัง โดยใช้ทั้งต้นขนาด 10-15 กรัม นำไปต้มดื่ม

นอกจากเฉพาะส่วนต่าง ๆ ของบัวหลวงที่กล่าวมาแล้วบัวอื่น ๆ ก็มีประโยชน์ทางยาอยู่เหมือนกัน แต่ไม่มากเท่าบัวหลวง และนอกจากจะนำมาใช้แบบเดี่ยว ๆ ในแต่ละส่วนแล้ว บัวยังนำไปใช้เข้ายาร่วมกับยาอื่น ๆ เป็นยาตำรับอีกด้วย ที่พบก็ได้แก่

พิกัดเกสรทั้ง 5 เกสรทั้ง 7 เกสรทั้ง 9

เกสรทั้ง 5 หมายถึง  เกสรบัวหลวง ดอกมะลิ ดอกพิกุล บุนนาค สารภี

เกสรทั้ง 7 หมายถึง  เกสรบัวหลวง ดอกมะลิ ดอกพิกุล บุนนาค สารภี ดอกกระดังงา ดอกจำปา

เกสรทั้ง 9 หมายถึง  เกสรบัวหลวง ดอกมะลิ ดอกพิกุล บุนนาค สารภี ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกลำเจียก ดอกลำดวน

ตัวยาทั้งหมดมีรสหอมเย็น มีสรรพคุณรวมในการช่วยบำรุงหัวใจ ใช้ปรุงประกอบในยาหอม จะช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อ่อนเพลีย ช่วยเจริญอาหาร

พิกัดบัวทั้ง 5 หมายถึง  บัวสัตตบุษย์  บัวสัตตบรรณ บัวลินจง บัวจงกลนี และบัวนิลุบล

พิกัดบัวทั้ง 5 จะมีรสฝาดหอมเย็น สรรพคุณรวมเป็นยาบำรุงหัวใจ ช่วยชูกำลัง แก้ลมพานไส้ แก้อุจจาระธาตุ แก้ไข้เพื่อลมและโลหิต แก้ไข้รากสาด

พิกัดบัวพิเศษ 6 อย่าง ประกอบด้วย บัวหลวงแดง บัวหลวงขาว บัวสัตตบงกชแดง บัวสัตตบงกชขาว บัวเผื่อน และบัวขม

พิกัดบัวทั้ง 6 นี้ มีรสฝาดเย็น สรรพคุณรวมกันในการชูกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ลมพานไส้ แก้อุจจาระธาตุ แก้ไข้ แก้โลหิต แก้ไข้รากสาด แก้ไข้อันบังเกิดเพื่อธาตุทั้ง 4(ดิน น้ำ ลม ไฟ) แก้เสมหะ และโลหิต แก้ร้อนในกระหายน้ำ

จะเห็นว่าบัวนำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้มากมาย และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย นอกจากความสำคัญทางด้านยาแล้ว บัวยังนำมาประกอบอาหารและใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้หลายอย่าง เช่น

–         อาหารคาว ได้แก่  แกงสายบัว ผัดสายบัว แกงส้มสายบัว

–         อาหารหวาน ได้แก่  ขนมหม้อแกง เต้าทึง ขนมสายบัว

–         ใบบัว นำมาห่อข้าวใช้แทนใบตอง

นอกจากนี้บัวยังเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา ถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ เป็นตัวแทนแห่งความบริสุทธิ์และความเบิกบาน มีคำสอนเกี่ยวกับดอกบัว เช่น

–         อย่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หมายถึง  อย่าเห็นความชั่วร้ายเป็นความดี

–         บัวสี่เหล่า คือ  การเปรียบเทียบสติปัญญาของคนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ บัวพ้นน้ำ บัวปริ่มน้ำ บัวใต้น้ำ บัวใต้ตม

–         หรือในคำสวดมนต์ได้กล่าวไว้ว่า “หนึ่งในพระทัยท่าน ก็เบิกบานคือดอกบัว…” เป็นต้น

–         หรือเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติก็สามารถเดินได้ 7 ก้าว แต่ละก้าวก็จะมีดอกบัวมารองรับพระบาทไว้ จึงพบว่าดอกบัวอยู่คู่กับศาสนาพุทธมาช้านาน

ถ้าท่านมีโอกาสหรือสนใจศึกษาเรื่องบัวแล้วจะพบว่าบัวเป็นพืชที่มีประโยชน์มากมายหลายอย่าง หรือใช้เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายแสดงความดี ใช้เป็นคำสอนเปรียบเทียบก็ไม่ใช่น้อย แต่สรุปแล้วคือว่าดอกบัวให้คุณมากกว่าให้โทษ และทุกวันนี้ก็หาดอกบัวทำยากันยากมากขึ้น ซึ่งก็น่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำนาบัวกันเพิ่มขึ้น แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นนาบัวที่ไม่ใช้สารเคมี เพราะไม่เช่นนั้นแล้วทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคเองก็ต้องตายมากกว่าจะได้ใช้ประโยชน์จากบัวแน่นอน