ผัก:กินผักอย่างรู้วิธี

พิสมัย  ชวลิตวงษ์พร

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันการปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากสภาพดินที่เสื่อมโทรม ดินมีปัญหา เช่น ดินเป็นกรด ดินเป็นด่าง หรือปัญหาที่เกิดจากการทำลายของศัตรูพืชต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างิย่งในปัญหาหลังนี้เป็นปัญหาสำคัญยิ่งที่ทำให้การปลูกพืชประสบความล้มเหลวหรือทำให้เกษตรกรต้องหาวิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ เพื่อจะได้มีพืชผลเก็บเกี่ยวนำรายได้มาสู่ครอบครัว

ดังที่กล่าวมาแล้ว เกษตรกรต้องหาวิธีการในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากวัชพืช จากโรค จากแมลงที่มาทำลายพืช เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ ด้านในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่สารเคมีที่ใช้สะสมอยู่ในน้ำ ในดิน และที่สำคัญที่มีผลโดยตรงต่อผู้บริโภค พืชผลซึ่งกำลังมีการตระหนักถึงผลเสียนี้อย่างมาก ทำให้เป็นปัญหาต่อผู้ผลิตด้วย เพราะเกษตรกรผู้ปลูกอาจจะมีปัญหาที่ผู้บริโภคไม่ยอมรับผลิตผลนั้น ๆ

ปัญหาของพิษตกค้างในพืชผลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พืชผัก ซึ่งเป็นพืชที่ใช้รับประทานโดยตรง และมีพืชผักหลายชนิดที่อาจใช้บริโภคสด (ดิบ ๆ) โดยไม่ผ่านขบวนการหุงต้มให้สุกเสียก่อน  ดังนั้นเมื่อมีปัญหาที่เกษตรกรใช้สารเคมีกันอย่างมากมายก็ย่อมมีปัญหาน่าวิตกถึงเรื่องพิษตกค้างที่หลงเหลือในพืชผักนั่นเอง

ผู้บริโภคควรทำอย่างไร

เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในการรับประทานพืชผักที่อาจมีพิษตกค้างของสารเคมีก็อาจเลือกวิธีการต่างๆ ดังนี้

1.  เลือกรับประทานผักที่ใช้สารเคมีน้อย ยังมีผักอีกหลายชนิดที่ไม่ใช้สารกำจัดแมลงเลย หรือใช้น้อยครั้ง ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับชนิดของผัก และแหล่งปลูก

*  ชนิดของผัก เลือกรับประทานผักที่มีปัญหาจากแมลงศัตรูไม่มาก มีการใช้สารกำจัดแมลงน้อย หรืออาจไม่ใช้เลย ได้แก่ ผักพื้นบ้านต่าง ๆ รวมทั้งตำลึง ผักบุ้ง คึ้นฉ่าย โหระพา กะเพรา

*  แหล่งปลูก ผักที่ปลูกในแหล่งที่ไม่ใช่แหล่งปลูกใหญ่ หรือปลูกผักมานาน หรือปลูกผักติดต่อกัน จะไม่ค่อยมีการสะสมของแมลงศัตรูเกษตรกรอาจใช้สารเคมีน้อยครั้ง  แต่ถ้าปลูกผักในแหล่งปลูกใหญ่  ปลูกติดต่อกันมานาน ๆ หรือปลูกตลอดปีก็จะพบปัญหาการระบาดทำลายของแมลงศัตรูเป็นประจำ  ทำให้การปลูกผักในบริเวณเหล่านี้จำเป็นต้องมีการพ่นสารเคมีบ่อยครั้งมาก

2.  ถ้าจำเป็นต้องเลือกกินผักชนิดที่เสี่ยงกับการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก  ก็ควรปฏิบัติตามหลักวิชาการต่าง ๆ ที่จะช่วยลดสารเคมีตกค้างอยู่บนพืชผักให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไปได้  ซึ่งจากคำแนะนำของ ดร.สุปราณี  อิ่มพิทักษ์ (จากรายงานการประชุมเทคนิคการผลิตผักอนามัย รุ่น 2 กองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร วันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2538) สรุปไว้ว่า

*  ล้างผักในน้ำไหล โดยให้น้ำไหลผ่านชะล้างนาน 2 นาที จะสามารถลดสารพิษหลายชนิดได้ประมาณ 42 เปอร์เซ็นต์ แต่กรณีนี้อาจจะสวนทางกับนโยบายการประหยัดน้ำ ผู้ปฏิบัติก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสม

*  แช่ผักในน้ำหรือใน่น้ำเกลือเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์ นาน 2 นาที จะลดสารพิษหลายชนิดลงได้โดยเฉลี่ย 34 เปอร์เซ็นต์

*  ลวกผักในน้ำร้อนนาน 2 นาที จะลดสารพิษลงได้โดยเฉลี่ย 37 เปอร์เซ็นต์

*  แช่ผักในน้ำส้มสายชูเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์หรือแช่ในน้ำยาล้างผัก หรือแช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เข้มข้น 0.1N) นาน 2 นาที จะลดสารพิษหลายชนิดลงได้โดยเฉลี่ย 44-45 เปอร์เซ็นต์หรือ

*  แช่ผักในน้ำด่างทับทิมเข้มข้น 0.01 เปอร์เซ็นต์จะลดสารพิษหลายชนิดลงได้เฉลี่ย 51 เปอร์เซ็นต์

จะเห็นได้ว่าการล้างผักด้วยวิธีการต่าง ๆ จะไม่สามารถกำจัดหรือชะล้างสารพิษที่ตกค้างอยู่บนพืชผักให้หมดไปได้ อย่างไรก็ตาม การทำให้ผักสุกก่อนรับประทาน จะช่วยลดสารพิษที่อาจมีตกค้างอยู่ในพืชผักให้เหลือน้อยลง  ก็คงจะทำให้ท่านทานผักได้อย่างโล่งใจขึ้น

วิธีการรับประทานผักโดยลดความเสี่ยงจากสารพิษตกค้าง วิธีสุดท้ายนี้ให้ผลแน่นอน ก็คือการเลือกรับประทานผักที่ไม่ใช้สารเคมี หรือใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

3.  กินผักที่ปลอดภัย  ไม่มีสารพิษตกค้าง ปัจจุบันผักหลายชนิดที่ผลิตโดยบริษัทเอกชนหลาย ๆ บริษัท มีชื่อต่าง ๆ กัน หรือเป็นผักที่มีคำรับรองจากทางราชการว่าเป็นผักที่ไม่มีสารพิษ  ซึ่งผักเหล่านี้จะหาซื้อได้ตามศูนย์การค้าหลายแห่งด้วยกัน ผักเหล่านี้ได้แก่

ชื่อผัก ควบคุมโดย ผลิตโดยบริษัท
ผักอนามัย กรมวิชาการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

มีบริษัทหลายบริษัทเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกของโครงการ “ผลิตผักอนามัย” โดยการปฏิบัติการใช้สารเคมีตามคำแนะนำ และมีเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรไปสุ่มตรวจวิเคราะห์พิษตกค้างของสารเคมีในพืชผักที่จะจำหน่ายอยู่สม่ำเสมอ เพื่อรับรองว่าผักที่จำหน่ายไม่มีสารพิษตกค้างอยู่ ซึ่งผักเหล่านี้จะบรรจุใส่ถุงขายในชื่อ โครงการผลิตผักอนามัย กรมวิชาการเกษตร และจากข้อมูลของ ดร.สุปราณี  อิ่มพิทักษ์ (เลขานุการโครงการผลิตผักอนามัย กรมวิชาการเกษตร)ว่าปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 5 บริษัท และมีเกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการแล้ว มีพื้นที่ปลูกผักประมาณ 500 ไร่ ได้แก่ บริษัท ผักด๊อกเตอร์ จำกัด, บริษัท เอเอฟแอนด์วีอินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท บางกอกรับเบอร์แลน์, บริษัท เกษตรนคร จำกัด และบริษัท ลำปางฟู้ดโปรดักสื จำกัด และขณะนี้มีบริษัทที่กำลังขอเข้าร่วมในโครงการผลิตผักอนามัยอีก 5 บริษัทด้วยกัน และยังมีผู้ผลิตที่ได้ขอแจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการอยู่อีกรวม 39 ราย  ซึ่งถ้ารับเข้าโครงการผลิตผักอนามัยได้หมดก็คงจะครอบคลุมพื้นที่ปลูกผักกว้างใหญ่มากทีเดียว และประชาชนผู้บริโภคก็คงจะสามารถซื้อหาผักอนามัยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้ผักอนามัยจะมีวางขายเฉพาะศูนย์การค้าบางแห่งเท่านั้น เช่น เซ็นทรัล ฟู้ดแลนด์ โรบินสัน เซฟวัน สยามจัสโก้ ซันนี่(สาขาต่าง ๆ) แมคโคร (สาขาแจ้งวัฒนะ)โอเดี่ยน(นครปฐม) และเยาฮัน เป็นต้น ส่วนชนิดของผักที่ผลิตในโครงการมีแทบทุกชนิดทีเดียว
ผักปลอดสารพิษ กรมส่งเสริมการเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นผักที่ทางราชการ คือ กรมส่งเสริมการเกษตรให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในโครงการปลูกผัก และผักที่ผลิตได้ปลอดภัยจากสารเคมีเช่นกัน
ผักกางมุ้ง   เป็นการปลูกผักที่ปัจจุบันมีหลายท้องที่ ดำเนินการโดยเกษตรกร อาจรวมกลุ่มกันผลิตผักเหล่านี้ขึ้นมา โดยปลูกในมุ้งตาข่ายกันแมลง ทำให้ลดการใช้สารกำจัดแมลง หรืออาจไม่ต้องใช้เลยก็ได้

นอกจากนี้ก็ยังมีผักที่ปลูกแบบธรรมชาติ ซึ่งผู้ผลิตให้คำรับรองว่าไม่ใช่สารเคมี เป็นต้น

เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคตระหนักถึงสารพิษตกค้างมากยิ่งขึ้นก็มีความพยายามของผู้ผลิตผักที่จะปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมี หรือใช้น้อยที่สุดดังที่ท่านคงจะได้ฟังอยู่เสมอ และเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป แต่ก็มีจุดประสงค์ที่จะผลิตผักที่ไม่มีสารพิษตกค้างอยู่นั่นเอง  ซึ่งถ้าถ่านเป็นห่วงสุขภาพก็ควรซื้อหารับประทานผักต่าง ๆ เหล่านี้  แม้ว่าราคาอาจจะแพงกว่าผักที่ปลูกตามปกติ..แต่ก็คุ้มค่า

ในขณะที่ผู้บริโภคกำลังตื่นตัวคำนึงถึงสารพิษตกค้าง  ในฐานะของเกษตรกรผู้ผลิตพืชผักเองก็ควรให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวนี้ จากการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของแมลงศัตรูพืชผักมานานหลายปีของกลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูผัก ไม้ดอกและไม้ประดับ กอบกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ก็พอสรุปได้เป็นแนวทางการปลูกพืชผักในแง่การลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงลงไปได้โดยมีหลักการปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้

1.  กรณีปลูกพืชผักตระกูลกะหล่ำมีวิธีการลดการเข้าทำลายจากแมลงศัตรูบางชนิด เช่น หนอนใยผัก จากการวิจัยของคุณวินัย  รัชตปกรณ์ชัย สรุปได้ดังนี้

*  ปลูกผักในมุ้งตาข่าย ซึ่งสามารถปลูกผักได้หลายชนิดและป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูอย่างได้ผล แทบจะไม่ต้องใช้สารกำจัดแมลงเลย แต่เกษตรกรผู้ปลูกควรคำนึงถึงราคาผลผลิต (ชนิดของผัก) ว่าคุ้มทุนกับการทำมุ้งหรือไม่

*  การวางกับดักกาวเหนียวสีเหลือง ในพื้นที่ปลูกผักตระกูลกะหล่ำ โดยใช้จำนวน 80 กับดัก ต่อพื้นที่ 1 ไร่ จะช่วยจับตัวผีเสื้อไปได้มากและลดจำนวนแมลงให้น้อยลง เกษตรกรก็อาจใช้สารป้องกันกำจัดลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์

2.  จากการวิจัยของคุณปิยรัตน์ เขียนมีสุข  พบว่าในธรรมชาติหนอนใยผักจะมีศัตรูธรรมชาติประเภทตัวเบียนที่คอยทำลายอยู่แล้ว  โดยมีการทำลายหนอนใยผักได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์  แต่ในความเป็นจริงเมื่อเกษตรกรใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงมากเท่าใด  ก็จะไปทำลายศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ด้วย  ทำให้สมดุลของธรรมชาติหายไป แมลงศัตรูพืชก็ยิ่งทวีการระบาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งสภาพเช่นนี้พบเห็นได้ทั่วไปในการปลูกพืชแทบทุกชนิดไม่เฉพาะแต่พืชผักตระกูลกะหล่ำ

3.  ถ้าต้องใช้สารกำจัดแมลง ก็ควรพิจารณาใช้ตามความจำเป็น  ซึ่งในการปลูกพืชหลาย ๆ ชนิดมีวิธีการตรวจนับแมลงก่อน  ถ้าพบแมลงถึงระดับจึงควรพ่นสารเคมี  แต่ถ้ามีปริมาณแมลงไม่ถึงระดับที่ตั้งไว้  ก็ไม่ควรพ่นสารเคมี และสีเคมีที่แนะนำให้ใช้ในการป้องกันกำจัดมีทั้งสารประเภทเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อม เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามถ้าจะทิ้งภาระหนักนี้ ให้ผู้บริโภคและนักวิชาการแต่เพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูกต้องแน่นอน เกษตรกรผู้ปลูกผักขายควรตระหนักถึงพิษอันตรายของการมีสารพิษตกค้างอยู่บนพืชผักต่าง ๆ โดยในการผลิตผักนอกจากจะคำนึงถึงรายได้หรือผลผลิตสูงสุดต่อพืชที่ปลูกแล้วควรตระหนักถึงพิษภัยต่าง ๆ เหล่านี้โดยมีการปฏิบัติตามหลักวิชาการต่างๆ อาทิเช่น

1.  การเว้นระยะการพ่นสารก่อนการเก็บผัก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสารเคมีที่ใช้ สารบางประเภท เช่น สารไพรีทรอยด์อาจจะเว้นระยะก่อนเก็บเกี่ยวสั้นได้ไม่ถึง 3 วัน แต่สารเคมีบางชนิดต้องเว้นเกิน 7 วัน หรือเกิน 2 เดือนก็ได้ ดังนั้นในระยะก่อนการเก็บเกี่ยว ควรพิจารณาใช้สารเคมี ที่มีพิษตกค้างสั้น สลายตัวเร็ว

2.  ใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง เช่น ใช้สารที่มีพิษน้อยต่อผู้ใช้หรือผู้บริโภคเลือกสารที่มีพิษทำลายศัตรูพืชเฉพาะเจาะจง  ปัจจุบันสารเคมีที่เรียกว่าสารชีวินทรีย์ ซึ่งเป็นเชื้อโรคของแมลง เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เป็นสารที่จะปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีพิษตกค้าง

3.  หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มีการใช้น้อยที่สุด โดยนำวิธีการอื่น ๆ มาใช้ เช่น การใช้กับดักกาวเหนียววางในไร่ผัก-จับตัวแมลงไว้ การปลูกผักในมุ้งตาข่าย และการปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่อาหารของแมลงชนิดเดียวกัน จะเป็นการตัดวงจรของแมลงไปได้มาก ทำให้ประชากรลดลง

แนวทางปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้  จะแตกต่างไปในการปลูกผักแต่ละชนิด ท่านอาจจะติดต่อสอบถามหลักการต่าง ๆ นี้ได้โดยตรงในกรณีที่มีข้อสงสัย โดยติดต่อได้ที่กลุ่มงานวิจัยแมลงศัตรูผัก ไม้ดอกและไม้ประดับ กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กทม. 10900 หรือโทรศัพท์ 579-5583 , 579-1061 นักวิชาการยินดีจะให้คำแนะนำแก้ไข แมลงปัญหาที่จะเป็นประโยชน์ในการผลิตพืชผักไม้ดอก รวมทั้งพืชอื่น ๆ ด้วย