ฝาดดอกแดง

(Bind-poll)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lumnitzera littorea (Jack) Voigt.
ชื่อวงศ์ COMBRETACEAE
ชื่ออื่น ตำเสาทะเล (พังงา. กระบี่. ตรัง)
ลักษณะทั่วไป ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้น เป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 10-15 ม. อาจสูงถึง 30 ม. ลำต้นคดเคี้ยว เปลือกต้นสีเทาน้ำตาลมีรอยแตกเป็นร่องลึก เปลือกในสีแดงเข้มหรือส้ม ชูทรงพุ่ม ขึ้นสูง แผ่กิ่งก้านไม่แน่นอน มีรากหายใจรูปคล้ายเข่า
ใบ ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบกิ่งหนาแน่นที่ปลายกิ่ง แผ่นใบหนา รูปรีแกมรูปไข่กลับหรือแกมรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 1-3 ซม. ยาว 3-9 ซม. ปลายใบกลม เว้าตื้นๆ ฐานใบรูปลิ่ม ขอบใบหยักมน มีต่อมขนาดเล็กก้านใบสั้น ใบสีเขียวเข้ม


ดอก สีแดง ออกที่ปลายกิ่งเป็นช่อกระจะ แต่ละช่อยาว 2-5 ซม. มี 5-15 ดอกฐานรองดอกเป็นหลอด กว้าง 0.4 ซม. ยาว 0.8-1.2 ซม. แบน ด้านข้าง ใต้ส่วนปลาย คอดเล็กน้อย แล้วกว้างออกไปทางกลีบเลี้ยง ซึ่งมี 5 กลีบ สีเขียว รูปไข่กว้าง ขอบกลีบมีขน มีใบประดับย่อย 2 ใบ ขนาดเล็ก กลีบดอก 5 กลีบ รูปรี แกมรูปขอบขนาน แต่ละกลีบไม่ติดกัน เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวเป็น 2 เท่าของกลีบดอก


ผล รูปกระสวยป่องตรงกลาง มีสันตามยาว ผลกว้าง 0.4 ซม. ยาว 1.3-2 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลแดง ออกดอกและติดผลเดือน พ.ย.-เม.ย.
นิเวศวิทยา พบด้านในป่าชายเลนที่เป็นดินร่วน และมีความเค็มน้อย และมักพบขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณปากแม่น้ำ ที่เป็นดินเลนแข็ง หรือดินทราย ซึ่งทำให้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก
การใช้ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย