พระจันทร์ครึ่งซีกสมุนไพร

ชื่ออื่น บัวครึ่งซีก (ชัยนาท) ปัวปีไน้(แต้จิ๋ว) ป้านเปียนเหลียน (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lobelia chinensis Lour.
(L. radicans Thunb.)
วงศ์ Lobeliaceae
ลักษณะต้น เป็นไม้เล็กคล้ายหญ้า แผ่ไปตามดิน ลำต้นเล็กยาวประมาณ 20 ซม. เมื่อหักลำต้นมียางสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนมไหลชุ่มออกมา ลำต้น สีเขียวมีข้อน้อย แต่ละข้อจะมีใบหรือกิ่งออกสลับกัน มีรากฝอยแตกออกตามข้อ ใบเรียวเล็กยาวคล้ายใบหอก ไม่มีก้าน ใบยาว 1-2 ซม. ขอบใบมีรอยหยักแบบฟันเลื่อยห่างๆ ดอกสีม่วงอ่อน เมื่อบานกลีบดอกแยกไปข้างเดียว ทำให้เห็นคล้ายเป็นดอกบัวครึ่งซีก มีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ดอกบานในฤดูร้อน เป็นไม้ที่ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ แพร่พันธุ์โดยการแยกต้นปักชำ
ส่วนที่ใช้ ทั้งต้น (เก็บในฤดูร้อน ขณะที่ดอกกำลังบาน)
สรรพคุณ
ลดไข้ แก้หอบหืด บำรุงปอด แก้อาเจียนเป็นเลือด วัณโรค ปอดอักเสบ ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ตาแดง ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ บิด ขับปัสสาวะ (เพื่อลดอาการบวมจากไตอักเสบ) ท้องมาน (เนื่องจากพยาธิ ใบไม้ในเลือดและดีซ่าน) เข้ายาแก้มะเร็งกระเพาะอาหารหรือที่ทวารหนัก แก้ข้ออักเสบ เคล็ดขัดยอกบวมเจ็บ ฝี แผลเปื่อย บาดแผล กลากเกลื้อน ผื่นคัน และแก้คัดจมูก เนื่องจากกินยาเข้ารากระย่อม (Rauvolfia ser¬pentina Benth.)
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ ในคนที่มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อุจจาระหยาบเหลว (จีนเรียกม้ามพร่อง)
ตำรับยาและวิธีใช้
1. ทอนซิลอักเสบ ใช้ต้นสดตำให้ละเอียดปั้นเป็นก้อนขนาดไข่ไก่ ใส่ในถ้วยเติมเหล้าลงไป 90 มล. ผสมให้เข้ากัน คั้นเอาน้ำ แบ่งอม 3 ครั้งๆ ละ 10-20 นาที แล้วบ้วนทิ้ง
2. บิด ใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มน้ำเติมน้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อย)
กิน
3. ท้องเสีย ใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน
4. บวมน้ำ (เพราะไตอักเสบ) ท้องมาน (เนื่องจากพยาธิใบไม้ใน เลือด) ใช้ต้นสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน
5. ดีซ่าน ขัดเบา บวมน้ำ ใช้ต้นสด 30 กรัม ผสมกับรากหญ้าคา (Imperata cylindrica Beauv.) 30 กรัม ต้มน้ำใส่น้ำตาลทราย แบ่งกิน
2 ครั้ง เช้าและเย็น
6. อาเจียนเป็นเลือด ใช้ต้นสดตำผสมเหล้าเล็กน้อยกิน
7. เคล็ดขัดยอกบวมเจ็บ ใช้ต้นสด 60 กรัม น้ำ 180 มล. ต้มให้ เหลือ 90 มล. กรองเอาน้ำเก็บไว้ นำกากที่เหลือไปต้มอีกครั้งตามอัตราส่วนเดิม นำน้ำกรองครั้งที่สองรวมกับครั้งแรก แล้วเคี่ยวให้เหลือ 60 มล. เทใส่ขวดเก็บไว้ เวลาใช้เอาสำลีชุบนํ้ายาปิดตรงบริเวณที่ปวดบวม
8. ฝี แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบ ใช้ต้นสดพอประมาณใส่เกลือเล็ก น้อย ตำให้แหลกพอกบริเวณที่เป็น
9. เต้านมอักเสบ ใช้ต้นสดตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น
10. ตาแดง ใช้ต้นสดจำนวนพอสมควรล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด นำมาพอกบนหนังตา เอาผ้าก๊อสที่สะอาดปิด เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง
รายงานทางคลีนิค
การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อพวกพยาธิใบไม้ระยะท้ายที่มีอาการตับแข็งและท้องมาน (โดยใช้ร่วมกับยาที่มีพลวง พวก antimony potas¬sium tartrate ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิใบไม้) พบว่ามีฤทธิ์แตกต่างกันไป แต่ฤทธิ์ที่ตรงกันคือ มีการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น บางรายอาจทำให้ถ่ายท้อง ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบนี้ มีจำนวนมากที่ขับปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ปัสสาวะเป็นปกติ ระยะเวลาออกฤทธิ์ ขับปัสสาวะไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นผลใน 1-5 วัน ในช่วงที่รักษาด้วยยานี้พบว่า อาการท้องมานลดลง กินอาหารได้มากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น โดยใช้ต้นแห้ง 15-20 กรัม เติมน้ำลงไป 300 มล. ใช้ไฟอ่อนๆ ต้มให้เหลือ 30 มล. เติมน้ำตาลแบ่ง กิน 3-4 ครั้งต่อวัน ทำการรักษาช่วงละ 15-20 วัน ผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้น ให้กินต่อไปเรื่อยๆ จนอาการท้องมานหายไป รวมทั้งควรกินอาหารเสริมโปรตีนที่มีไขมันน้อยและเกลือเล็กน้อยหรือไม่มีเกลือ จากการใช้กับผู้ป่วย 100 ราย ได้ผล 69 ราย
