ผักกูด:พืชที่ช่วยสะท้อนความผันแปรของระบบคุณภาพดินและระบบนิเวศ

ผักกูด

ผักกูดมีธาตุเหล็กและเบต้า-แคโรทีนสูง ช่วยให้ไม่อ่อนเพลียหรือซีดง่าย บำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ผักกูดเป็นเฟิร์นชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นตามริมน้ำที่มีความชื้นสูง แต่มีแสงแดดส่องถึงหรือที่ร่มรำไร ต้นสูงได้ถึง 1 เมตร มีใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ยาวประมาณ 1 เมตร กว้าง 50 ซม. พบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค

ผักกูดมีลักษณะเด่นตรงที่มีความไวเป็นพิเศษต่อสารเคมีและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จึงเป็นพืชที่ช่วยสะท้อนความผันแปรของระบบคุณภาพดินและระบบนิเวศ สารเคมีที่ตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อมจึงส่งผลกระทบต่อผักกูดโดยตรง

ประโยชน์ทางอาหาร

ผักกูดมีธาตุเหล็กและเบต้า-แคโรทีนสูง ซึ่งหากทานร่วมกับเนื้อสัตว์จะทำให้เกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดี ช่วยให้ไม่อ่อนเพลียหรือซีดง่าย บำรุงสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยนำใบอ่อน ยอดอ่อน นำไปทำยำผักกูด หรือลวกจิ้มน้ำพริก ใส่ในแกงส้ม ผัด แกงเลียง

คุณค่าทางยา

มีรสเย็น แก้ไข้ตัวร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษอักเสบ

การขยายพันธุ์

ใช้ต้นอ่อนที่แยกออกมาจากต้นแม่  ส่วนปลายรากที่โผล่พ้นดินขึ้นมาจะเจริญเป็นต้นอ่อน สามารถแยกมาปลูกได้ แต่โดยปกติผักกูดจะขยายพันธุ์ด้วยสปอร์

การเตรียมพื้นที่ปลูก ใช้ดินร่วนปนทราย อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือมีการจัดการน้ำที่ดี เหมาะที่จะปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น ในลักษณะพืชคลุมดิน ควรปลูกในช่วยฤดูฝน โดยขุดดินยกร่องเป็นแถวยาวลึกประมาณ 20 ซม. นำต้นพันธุ์ลงปลูก  ให้มีระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 20 x 50 ซม. รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

หลังจากปลูกได้ประมาณ 6 เดือน จะแตกยอดให้เก็บเกี่ยวได้ และหลังตัดยอดประมาณ 3 วันจะแตกยอดใหม่ให้เก็บอีก ดังนั้นหากมีพื้นที่ปลูกมากสามารถหมุนเวียนเก็บยอดได้ทุกวัน ประมาณ 10 กก./ไร่

ราคาตลาด กิโลกรัมละ 40 บาท

(กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)