ปลาสวาย:กินปลาสวายจะได้โอเมก้า3ชั้นดี

กินปลาเยอะๆ แล้วจะฉลาด เพราะเนื้อปลาจะมีโอเมก้า3 ช่วยในการบำรุงสมอง ความคิดนี้เป็นความคิดที่ถูกต้องและดีแต่จะต้องเลือกกินปลาชนิดใดที่จะมีกรดไขมันโอเมก้า3 ตามที่ต้องการ ซึ่งความคิดแบบเดิมๆ ก็คือ ปลาทะเลแต่ในปัจจุบันนี้สามารถทิ้งความคิดนั้นไปได้เลยเพราะตอนนี้ปลาน้ำจืดของไทยโดยเฉพาะปลาสวาย กลายเป็นปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า3 สูงไม่แพ้กับปลาทะเล

ดร.นันทิยา  อุ่นประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ เพราะเนื้อปลามีไขมันน้อยเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแถมยังมีแร่ธาตุสำคัญที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายมากมาย ปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศหันมาบริโภคปลากันมากขึ้นเนื่องจากทราบว่าในเนื้อปลามีกรดไขมันโอเมก้า3 ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคก็จะมักนิยมทานปลาทะเลมากกว่าปลาน้ำจืด เพราะคิดว่ากรดไขมันโอเมก้า3 จะมีเฉพาะปลาทะเลเท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วปลาน้ำจืดบ้านเราก็มีกรดไขมันโอเมก้า3ที่สำคัญคือมีสาร DHA ที่จะมีอยู่ในกรดไขมันโอเมก้า3 ซึ่งจะช่วยในการบำรุงสมอง สายตา และช่วยลดคอเลสเตอรอลและสารไตรกลีเซอไรด์ซึ่งถ้าได้รับในปริมาณสูงจะก่อให้เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตัว ระบบประสาททำงานผิดปกติ ฯลฯ สำหรับปลาน้ำจืดของไทยที่มีโอเมก้า3สูงนั่นเป็นเพราะนักวิชาการด้านการประมงของไทยได้มีการสร้างสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงให้มีไขมันปลาทะเลเป็นส่วนประกอบ จึงทำให้ปลาน้ำจืดทุกชนิดที่เลี้ยงด้วยอาหารสูตรเหล่านี้มีปริมาณโอเมก้า 3 เพียงพอที่จะเป็นแหล่งไขมันจำเป็นได้ตัวอย่างปลาน้ำจืดที่คุณภาพสารอาหารสูงพอๆ กับปลาทะเล แต่ราคาถูกกว่า

และเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเนื้อปลาสวาย วิธีการเลี้ยงและสูตรอาหารจึงกลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ทางกรมประมงบอกมาว่าจากที่ปลาสวายมีสารอาหารไม่แตกต่างกับปลาทะเลอีกทั้งยังเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว และมีปริมาณไขมันในเนื้อสูง หากได้รับสารอาหารที่เหมาะสมก็จะสามารถสะสมกรดไขมันที่เป็นประโยชน์ได้เหมือนปลาทะเลซึ่งมีคุณภาพดีไม่แตกต่างจากปลาสวายเวียดนาม(ดอลลี่) ปลาแซลมอน ปลาแม็คเคอเรล ฯลฯ เป็นต้น

เพียงแต่ปลาสวายของไทยในประเทศมีราคาขายตามท้องตลาดถูก ทำให้ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องลดต้นทุนในการผลิตบวกกับเกษตรกรผู้เลี้ยงบางรายไม่ทราบถึงขั้นตอนการเลี้ยงที่ถูกวิธี ส่งผลให้ปลาสวายที่ได้มีกลิ่นโคลน กลิ่นคาว และมันเยอะ ปลาสวายจึงไม่ได้รับความนิยมในประเทศไทยเท่าที่ควร ทางกรมประมงจึงได้ทำการศึกษาวิจัยการใช้อาหาร 3 ชนิด ในการเลี้ยงปลาสวายในกระชังและบ่อดินขึ้น โดยงานวิจัยนี้จะเน้นที่การเจริญเติบโตของตัวปลา คุณภาพของเนื้อปลาตั้งแต่รสชาติ สี กลิ่น และองค์ประกอบของกรดไขมันในเนื้อปลาโดยหวังว่าผลงานวิจัยนี้จะเป็นแนวทางในการลดต้นทุนและช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับประทานเนื้อปลาคุณภาพที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย

นางพิศมัย  สมสืบ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการผลิตอาหารสัตว์น้ำจืดและคณะ กล่าวถึงผลงานการวิจัยว่า ทางคณะผู้วิจัยได้จัดทำอาหารเพื่อทดลองเลี้ยงปลาสวาย 3 สูตรด้วยกันคือ สูตรที่ 1 โปรตีน 25℅ น้ำมันปลาทะเล 0.5℅ สูตรที่ 2 โปรตีน 30℅ น้ำมันปลาทะเล 0.5℅ และสูตรที่ 3 โปรตีน 30℅ น้ำมันปลาทะเล 3.0℅ ในการศึกษาวิจัยแบ่งเป็น 2 การทดลอง คือ

1.  ทดลองเลี้ยงปลาสวาย 80 ตัวในบ่อดินขนาด 80 ตร.ม. ระดับน้ำ 0.8 ม. เสริมฟางและมูลไก่แห้งประมาณ 20 กก./บ่อ/เดือน

2.  ทดลองเลี้ยงปลาสวาย 60 ตัว ในกระชังขนาด 1x2x1 ม. ระดับน้ำ 0.8 ม. ใช้ระบบน้ำไหลผ่าน โดยวิธีการทดลองจะนำปลาสวายที่มีน้ำหนักตัวเริ่มต้นเฉลี่ยประมาณ 270 กรัมให้อาหารจนอิ่มวันละ 2 ครั้งเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งผลการวิจัยพบว่าอาหารทั้ง 3 สูตรเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาสวายทั้งด้านเนื้อสัมผัส กลิ่น สีและรสชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสีของเนื้อปลาสวายจะเป็นสีชมพูไม่เหลืองเหมือนที่ขายทั่วไปตามท้องตลาดในด้านน้ำหนักตัวปลาสวายที่เลี้ยงในกระชังมีน้ำหนักตัวเพิ่ม 4.21 ก.ต่อวัน ซึ่งน้ำหนักตัวน้อยกว่าปลาในบ่อดินที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 6.54 ก.ต่อวัน การทดลองนี้ปลาสวายที่ได้จะมีปริมาณกรดไขมันในเนื้อสูง โดยเฉพาะปลาสวายชุดที่ได้รับอาหารสูตร 3 ในบ่อดินมีปริมาณกรดไขมัน DHA สูง ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ผู้บริโภค

ผลงานวิจัยดังกล่าวถือเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพและถือเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้สูงขึ้นผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาการผลิตอาหารสัตว์น้ำจืด สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง โทร.0-2579-8033 หรือ 0-2940-6130-45 ต่อ 4501 ในวันและเวลาราชการ