ข้อสังเกต ยาต้มควรใช้ยาสดและใหม่ ไม่ควรทิ้งยาต้มไว้เกิน 4 ชม. โดยเฉพาะในฤดูร้อน เพราะยาจะเสื่อมคุณภาพได้ง่าย อาจเตรียมเป็นขี้ผึ้ง หรือยาเม็ด แต่ผลการรักษาจะด้อยกว่ายาต้ม
ผลทางเภสัชวิทยา
1. ฤทธิ์ขับปัสสาวะ เมื่อฉีดน้ำยาสกัดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัข ที่วางยาสลบจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะที่เด่นชัดและเป็นเวลานาน ขณะเดียวกันก็ทำให้ความดันโลหิตลดลงด้วย ถ้ากรอกเข้าลำไส้เล็กส่วนต้น ก็มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ แต่ไม่ทำให้ความดันโลหิตลดลง ต้องใช้ปริมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าจึงจะมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต ปริมาณของอัลคาลอยด์ (จากต้นพระจันทร์ครึ่งซีก) ถ้าให้ในขนาดที่เท่ากับปริมาณที่ได้จากการทำเป็นน้ำยาสกัดข้างต้น โดยฉีดเข้าหลอดเลือดก็จะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะที่เท่ากันด้วย นอกจากปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้นแล้ว ปริมาณของคลอไรด์ (chloride) ที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะก็เพิ่มสูงกว่าระดับปกติ ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะนี้ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากมีผลโดยตรงต่อไต และภายหลังการใช้เป็นเวลานาน ผลในการขับปัสสาวะจะค่อยๆ ลดลง พระจันทร์ครึ่งซีกที่เก็บหลังจากออกดอกแล้วจะมีฤทธิ์แรงกว่าก่อนออกดอก การต้มต้นพระจันทร์ครึ่งซีกในน้ำเดือด ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะคงเดิม แต่ถ้าใช้ความร้อนสูงเช่นอบที่อุณหภูมิ 150° เซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ฤทธิ์ที่ขับปัสสาวะจะถูกทำลายหมด ถ้าแช่ในน้ำที่อุณหภูมิ 20° เซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมง สารละลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีรสเปรี้ยว และไม่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ คนปกติเมื่อกินยาต้มนี้จะมีผลทำให้ขับปัสสาวะ และตรวจพบมีสารคลอไรด์และ/หรือโซเดยมในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
2. ฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิต นำสารละลายที่ได้จากการแช่ ต้นพระจันทร์ครึ่งซีกในน้ำ ฉีดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัขที่วางยาสลบ พบว่าความดันโลหิตลดลงเป็นเวลานานและเห็นได้ชัด ถ้าใช้อัลคาลอยด์ ราดิคานิน (radicanin) ขนาดเท่ากัน ฉีดเข้าหลอดเลือดสุนัขพบมีฤทธิ์ ในการขับปัสสาวะ แต่ไม่มีผลในการลดความดันโลหิต เมื่อใช้สารละลายที่ได้จากการแยกเอาอัลคาลอยด์ออกแล้วฉีดเข้าหลอดเลือดสุนัขพบว่ามีฤทธิ์ลดความดันโลหิตอย่างเดียว ไม่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ
3. ฤทธิ์อื่นๆ ฉีดสารละลายที่ได้จากการต้มเข้าช่องท้องหนูขาว จะทำให้ระยะเวลาที่เลือดแข็งตัวลดลง นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งการ เจริญของเชื้อราได้
ความเป็นพิษ
ปริมาณของสารละลายที่ฉีดเข้าหลอดเลือดหนูถีบจักร และทำให้ตาย 50% (LD50 ) คือ 6.10 ± 0.26 กรัมต่อกก.น้ำหนักตัว
ปริมาณสารละลายที่ให้โดยกรอกเข้าไปในกระเพาะอาหารหนูขาว ทำให้ตาย 50% (LD 50) คือ 75.1 ± 13.1 กรัมต่อกก.น้ำหนักตัว
ฉีดเข้าช่องท้องของหนูขาวในปริมาฌ 0.1-1.0 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว วันละครั้ง เป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน พบว่าน้ำหนักตัวของหนูขาว ตลอดจนปริมาณตะกอนต่างๆ และอัลบูมิน (albumin) ในปัสสาวะไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ในการตรวจสอบทางพยาธิวิทยาของอวัยวะต่างๆ พบว่าส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ไตบางส่วนของหนูมีอาการบวมเล็กน้อย
ถ้าใช้เกินขนาดจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ท้องเดิน ถ้าอาการมากทำให้ความดันโลหิตตํ่า ซึม หายใจขัด หัวใจทำงานลดลง และอาจถึงตายได้
วิธีแก้พิษเบื้องต้น ใช้ยาฝาดสมาน (มี tannic acid) เช่น ดื่มน้ำชา ชงแก่ๆ หรือใช้สวนทำให้อาเจียน หรือกินผงถ่านพิเศษ (activated charcoal) แล้วส่งต่อแพทย์
สารเคมีที่พบ
ทั้งต้น มี flavone, inulin และอัลคาลอยด์ (lobeline, lobelanine, lobelanidine, inlobelanine)
รากและต้น มี lobelinin และ polyfructosan.
ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล