ประโยชน์จากต้นแก้ว

(Orange Jessamine)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Murraya paniculata (L.) Jack
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ชื่ออื่น แก้วขาว แก้วขี้ไก่ แก้วพริก แก้วลาย ตะไหลแก้ว
ถิ่นกำเนิด จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 3-10 ม. ขนาดทรงพุ่ม 3-5 ม. ไม่ผลัดใบ ทรงพุ่มรูปไข่แน่นทึบ เปลือกต้น สีขาวเทาแตกเป็นร่องตามแนวยาว
ใบ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบ ยาว 7-15 ซม. ใบย่อย 5-9 ใบ เรียงสลับ รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2-7 ซม. ปลายใบแหลมโคนใบแหลมและเบี้ยวขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักมนตื้นๆ แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว สีเขียวสด เป็นมัน ใบมีต่อมน้ำมัน


ดอก สีขาว มีกลิ่นหอมมาก ออกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นที่ซอกใบ ใกล้ปลายกิ่งและปลายกิ่ง ช่อดอกตั้งยาว 5-10 ซม. ดอกย่อย 3-7 ดอก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ปลายมนและม้วนพับไปข้างหลัง เกสรเพศผู้ 10 อัน
สั้น 5 อัน ยาว 5 อัน เรียงสลับ เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 2.5-3 ซม.
ผล ผลสดแบบมีเนื้อ รูปไข่ กว้าง 0.5-0.8 ซม. ยาว 1-1.5 ซม. ปลายแหลม สีเขียว มองเห็นต่อมน้ำมันชัดเจน เมื่อสุกเป็นสีแดงอมส้ม เมล็ดมีขนหนาและเหนียวห่อหุ้ม เมล็ดรูปไข่ 1-2 เมล็ดต่อผล ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง ติดดอกออกผลตลอดปี
นิเวศวิทยา พบทั่วทุกภาคของไทย ขึ้นอยู่ตามป่าดิบแล้ง
การใช้ประโยชน์ ต้นทรงพุ่มหนา และดอกมีกลิ่นหอม เป็นไม้ประดับตามบ้านได้ ช่วยให้เกิดความร่มรื่นและสวยงาม
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรใบ รสร้อนเผ็ดขม ขับโลหิตระดูสตรี บำรุงธาตุ แก้จุกเสียด แน่นท้องขับผายลม ใบสด ตำปั้นใส่ทวารหนัก ประมาณ 5 นาที ตัวจะร้อนเหมือนเป็นไข้ ราก รสเผ็ดขมสุขุม แก้ปวด สะเอว แก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น แก้ฝีฝักบัวที่เต้านม ฝีในมดลูก แก้แผลคัน แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
หมายเหตุ ต้นไม้ประจำจังหวัดสระแก้ว
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย