ผลการทดลองเลี้ยงแมลงดานาที่ปราจีนฯ

ผลการทดลองเลี้ยงแมลงดานาที่ปราจีนฯ

เอกชัย  พฤกษ์อำไพ

นักวิชาการ

สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรปราการ

ถ้ามีข่าวเกี่ยวกับตำรวจกองปราบยกกำลัง  เข้าทะลายซ่องครั้งใด ผู้ต้องหาก็เห็นจะหนีไม่พ้น พ่อเล้า แม่เล้า โสเภณี และแมงดา  แต่แมงดาที่คุมซ่องนั้น  เป็นคนละพันธุ์กับแมงดาทะเลและแมลงดานา  เพราะเป็นแมงที่หากินอยู่แต่ในซ่อง หรือ สถานที่ที่ค้าประเวณีโดยเฉพาะ

สำหรับเหตุผลที่คนโบราณท่านเปรียบเทียบมนุษย์ผู้ชายที่ทำมาหากินบนความทุกข์ยากลำบากและคราบน้ำตาของผู้หญิงสาว ๆ ว่าแมงดาก็เพราะทำตัวเหมือนแมงดาทะเล  ตัวผู้ที่คอยแต่จะเกาะหลังตัวเมียลูกเดียว แต่ภายหลังทำไมจึงเกิดเพี้ยน  กลายเป็นแมงดาปีกทองฝังเพชรไปได้อย่างไรก็ไม่รู้  ถ้าไม่คิดก็ไม่แปลก  แต่ถ้าคิดแล้วยิ่งแปลกเพราะเกิดสัตว์ประหลาดขึ้นมาใหม่อีกพันธุ์คือจะเป็นแมงดาทะเลก็ไม่ใช่ เพราะนอกจากจะมีกระดองแล้วยังมีปีกบินได้เสียอีก  จะเป็นแมลงดานาก็ไม่เชิง  เพราะแมลงดานารูปร่างหน้าตาเป็นแมลงถึงจะมีปีกก็จริงแต่ไม่มีกระดอง และอาศัยอยู่ในน้ำจืดแสดงว่าคนที่ต่อปีกต่อหางให้แมงดาในซ่องนั้นช่างเด๋อด๋าเสียจนไม่รู้ว่าสัตว์ทั้งสองประเภทนั้นมันไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้เลยถึงแม้ว่า  แมงดาทะเลกับแมลงดานาจะอยู่ในไฟลัมเดียวกัน คือ ไฟลัมอาร์โทร์โพด้า (Arthropoda) ซึ่งเป็นไฟลัมที่ใหญที่สุด

ในอาณาจักรของสัตว์  ซึ่งประกอบด้วยสัตว์ที่มีกระดองหรือโครงกระดูกหุ้มอยู่ภายนอก  เช่น แมลงต่าง  ๆ กุ้ง ปู แมงดาทะเล แต่ที่ต่างกันก็คือ แมลงดานาถูกจัดไว้ในชั้นของแมลงคลาสอินแซคต้าหรือเฮ็กซาโพด้า (มี 6 ขา) (Class Insectaor Hexapoda) ส่วนแมงดาทะเลถูกจัดไว้ในชั้นมีรอสโตมาต้า (Class Merostomata)

สำหรับสาเหตุที่มีการใช้คำในภาษาไทยกันอย่างสับสนไขว้เขว และผิดความหมายกันมาก  เพราะคนไทยรุ่นใหม่นี้  ส่วนมากจะติดนิสัยมักง่าย  ชอบพูดชอบทำอะไรที่มันง่าย ๆ สะดวกลิ้นสบายปาก ยิ่งคำไหนที่มี “ร” เป็นคำกล้ำด้วยแล้วจะไม่ยอมเสียเวลาออกเสียง รัวลิ้น เวลาพูดเลย อย่างเช่นคำว่า เปรียบเทียบ ประชาชน ร้องเพลง ประดับประดา เวลาพูดออกมาก็เลยฟังแล้วลื่น ๆ หูกลายเป็น เปียบเทียบ ปะชาชน ล้องเพง ปะดับปะดา เรื่องการออกเสียงเวลาพูด  คำกล้ำนี้ต้องขอยกให้ ม.ร.ว.ถนัดศรี  สวัสดิวัฒน์ ในรายการครอบจักรวาลตอนสาย ๆ ท่านพูดได้ เนี๊ยบมาก  นอกจากนั้นแล้ว  คำว่ามหาวิทยาลัย ยังตัดออกไปเสียจนสั้นจู๋เป็นมหา”ลัย พูดเร็ว ๆ ก็เลยเพี้ยนเป็น “หมาลัย”  ได้ยินได้ฟังแล้วไม่เป็นมงคลแก่หูเลย

ฉะนั้นคำว่าแมงกับแมลง  ซึ่งออกเสียงคล้าย ๆ กันก็เลยเรียกสลับไปสลับมา เป็นแมงบ้าง แมลงบ้าง ว่ากันให้มั่วไปหมด  อย่างเช่นแมลงปอ แมลงกะชอน แมลงเม่า แมลงวัน และแมลงสาบส่วนมากจะเรียกเป็นแมงไปหมดที่ได้ยินเรียกถูกต้องก็คือ เด็กผู้หญิงเสียงเหน่อ ๆ ที่แสดงเป็นตัวประกอบ ในหนังโฆษณา จำหน่ายสารพิษฆ่าแมลงสาบใน ที.วี.ว่า แหม่! คุณผู้หยิ่งคะมาแลงซาบมัน

และจากผลที่ใช้คำว่า  แมลงบ้าง แมงบ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่า แมงหรือแมลง คือความหมายอย่างเดียวกันทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงนั้นแมลงต่างกับแมงมาก คือ แมลงอยู่ในชั้นของแมลง Class Insecta เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง  ซึ่งในระยะหนึ่งของชีวิตจะมีร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.  ส่วนหัว (Head) มีตา หนวด และ ปาก

2.  ส่วนอก (Thorax) แบ่งเป็นปล้อง ๆ ส่วนมากจะมีปีก

3.  ส่วนท้อง (Abdomen) แบ่งออกเป็นปล้อง ๆ เหมือนกันมีขา 3 คู่ หรือ 6 ขา

ส่วนแมงนั้น อยู่ในชั้น ดาร้าชนีด้า (Class Arachnida) เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งในระยะหนึ่งของชีวิตมีร่างกายแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือมีศีรษะและอกรวมกันเป็นส่วนเดียวกัน เรียกว่า ซีฟาโลโทแรกซ์ (Cephalothorax) มีขาแบ่งออกเป็น 4 คู่ หรือแปดขา ไม่มีหนวดและตารวม เช่น แมงมุม (Spider)

ฉะนั้นก่อนที่จะเขียนเรื่องแมลงดานาต่อไป ก็อยากจะอธิบายอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับแมลงดานาให้เข้าใจพอเป็นพื้นฐานเสียก่อน  แมลงดานาเป็นแมลงประเภทมวนน้ำ (Water bug) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  ในบรรดาพวกมวนด้วยกัน  ฝรั่งเขาจึงตั้งชื่อว่า มวนน้ำยักษ์ หรือ ไจแอ้นท์วอเต้อร์บั้ค (GIANT WATER BUG) บางประเทศปรากฎว่าแมลงในวงศ์นี้มีความยาวถึง 10 เซนติเมตร  อาศัยอยู่ตามริมฝั่งน้ำและบนบก กินสัตว์เล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำเป็นอาหาร แมลงดา มีอยู่ในแถบทวีปเอเซีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ รวมทั้งหมด 24 ชนิด ด้วยกัน  โดยเฉพาะแมลงดาในอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มีแมลงดาบางชนิดที่ตัวเมียจะวางไข่อยู่บนหลังของตัวผู้จนกระทั่งออกลูกเป็นตัว  สำหรับบ้านเราแมลงดาส่วนมากจะอาศัย  อยู่ในท้องนา  ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำขังเหมาะกับธรรมชาติของแมลงดานามาก เราจึงเรียกว่า แมลงดานา

การแบ่งแมลงดานาในด้านอนุกรรมวิธาน(Taxonomy)

อยู่ในไฟลัมอาร์โทโพด้า Phylum Arthropoda  อยู่ในชั้นของแมลง  คล้าสอินเซ็คต้า หรือ เฮ็คซาโพด้า เพราะมี 6 ขา (Class Insecta or Hexapoda) อยู่ในอันดับเฮมิพทีร่า ออเดอร์เฮมิพทีร่า (Order Hemintera) อยู่ในอันดับย่อยคริฟโตซีราต้า สับออเดอร์ คริฟโตซีราต้า (Suborder Cryptocerata) แมลงในออเดอร์เฮมิฟทีร่า (Order Hemiptera) ได้แก่มวนต่าง ๆ แต่มวนมีทั้งพวกที่มีหนวดสั้นและหนวดยาว เขาจึงแบ่งแมลงใน ออเดอร์นี้ออกเป็น 2 อันดับย่อย ๆ  โดยอาศัยลักษณะความยาวของหนวดเป็นหลักดังต่อไปนี้

1.  พวกมวนหนวดสั้น  ชอร์ทฮอร์นบั๊ค (Short-horned-bugs) อยู่ในอันดับย่อยคริฟโตซีราต้า (Suborder Cryptocerata)

2. พวกมวนหนวดยาว  ลองฮอร์นบั๊ค (Long-horned-bugs) อยู่ในอันดับย่อย  ยิมโนซีราต้า (Suborder Gymnocerata)

แมลงในอันดับย่อย คริฟโตซีราต้า(พวกมวนหนวดสั้น) ได้แก่

1.  มวนกรรเชียง  วอเตอร์โบ้ทแมน (Water boatman)

อยู่ในวงศ์  โครีซีเดอี้ แฟมมิลี่ โครีซีเดอี้ (Family corixidae)

2. มวนวน  แบ๊คสวิมเมอร์ (Back swimmer)

อยู่ในวงศ์โนโตเน็คตีเดอี้ (Family Notonectidae)

3.  มวนแมลงป่องน้ำ  วอเต้อร์ สคอร์เปี้ยน (Water-scorpion)

อยู่ในวงศ์เนปีเดอี้(Family Nepidae)

4. แมลงดานา ไจแอ้นท์วอเต้อร์บั๊ค (giant water bug)

อยู่ในวงศ์บีลอสโตมาตีเดอี้(Family Belostomatidae)

ลักษณะของแมลงที่อยู่ในอันดับย่อยคริฟโตซีราต้า (Suborder Cryptocerata)

มีการเจริญเติบโตแบบ แกรดดูอัลเมทามอร์โฟสีด (gradual metamorphosis) คือร่างกายค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อยด้วยการลอกคราบ  เพราะแมลงพวกนี้จะออกจากไข่เป็นตัวเลย  ไม่ได้ผ่านขั้นตอนเป็นตัวหนอน  หรือ ลาร์วา (Larva) ก่อน  เมื่อออกเป็นตัวแล้วจะเหมือนตัวแก่  แต่เล็กกว่าเรียกว่านิ้ม (Nymph) ยังไม่มีปีกอวัยวะสืบพันธุ์ยังไม่สมบูรณ์ เช่น หัวโต ปีกสั้น ต่อไปจะค่อย ๆ ลอกคราบจนครบ 5 ครั้ง แล้วจึงจะมีรูปร่างเหมือนตัวแก่เต็มวัย  เป็นแมลงที่มีหนวดสั้นเห็นไม่ชัด  เพราะซ่อนอยู่ในร่อง  ซึ่งอยู่ทางด้านล่างของส่วนหัวใต้ตา  ไม่มีตาเดี่ยวหรือซิงเกิลอาย (Single eye) อาศัยอยู่ตามห้วย คลอง หนอง บึง บ่อ สระ