ผักกาดนํ้าสรรพคุณทางยา


หมอน้อย หญ้าเอ็นยืด
ชื่อ
จีนเรียก    เชียจ่อยเช่า ตะปุกซี้  ฮำผั่วเช่า เอียเตี่ยมไฉ่  Plantago major Linn.

ลักษณะ
ชอบขึ้นตามที่ลุ่มหรือในทุ่งนา โดยอาศัยรากผลิตใบโดยตรง พื้นใบเรียบ รูปไข่ ขอบใบย่น ส่อลักษณะหยักแต่ไม่แหลม มีเอ็นใบ 5 เส้นเอ็น หลังใบนูน ก้านกับใบมีความยาวไล่เลี่ยกัน ออกดอกฤดูร้อน เริ่มมีก้านดอกออกกลางกอ ดอกเล็กเมื่อสุดดอกจะแตก ลูกกระจายสืบพันธุ์ต่อไป

รส
รสหวานนิดๆ ธาตุเย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
สามารถดับร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้ท้องร่วง ใช้ดับพิษฝี ฤทธิ์เข้าถึง กระเพาะปัสสาวะ

รักษา
ใช้แก้ขัดเบา ปัสสาวะสีแดงเนื่องจากร้อนใน ตำแหลกรักษาแผลที่ปิดยาก ขอบตาเป็นเม็ดบวม

ตำราชาวบ้าน
1. ปัสสาวะขัด – ใช้ผักกาดนํ้า 1 ตำลึง หรือสัก 3 ต้น ต้มกับกวยแชะ
2.  ปัสสาวะแดงส่อถึงร้อนใน – หญ้าเอ็นยืด ไผ่หยอง  และรากหญ้ากก อย่างละ 1 ตำลึง ต้มด้วยกัน รับประทาน
3. ปัสสาวะขุ่น – ผักกาดนํ้า 1 ตำลึง ต้มกับไผ่หยอง อย่างละครึ่งตำลึง ต้มนํ้า หรือผักกาดน้ำ รากมะละกออย่างละ 1 ตำลึง ต้มน้ำ รับประทาน
4. ปัสสาวะเป็นเลือด – ผักกาดนํ้า และไผ่หยอง อย่างละครึ่งตำลึง ต้มใส่น้ำตาลแดง
5. ลงท้องเนื่องจากร้อนใน – ผักกาดนํ้า 1 ตำลึง ต้ม หรือเอาผักกาดน้ำ ต้มกับน้ำนมราชสีห์เล็ก  และลูกใต้ใบ อย่างละ 1 ตำลึง
6. รักษาแผลที่ไม่ปิดปาก – ผักกาดน้ำชงน้ำร้อนแล้วใช้ปะปากแผล
7. หางตาเป็นเม็ด – ผักกาดน้ำตำแหลกแล้วปะที่หางตา

ปริมาณใช้
ใช้กินสดไม่เกิน 1 ตำลึง แห้งไม่เกินครึ่งตำลึง ใช้ปะแผลกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
คนเป็นโรคเย็นในหรือหญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช