พันธุ์ไม้ที่หายากบางชนิดของไทย

ที่มา:จำลอง เพ็งคล้าย

นักวิชาการป่าไม้ 8 ฝ่ายพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้

ประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าหากจะได้จัดการใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่ให้เหมาะสมและอย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าทรัพยากรเหล่านี้จะอำนวยประโยชน์สูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าไม้ อันเป็นทรัพยากรที่สามารถทดแทนต่อเนื่องกันได้ แต่ เพราะจากความกดดันหลาย ๆ ด้าน เช่น ประชากรเพิ่มขึ้น และส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ต้องใช้พื้นที่มากเพื่อเพิ่มผลผลิตให้พอเพียงแก่การยังชีพ การอพยพประชากรจากถิ่นหนึ่งไปอีกถิ่นหนึ่ง และการบุกรุกพื้นที่ป่าโดยมิไต้คำนึงถึงกฎเกณฑ์ของ บ้านเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าและพันธุ์ไม้ป่าอันเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว และมีหลายชนิดด้วยกันที่ส่อแสดงว่ากำลังหายาก และเสี่ยงต่อการสิ้นสูญในอนาคตอันใกล้นี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปอนุรักษ์และช่วยขยายพันธุ์ให้มีปริมาณกลับเพิ่มพูนขึ้นก่อนที่จะสายเกินไป สำหรับพันธุ์ไม้ที่จะกล่าวถึง เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้นดังนี้

1. ว่านแม่ยับ (Iris collettii Hook.f.) เป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 30 ซม. มีเหง้าอยู่ใต้ดินและมีกาบเป็นเส้นใยคล้ายเส้นด้ายแข็ง ๆ ปกคลุมหนาแน่นจนแลไม่เห็นเหง้า ใบแคบยาวเรียวแหลมคล้ายดาบ กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวและจุดสีม่วงประปราย โคนใบห่อเป็นกาบซ้อนสลับกันและโคนใบเก่าจะหุ้มโคนใบใหม่ไว้ ดอก ค่อนข้างบอบบาง สีม่วงอมฟ้า สวยเด่นสะดุดตา ออกเป็นช่อ ๆ ละ 1-3 ดอก มีกาบหุ้มช่อดอกสองกาบ กาบนี้คงทนไม่ร่วงโรยไปพร้อม กับดอก กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีทั้งหมด 6 กลีบ เรียงสลับเวียนกันเป็นสองวง วงละสามกลีบ ส่วนบนของปลายกลีบจะผายออกและห้อยย้อยลง คล้ายกลีบกระเป๋าของดอกกล้วยไม้และมีหงอนสีเหลืองติดอยู่ตรงกลางกลีบ เกสรผู้มี 3 อัน ติดอยู่ที่โคนกลีบดอกด้านใน ส่วนหลอดท่อรังไข่จะแผ่ออกเป็น 3 แฉก คลุมเกสรผู้อีกชั้นหนึ่งและมีสีสันคล้ายกับกลีบดอก รังไข่รูปสามเหลี่ยมฐานแคบ ส่วนผลรูปสามเหลี่ยมคล้ายลูกข่าง โตวัดผ่ากลางประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2.5-4 เซนติเมตร

ว่านแม่ยับมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่นแถบ เทือกเขาหิมาลัย และกระจายพันธุ์จากตะวันตกมาทางตะวันออกของประเทศธิเบต ทางตอนเหนือของประเทคอินเดีย และแพร่เข้ามาตกในแหล่งนํ้าซับ ที่เป็นป่าสนเขาผสมป่าเต็ง – รัง ช่วงบ่อหลวง – อมก่อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ระดับความสูงจากนํ้าทะเลระหว่าง 800-1,000 เมตร เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น สภาพท้องที่ในปัจจุบันถูกรบกวนจากสัตว์เลี้ยงพวกวัว ควาย เข้าไปเหยียบย่ำและถูกไฟไหม้ในฤดูแล้งอยู่เสมอ ๆ และเป็นที่น่าวิตกว่าชาวบ้านจะยึดเอาพื้นที่ไปปลูกพืชเกษตร ถ้าหากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้พืชชนิดนี้หมดไปจากประเทศไทย ว่านแม่ยับจะออกดอกมาก ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน

2. พลับพลึงธาร (Crinum thaianum J.Schulze) เป็นพืชนํ้ามีหัวหรือเหง้าฝังอยู่ในดินใต้นํ้าที่ไหลและใสสะอาด เป็นพันธุ์ไม้สกุลเดียวกันกับพลับพลึงที่ปลูกตามบ้าน รูปร่างลักษณะทั่ว ๆ จึง คล้ายกันมาก ลำต้นจะสูงหรือเตี้ยเป็นไปตามความตื้น-ลึกของนํ้า เฉลี่ยแล้วประมาณ 50 ซม. ใบแคบยาว ลอยพริ้วตามผิวนํ้า โคนใบห่อเป็นกาบซ้อนกันและค่อย ๆ เรียวแหลมไปทางปลายใบ ขอบใบค่อนข้างเรียบหรืออาจหยักเว้าตื้น ๆ จนมองแทบไม่เห็น ใบกว้าง 1-3 เซนติเมตร และยาว 40-100 เซนติเมตร ดอกสีขาว ออกรวมกันเป็นกระจุกที่ปลายช่อ กระจุก หนึ่ง ๆ มี 6 ดอก ก้านช่อสีแดงอมเขียว อวบนํ้า จะชูกลุ่มดอกพ้นผิวนํ้าขึ้นมาพอควร โคนก้านกลุ่มดอกจะมีกาบหุ้มสองกาบในช่วงที่ยังเป็นดอกตูม โคนกลีบดอกจะติดกันเป็นหลอดสีแดงเรื่อ ๆ ส่วนปลายกลีบจะแยก ออกเป็นกลีบเรียว ๆ ยาวสีขาว 6 กลีบ กลีบมักโค้งลู่ลง ส่วนเกสรผู้ 6 อัน ซึ่งมีก้านอับเรณูสีแดงจะชี้ขึ้น รังไข่ค่อนข้างกลมมีหลอดท่อรังไข่เรียว ๆ คล้ายเส้นด้าย ผลกลม สีแดง ออกรวมกันเป็นกลุ่มและแต่ละผลยังคงมีหลอดท่อรังไข่ติดอยู่ที่ปลายผล

พลับพลึงธารเป็นพันธุ์ไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย นักพฤกษศาสตร์จึงตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติ และเพื่อแสดงว่ามิถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบขึ้นอยู่ที่คลองนาคา ตำบลนางย่อน อำเภอกะเปอร์ จังหวัด ระนอง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ 50 เมตร สองฝั่งคลองเป็นป่าดิบที่สภาพยังดีมาก เนื่องจากอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา ลำคลอง มีน้ำใสไหลเย็นตลอดปี พื้นคลองช่วงที่พลับพลึงธารขึ้น จะเป็นดินทรายปนกรวดและหิน นอกจากที่แห่งนี้ยังไม่ปรากฏว่าพบที่ใดอีกเลย มีจำนวนไม่มากนักขยายพันธุ์ไม่พอกันกับที่มีผู้ไปขุดเก็บเอาไป จึงเป็นที่น่าวิตกว่าจะหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว และการนำไปปลูกที่อื่นที่สภาพสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย พลับพลึงธารก็จะไม่ออกดอกเลย พลับพลึงธารโดยปกติจะออกดอกระหว่างเดือนพฤศจิกายนต่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ในปีถัดไป

3. มณเฑียรทอง (Torenia hirsutissima Bonati) เป็นพืชล้มลุกกึ่งเลื้อยสูงไม่เกินหนึ่งเมตร ลำต้นมักทอดเอนไปตามพื้นดิน มีขนยาว ๆ สีขาวตลอดลำต้น ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ และแต่ละคู่สลับทิศทางกัน ใบรูปไข่ กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีขนทั่วไป โคนใบป้านและค่อย ๆ เรียวแหลมไปทางปลายใบ ขอบใบหยักถี่ ๆ ดอกโตสีเหลืองสดใส ออกเดี่ยว ๆ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ ก้านดอกอาจยาวถึง 3 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอกมี 5 แฉกแหลม ๆ โคนกลีบติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกรูปแตรปากกว้าง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายผายกว้างและแยกเป็น 5 แฉกตื้น ๆ สามแฉกล่างขนาดไล่เลี่ยกัน ส่วนสองแฉกบนจะประสานกันเป็นสันแหลม เกสรผู้มีสองคู่ สั้นหนึ่งคู่ยาวหนึ่งคู่ ทั้งคู่ติดอยู่โคนหลอดกลีบดอกด้านใน ผลรูปยาวรี ๆ พอแก่จะแตกตามรอยประสาน เผยให้เห็นเมล็ดเล็ก ๆ มากมาย

มณเฑียรทอง พบขึ้นเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ตามทุ่งหญ้า ชายป่าดงดิบเขาบนภูกระดึง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ 1,000 เมตร พื้นที่ค่อนข้างชุ่มชื้นหรือแฉะเล็กน้อย ดินค่อนข้างเป็นดินทราย และพบเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น โชคดีที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จึงทำให้ปลอดภัยอยู่ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าการแพร่พันธุ์อยู่ในเขตจำกัดมาก ถ้าบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ มณเฑียรทองก็อาจจะสาบสูญไปก็ได้ปกติมณเฑียรทองจะออกดอกบานสะพรั่งในระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม

4. ชมพูพาน (Wightia speciosissima Merr.) เป็นไม้ต้น สูงไม่เกิน 5 เมตร เป็นพืชอิงอาศัยกิ่งก้านเปราะ เปลือกเรียบและมีรูถ่ายเทอากาศกระจายทั่วไป ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปมนแกมรูปไข่ กว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร เนื้อใบหนา เปราะ หลังใบเกลี้ยงส่วนท้องใบมีขนประปรายในช่วงระยะ ที่เป็นใบอ่อน เส้นแขนงใบมี 4-6 คู่ ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย ก้านใบบวมพอง ยาว 2-4 เซนติเมตร ช่อดอกยาว 10-15 ซม. ออกตามง่ามใบหรือเหนือรอยแผลใบ ปลายช่อชี้ชันขึ้น ดอกสีชมพูแกมขาว ออกรวมกันเป็นกลุ่มแน่นบนช่อกลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นกรวย ปลายกลีบ หยักมนตื้น ๆ พอมองเห็นได้เป็น 5 ลอน โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดโค้งเล็กน้อย โคนหลอดเรียวแต่จะผายกว้างออกไปทางปลายแล้วแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ สองกลีบบนจะชี้ตรงขึ้น ส่วนที่เหลืออีกสามกลีบจะแผ่ในแนวระดับหรือลู่ลงเล็กน้อย เกสรผู้ 4 อัน แยกเป็นสองคู่ ยาวหนึ่งคู่และสั้นหนึ่งคู่ ติดอยู่ใกล้ปากหลอด กลีบดอกด้านใน และยาวยื่นพ้นปากหลอดออกมาพอควร ผล กลมยาว ผิวค่อนข้างหนา

ชมพูพาน มีพบที่ชายป่าดงดิบเขาต่อกับทุ่งหญ้า บนภูกระดึง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ 1,000 เมตร ขึ้นอยู่เป็นกลุ่มเพียง 2-3 ต้นเท่านั้นกล้าไม้ หรือต้นอ่อนไม่ปรากฏ จึงสมควรที่จะได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ และตามเอกสารพันธุ์ไม้นี้พอมีปรากฏบริเวณเทือกเขาหิมาลัยตอนกลางและตอนใต้ สู่แคว้นสิขิมและประเทศเนปาล และแพร่ไปถึงชวา ปกติชมพูพานจะออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมต่อถึงมกราคม ในปีกัดไป

5. ลาพรรษา (Euchresta horsfieldii (Lesch) Ben.) ไม้ต้นเล็ก สูงไม่เกินหนึ่งเมตร ลำต้นโตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ เกลี้ยง ไม่ค่อยมีกิ่งก้าน ใบเป็นช่อ ช่อหนึ่ง ๆ มีใบย่อย 3-5-7 ใบ ช่อใบติดเรียงสลับกัน ส่วนใบย่อยติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ยกเว้นใบที่อยู่ปลายสุดของช่อจะเป็นใบเดี่ยว ๆ ใบย่อยรูปมนกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร โคนใบสอบหรือเบี้ยวเล็กน้อย

ปลายใบหยักคอดเป็นหางยาวเล็กน้อย เนื้อใบเกลี้ยงและค่อนข้างหนา ดอกสีขาว ลักษณะเหมือนดอกถั่ว ทั่ว ๆ ไปออกรวมกันเป็นช่อยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ที่ปลายสุดของลำต้น ช่อมักตั้งชี้ขึ้น ผลกลมรี ๆ มีเนื้อเยื่อหุ้มเมล็ดคล้าย ๆ ผลพวกสะเดา ขนาดผลโต วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และยาว 1.5-2 เซนติเมตร

ลาพรรษา มีพบขึ้นบริเวณป่าดงดิบชื้น เทือกดอยอินทนนท์ ระดับความสูงจากนํ้าทะเล 1,400-1,500 เมตร บริเวณนั้นจะชื้นแฉะและมีธารนํ้าไหลผ่านตลอดปี เป็นพืชทนร่มหรือชอบร่มมาก ในอดีตเคยมีผู้พบที่แหล่งนํ้าซับดอยอ่างกา (คนละยอดกับดอยอินทนนท์ในปัจจุบัน) แต่เดี๋ยวนี้บริเวณนั้น ได้เปลี่ยนสภาพเป็นนาข้าวและไร่ของชาวเขาไปแล้ว คงเหลืออีกเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และเนื่องจากความเจริญเข้าไปใกล้ กล่าวคือเริ่มมีถนนตัดผ่านเข้าไปใกล้ดงดิบ และมีการไปตั้งศูนย์ส่งเสริมการเพาะปลูก แต่ชาวเขาในบริเวณใกล้ ๆ กับที่ต้นลาพรรษาครอบครองอยู่ และเท่าที่สังเกตดูมีการวางแผนจับจองพื้นที่ โดยเอาไม้มาล้อมเป็นแปลง ๆ กันแล้ว ถ้าทางอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ไม่ค่อยควบคุมอย่างใกล้ชิด ต้นลาพรรษาก็คงจะต้องลาประเทศไทยไปด้วยในเวลาไม่นานเกินรอ และไม่เพียงแต่ต้นลาพรรษาเท่านั้น พันธุ์พืชกลุ่มน้อยพวกพืชใบแคบ (gymnosperm) ที่หายากอีกบางชนิดที่ยังพอมีแม่พันธุ์ ขนาดโตวัดเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 200 ซม. ที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่ ในป่าหย่อมนี้ก็คงจะหมดไปด้วยเช่นกัน ปกติต้นลาพรรษาจะออกดอกระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน และไม่ค่อยออกทุกปี เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ป่าดงดิบ

6. บัวทอง (Hypericum garrettii Craib) เป็นไม้พุ่มเตี้ยสูงไม่เกิน 1.5 เมตร มักขึ้นรวมกันเป็นกอโต ๆ ตามที่โล่งบนภูเขาที่สูงจากระดับนํ้าทะเลตั้งแต่ 2,000 เมตรขึ้นไป ลำต้นแข็ง เกลี้ยง กิ่งอ่อนมักเป็นสี่เหลี่ยมตามยาว ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ติดตรงข้ามเป็นคู่ ๆ และแต่ละคู่สลับทิศทางกันใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก โคนใบมนและค่อย ๆ สอบเรียวไปทางปลายใบ หลังใบค่อนข้างเกลี้ยงและสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีขนประปรายและออกเป็นคราบขาว ดอกโต สีเหลืองสด เวลาบานเต็มที่ วัดผ่าศูนย์กลางได้ 3-5 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบรองกลีบดอกและกลีบดอกอย่างละ 5 กลีบ กลีบดอกรูปไข่กลับและงองุ้มเป็นกระพุ้ง โคนกลีบสอบ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออก เกสรผู้เป็นเส้นเรียวโค้ง 5 อัน ยาวไล่เลี่ยกับหลอดท่อรังไข่ที่มีอันเดียวตรงกลาง แต่ทั้งหมดยาวไม่เกินกลีบดอก ผลรูปกระสวย พอแก่จะแตกออกตามรอยประสาน โปรยเมล็ดเล็ก ๆ ที่มีมากมายในผล

บัวทอง เป็นพันธุ์ไม้ที่พบครั้งแรก และมีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น นักพฤกษศาสตร์ได้ตั้งชื่อ ให้เป็นเกียรติแก่ Mr. H. G. B. Garrett ชาวอังกฤษ ที่ได้ใช้เวลาช่วงท้ายของชีวิตทำงานด้านการสำรวจพันธุ์ไม้ไทยบริเวณเทือกเขาดอยอินทนนท์และดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ท่านผู้นี้มีความละเอียดประณีตในการเก็บหาพันธุ์ไม้มาก จากจำนวนพันธุ์ไม้ ที่เก็บไม่น้อยกว่า 1,500 หมายเลขนั้นแทบจะไม่ซํ้าชนิดกันเลย สำหรับต้นบัวทองท่านได้เก็บจากดอยอินทนนท์ที่ระดับความสูงประมาณ 2,300 เมตร บริเวณทุ่งหญ้าต่อเนื่องกับป่าดงดิบเขา มักจะมีหมอกและนํ้าค้างมากตลอดปี บริเวณนี้ในปัจจุบันได้มีการก่อสร้างอาคาร ต่าง ๆ ขึ้นมา ทำให้เบียดเอาพื้นที่ที่กลุ่มบัวทองขึ้นอยู่ไปเกือบหมด จำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจและเอาใจใส่ดูแลให้มากยิ่งขึ้น ปกติบัวทองจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม บางทีก็ต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม

7. นางอั้ว (Pecteilis susannae Rafin) เป็นพวกกล้วยไม้ดินที่มีหัวหรือเหง้าอยู่ในดิน ในฤดูแล้งลำต้นจะเหี่ยวแห้งไป พอถึงฤดูฝนก็จะแทงลำขึ้นมาใหม่ ลำจะขึ้นเป็นลำเดี่ยว ๆ สูง 20-30 เซนติเมตร หรือบางทีสูงถึงหนึ่งเมตร ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวรูปหอกติดเรียงสลับ ดอกใหญ่สีขาว ออกรวมกันเป็นช่อที่ปลายลำต้น ช่อหนึ่ง ๆ มี 3-4 ดอก มีกลิ่นหอมดอกบานเต็มที่โตวัดผ่าศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอกรูปขอบขนานแคบ ๆ กลีบกระเป๋า รูปสามเหลี่ยมกว้าง ๆ ส่วนปลายกลีบหูกระเป๋าจะจักเป็นครุยที่ปลายกลีบทั้งสองข้าง ส่วนเดือยมักยาวเป็นสองเท่าของดอกบาน

นางอั้ว มักพบขึ้นอยู่ตามป่าโคกหรือป่าเต็ง – รัง ที่มีดินปนทรายและมีอินทรีย์วัตถุผสมอยู่มาก ๆ ตามบริเวณใกล้ลำห้วย แต่เดิมนางอั้วคล้ายกับเป็นพันธุ์ไม้ต้องห้ามที่ไม่มีการนำเข้ามาปลูกตามบ้านเรือน เพราะประชาชนยึดมั่นกับตำนานโบราณเรื่องท้าวขูลูและนางอั้ว กล่าวว่าทั้งสองเป็นลูกของเจ้าเมืองต่างแคว้นกัน เกิดรักใคร่ชอบพอกัน แต่มีเหตุจำพรากไม่อาจจะอยู่ร่วมด้วยกันได้ นางอั้วถึงกับไปผูกคอตายในป่า ท้าวขูลูทราบก็มาแทงตัวเองตายตาม ศพทั้งสองฝังไว้เคียงกัน ด้วยผลแห่งความมั่นคงในความรักของทั้งสองท่าน ทำให้เกิดต้นไม้ดอกสีขาวขึ้นมาจากหลุมศพสองชนิด ซึ่งได้รับการขนานนามว่า นางอั้วชนิดหนึ่งกับท้าวขูลูอีกชนิดหนึ่ง ชาวบ้านเลยถือว่าต้นไม้ทั้งสองมีเจ้าสิงสถิตอยู่ และกลัวว่าจะมีอันเป็นไปซํ้ารอยกับตำนานถ้าเอาต้นไม้นี้มาปลูกในบ้าน แต่ในปัจจุบันแม้ว่าจะเคยปรากฏว่าเราพบนางอั้วในป่า ท้องที่จังหวัดต่าง ๆ หลายจังหวัดก็ตามแต่นางอั้ว และท้าวขูลูก็แทบจะไม่มีที่จะอยู่ เพราะป่าที่ต้นไม้ทั้งสองชนิดนี้ชอบขึ้นอยู่นั้นเป็นทำเลที่เหมาะแก่การทำไร่ทำนา เพราะค่อนข้างเป็นที่ราบใกล้นํ้ามีปุ๋ยค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และในขณะเดียวกันมีพวก พ่อค้าหัวใสไปเก็บหามาขาย (และส่วนมากก็เหี่ยวเฉาตายไป) กันมาก จึงทำท่าว่านางอั้วจะสูญพันธุ์ไปในเวลาอันใกล้นี้ ปกตินางอั้วจะออกดอกในช่วงฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน

8. เต่าร้างยักษ์ (Coryota obtusa Griff.var. aequitorialis Becc.) เป็นปาล์มขนาดใหญ่ สูงถึง 20 เมตร โตวัดรอบถึง 100 เซนติเมตร ขึ้นเป็นต้นเดี่ยว ๆ ไม่แตกกอ เปลือกสีเทามีรอยแผลใบเป็นวง ๆ ตามขวาง โคนต้นมีรากอากาศจากพื้นดิน สูงขึ้นมาประมาณครึ่งเมตรคล้ายรากต้นมะพร้าวเรือนยอดรูปทรงกระบอกประมาณหนึ่งในสามของความสูงทั้งหมด ประกอบด้วยช่อใบที่เป็นแบบขนนกสองชั้น ทางใบนี้ยาว 3-5 เมตร ปลายทางใบจะลู่ลง โคนแผ่เป็นกาบใหญ่แนบไปตามลำต้นคล้ายกาบต้นหมาก แต่ละทางใบประกอบด้วยแขนงย่อยที่ติด เรียงสลับกันมาก แต่ละแขนงย่อยยาวถึงหนึ่งเมตร ปลายแขนงจะโค้งลู่ลงเช่นกัน แขนงหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยใบย่อยรูปหางปลาหรือรูปทรงสามเหลี่ยมกราย ๆ มาก ช่อดอกอ่อนเป็นพวงใหญ่ ก้านช่อแข็งและค่อนข้างสั้น แทงออกเหนือโคนกาบหรือเหนือรอยแผลใบ ช่อหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยนิ้ว หรือช่อแขนงมาก นิ้วเหล่านี้ยาวถึงหนึ่งเมตรห้อยลู่ลงเป็นพวง แต่ละนิ้วประกอบด้วยดอกสีขาวอมเหลืองมากมาย ทั้งกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละสามกลีบ เกสรผู้มีมากดอกเพศผู้ และเมียอยู่ต่างดอกกันแต่อยู่ในช่อเดียวกัน ปลายหลอดท่อรังไข่มี 3 แฉก ผลกลม แข็ง เปลือกหนา ผลหนึ่ง ๆ มี 1-3 เมล็ด

เต่าร้างยักษ์ เท่าที่เคยพบมีที่เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช นํ้าตกสิริ-ภูมิ จังหวัดเชียงใหม่ และดอยเชียงดาว จังหวัดจันทบุรี แต่แปลกที่พบแห่งละหนึ่งต้นเท่านั้นที่เขาหลวง เมื่อพยายามไปหาอีกก็หาไม่พบเสียแล้ว ส่วนที่นํ้าตกสิริ-ภูมิ ก็อยู่ในเขตคุ้มครองของชาวเขา คงมีที่สอยดาว ซึ่งไปพบเมื่อต้นปี 2531 นี้เองที่ยังอยู่ในป่าธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามเอกสารปรากฏว่า เต่าร้างยักษ์ มีลำต้นที่ให้แป้งอย่างดี ยอดอ่อนใช้รับประทานได้แทนผักเช่นเดียวกับยอดอ่อนของต้นมะพร้าว ส่วนช่อหรือนิ้วอ่อนให้นํ้าตาลได้เช่นเดียวกับต้นตาลหรือต้นมะพร้าว และถ้าเลี้ยงผึ้ง ดอกเต่าร้างยักษ์จะเป็นแหล่งหาอาหารของผึ้งได้อย่างดี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เอื้อและทำลายต้นเต่าร้างยักษ์ไปในตัว และอุปนิสัยบางประการที่ยากแก่การปรับตัว เช่น ชอบขึ้นตามป่าดงดิบที่ชุ่มชื่นแต่ไม่มีนํ้าขังแฉะ และไม่ชอบถูกเบียดบังร่มมาก ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การแพร่พันธุ์ โดยธรรมชาติแทบจะไม่ได้ผลเลย จึงควรที่จะต้องให้ความสนใจช่วยเหลือเป็นพิเศษ ปกติเต่าร้างยักษ์จะออกดอกช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม

9. กันภัย (Afgekia mahidolae Burtt & Chermsirivat.) เป็นไม้เถาขนาดกลาง มีขนสาก ๆ ทั่วไป มักเลื้อยขึ้นคลุมไม้พุ่มเตี้ยตามเชิงเขาหินปูน ใบเป็นช่อติดเรียงสลับ ช่อหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยใบย่อยที่ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ 3-7 คู่ แต่ใบปลายสุดของก้านช่อเป็นใบเดี่ยว ๆ ใบย่อยรูปมนแกมรูปขอบขนาน โคนใบมนแล้วค่อย ๆ สอบเรียวไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมทู่ ๆ หลังใบสีเขียวเข้มส่วนท้องใบสีจาง และมีขนสาก ๆ ทั้งสองด้าน ตามโคนก้านช่อและก้านใบย่อย จะมีหูใบเรียวแหลมเล็ก ๆ หนึ่งคู่ ดอกสีม่วง ลักษณะเหมือนดอกถั่วทั่ว ๆ ไป ออกรวมกันเป็นช่อโค้งงอนขึ้นตามปลายกิ่ง ดอกจะบานจากทางโคนช่อไปสู่ปลายช่อตรงโคนกลีบคลุมด้านในมีจุดสีเหลือง มีขนสาก ๆ ทั่วไป ผลเป็นฝักแบน ๆ มีขนทั่วไป

กันภัย พบครั้งแรกในประเทศไทย และยังไม่ปรากฏว่ามีกระจายไปในภูมิภาคอื่น ๆ นักพฤกษศาสตร์ได้ขนานนามขึ้นเพื่อเป็นพระเกียรติ แต่องค์สมเด็จพระศรีนครินทราฯ กันภัยพบในบริเวณเชิงเขาหินปูน อำเภอไทรโยค (ใกล้สถานีรถไฟนํ้าตก) เพียงจุดเดียวเท่านั้น

การสำรวจพันธุ์ไม้เพื่อให้ทราบชนิด และปริมาณที่แน่นอนคงจะต้องดำเนินต่อไปอีกนานเท่านาน เพราะจนกระทั่งปัจจุบันนี้ พันธุ์ไม้ที่ได้สำรวจทบทวน และพิมพ์ออกเผยแพร่ในรูปของพันธุ์ไม้ของประเทศ ไทย (Flora of Thailand) ดำเนินไปได้เพียง 9 ตอน รวมพันธุ์ไม้ 82 วงศ์เท่านั้น ยังคงจะต้องดำเนินการอีกไม่น้อยกว่า 204 วงศ์ จึงจะเสร็จสมบูรณ์ ในช่วงนี้คงจะต้องมีพันธุ์ไม้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นและพันธุ์ไม้เก่า ลดลงไปเป็นธรรมดา แต่การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ในลักษณะพิเศษ เพื่อคงไว้สำหรับพันธุ์ไม้ที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยชนิด ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้จะสำเร็จไปได้ด้วยดีก็จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล

10. ขมิ้นต้น (Mahonia siamensis Takeda) เป็นไม้ต้นขนาดเล็กสูง 5-8 เมตร ลำต้นมักคดงอและเป็นปุ่มปม กิ่งเรือนยอดมักแผ่ออกเป็นรูปร่ม ตามกิ่งอ่อนจะมีรอยแผลใบโต ๆ ทั่วไป เปลือกลำต้นค่อนข้างขรุขระ เนื้อไม้สีเหลืองเหมือนขมิ้น จึงใช้สีสำหรับย้อมผ้าได้เป็นอย่างดี ใบเป็นช่อยาวถึง 40 เซนติเมตร ติดเรียงเวียนสลับตามปลาย ๆ กิ่ง โคนก้านช่ออวบใหญ่แผ่เป็นกาบโอบหุ้มกิ่ง และมีหูใบแหลม ๆ ที่โคนก้านหนึ่งคู่ ช่อหนึ่ง ๆ มีใบย่อยติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ 7-8 คู่ ส่วนใบย่อยที่ปลายสุดของช่อ เป็นใบเดี่ยว ๆ ใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน โคนใบเบี้ยว เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง ขอบใบหยักห่าง ๆ ปลายหยักเป็นหนามแหลม ๆ เส้นใบออกจากจุดโคนใบ 3-5 เส้น ดอกสีเหลือง ออกรวมกันเป็นช่อ โต ๆ ที่ปลายกิ่ง ๆ ละหลายช่อและปลายช่อแต่ละช่อจะงอนโค้งชี้ขึ้น ช่อหนึ่ง ๆ ยาว 15-25 เซนติเมตร ทั้งกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีรูปร่างและสี คล้ายกันมาก รวม 15 กลีบ แต่ละกลีบสั้นยาวไม่เท่ากัน เรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ละ 3 กลีบ โคนกลีบของชั้นที่ 4 และที่ 5 มีต่อมนํ้าหวานกลีบละ 2 ต่อม และมีเกสรผู้แซมอยู่ระหว่างกลางของต่อมนํ้าหวาน กลีบละหนึ่งอัน รวมเป็นเกสร 6 อัน รังไข่รูปกลมรี ๆ มีหลอดท่อเกสรเมียอันเดียวสั้น ๆ ผลกลม โตวัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 มม. ที่ปลายผลยังคงมีก้านหลอดเกสรเมียติดอยู่

ขมิ้นต้น เป็นพันธุ์ไม้ภูเขาที่อยู่สูงจากระดับนํ้าทะเลไม่น้อยกว่า 1,200 เมตร พบครั้งแรกในประเทศไทย ที่ดอยสุเทพ-ปุย นักพฤกษศาสตร์ จึงตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ประเทศ และเท่าที่ปรากฏยังไม่พบตามแหล่งอื่น ๆ อีกเลย อีกทั้งกล้าไม้แทบจะไม่ปรากฏ จึงสมควรที่จะได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ ปกติขมิ้นต้นจะออกดอกเป็นผลระหว่างเดือนตุลาคม ต่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีกัดไป เวลาออกดอกจะสวยงามมาก ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งกล้าไม้ขมิ้นต้นนี้ไปปลูกที่สวนนานาชาติ ประเทศเบลเยียม และประเทศตุรกี เพื่อให้เป็นตัวแทนพันธุ์ไม้ของไทย ถ้าหากขมิ้นต้นจะคงทนต่อสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้ ก็จะเป็นการเผยแพร่พันธุ์ไม้ที่มีดอกสวย ๆ ของไทยให้ต่างประเทศได้รู้จักเป็นอย่างดี

11. ดอกหรีด [Gentiana hesseliana Hoss.var. lakshnakarae (Kerr) Toyokuni] เป็นพืชล้มลุกเล็ก ๆ สูงจากพื้นดินขึ้นมาไม่เกิน 5 เซนติเมตร ส่วนมากแล้วลำต้นจะไม่แยกแขนง ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ใบรูปหอกปลายเรียวแหลม หลังจีบเป็นรูปรางนํ้าเรียงซ้อนเวียนกันแน่นดูเป็นวงกลมจากพื้นดิน ดอกรูปดาว สีม่วงเข้ม ออกที่ยอดสุดของลำต้นเป็นกระจุกรวมกัน 2-8 ดอก จึงทำให้ดูเหมือนว่าดอกอยู่ในวงล้อมของใบ ดอกจะทยอยบานกันจนหมด โคนของกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกจะติดกันเป็นกรวย, ส่วนปลายของกลีบดอกแยกเป็นแฉกยาวแหลม ๆ 5 แฉก กับแฉกสั้นคั่นระหว่างแฉกยาวอีก 5 แฉก ผิวด้านในของหลอดรวมทั้งเส้าเกสรจะมีสีเหลืองอ่อน ตัดกับสีม่วงของกลีบดูเด่นสวยดี เกสรผู้มี 6 อัน โคนก้านติดกับผิวหลอดด้านใน ส่วน หลอดท่อเกสรเมียมีอันเดียว และที่ปลายหลอดแยกเป็น 2 แฉก ปลายแฉกโค้งลงเล็กน้อย รังไข่เล็ก ๆ รูปไข่กลับ ผลเป็นชนิดผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกตามรอยประสานตามยาว

ดอกหรีด เป็นพันธุ์พืชภูเขา ที่ขึ้นอยู่สูงจากระดับนํ้าทะเลประมาณ 1,200 เมตร พบครั้งแรกในประเทศไทยที่ภูกระดึง จังหวัดเลย นักพฤกษศาสตร์ ได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ม.จ.ลักษณากร เกษมสันต์ อดีตอธิบดีกรมกสิกรรม และผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เท่าที่ปรากฏมีพบขึ้นเป็นกระจุก หรือเป็นกลุ่มตามชายทุ่งหญ้า บนภูกระดึงแห่งเดียวเท่านั้น และพันธุ์ไม้พวกนี้มักเกาะอยู่ตามลานหินที่ง่ายแก่การที่นํ้าจะพัดพาไปในช่วงที่ฝนตกมาก ๆ รวมทั้งในฤดูแล้งมักจะมีไฟเผาไหม้บ่อย ๆ จึงเป็นที่น่าห่วงว่าดอกหรีดอาจจะสูญสิ้นไปได้ในอนาคต ปกติดอกหรีดจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนต่อถึงกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ดอกหรีดจะเริ่มบานรับแสงแดดยามเช้าแล้วค่อย ๆ หุบในช่วงใกล้เที่ยงวัน หมุนเวียนอยู่เช่นนี้เรื่อยไป

12. ดองดึง (Gloriosa superba Linn.) พืชกึ่งเถากึ่งพืชล้มลุกที่มีเหง้าหรือรากที่อวบน้ำอยู่ในดิน ชูลำต้นเรียวแข็ง ๆ เหมือนเส้นลวดสูงขึ้นมา 1-3 เมตร เลื้อยทอดไปตามยอดหญ้าหรือไม้พุ่มเล็ก ๆ ด้วยการอาศัยปลายใบที่เรียวและม้วนตัวเป็นมือยึดช่วยพยุงลำต้น ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวรูปหอก ออกตามข้อลำต้น ข้อละ 1-3 ใบ โคนใบผายกว้างไม่มีก้านใบและจะค่อย ๆ เรียวเป็นหางยาวไปทางปลายใบ ดอกสีเหลืองแดง ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ก้านช่อเรียวยาวและชูตั้งขึ้น กลีบดอกมี 6 อัน รูปเรียวขนาดไล่เลี่ยกันยาวถึง 9 เซนติเมตร ปลายกลีบชี้ย้อนกลับ ส่วนขอบกลีบเป็นคลื่นขยุกขยิก ในระยะแรก ๆ ช่วงปลายกลีบสีแดงส่วนโคนกลีบสีเหลืองอมเขียว แต่พอใกล้ ๆ จะโรยจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ทั้งหมด เกสรผู้ 6 อัน จะชี้ในแนวนอนหรือค่อนจะตั้งฉากกับกลีบดอก ก้านอับเรณูยาวถึง 4 เซนติเมตร ส่วนอับเรณูจะหมุนไปมาได้เมื่อต้องลม รังไข่รูปรี ๆ หลอดท่อรังไข่ยาวไล่เลี่ยกับเกสรผู้ จะหักเฉทำมุมเกือบเป็นมุมฉากกับรังไข่ ผลเป็นฝักแห้งยาวประมาณ 4 เซนติเมตร

ดองดึง เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบขึ้นตามดินทรายชายป่าละเมาะใกล้ ๆ ทะเลเป็นส่วนใหญ่ มีเขตการกระจายแพร่พันธุ์ค่อนจะกว้างขวางทั้งในเอเชีย และทวีปอัฟริกา เท่าที่พบในประเทศไทยมีเพียงชนิดเดียว กล่าวกันว่า รากหรือเหง้าดองดึงเป็นยาสมุนไพรที่แก้ได้สารพัดโรค ตั้งแต่โรคผิวหนัง โรคไขข้อ จนถึงโรคหนองใน อีกทั้งเวลาออกดอก ซึ่งก็มักจะออกตลอดปีเสียด้วย มีความสวยสะดุดตาต่อผู้พบเห็น และง่ายแก่การขุดนำพาไป จึงเป็นสาเหตุให้ดองดึงลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว จนแทบจะหาดูตามธรรมชาติไม่ได้แล้วในเวลานี้

13. ถั่วแปบช้าง (Afgekia sericea Craib) เป็นไม้เถาขนาดกลาง มีขนสีเทานุ่มคลุมตามลำต้น มักเลื้อยคลุมยอดหญ้าและไม้พุ่มเตี้ยตามป่าเต็ง-รัง ใบเป็นช่อติดเรียงสลับช่อหนึ่ง ๆ ประกอบด้วยใบย่อยที่ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ 4-5 คู่ แต่ใบปลายสดของก้านช่อเป็นใบเดี่ยว ๆ ใบย่อยเหล่านี้ รูปมนแกมรูปขอบขนาน โคนใบมนแล้วค่อย ๆ สอบเรียวเล็กน้อยไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมทู่ หลังใบสีเขียวมีขนสั้น ๆ ประปรายส่วนท้องใบมีขนละเอียด เป็นเส้นไหมสีเงินเป็นมันลู่ราบไปตามผิว จับดูจะรู้สึกนุ่มมือ ตามโคนก้านช่อและก้านใบย่อยจะมีหูใบเรียวแหลมเล็ก ๆ หนึ่งคู่ ดอกสีชมพูอมขาว ลักษณะเหมือนดอกถั่วทั่ว ๆ ไป ออกรวมกันเป็นช่อแน่น ยาวประมาณ 18 เซนติเมตร ช่ออ่อนถ้าดูอย่างผิวเผิน มีรูปทรงคล้ายปรางค์ขอม จะมีกาบรองดอกสีกลีบบัว หุ้มที่โคนช่อ เกสรมี 10 อัน แยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 อัน ซึ่งโคนก้านเกสรจะติดกัน อีกกลุ่มหนึ่งมีอันเดียวโดด ๆ หลอดท่อเกสรเมียมีอันเดียว และยาวยื่นออกมาจากดอกเห็นได้ชัด ผลเป็นฝักพอง ๆ ผิวแข็ง มีขนนุ่มสีขาวปกคลุมตลอดภายในมี 1-2 เมล็ด ฝักแก่จะแตกอ้าออกตามรอยประสาน

ถั่วแปบช้าง พบครั้งแรกในประเทศไทย และยังไม่ปรากฎว่ามีกระจายไปในภูมิภาคอื่น ๆ เท่าที่พบ มีอยู่ในป่าเต็ง-รัง ท้องที่ป่าสะแกราช อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น รูปร่าง ลักษณะคล้ายกับกันภัย (Afgekia ทาahidolae) มาก ต่างกันที่ถั่วแปบช้างจะมีช่อโตและแน่นมากกว่า และท้องใบของถั่วแปบช้างจะมีขนนุ่มแน่นสีขาวเป็นมัน ส่วนท้องใบของกันภัยเป็นขนสาก ๆ ห่าง ๆ เท่านั้น และแหล่งที่เกิดก็แตกต่างกันคือกันภัยชอบดินตามเขาหินปูน ส่วนถั่วแปบช้างชอบดินลูกรัง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองชนิดก็มีอยู่น้อยมาก ควรที่จะได้อนุรักษ์ไว้ ถ้าหากจะได้หามาปลูกคู่กันเป็นการเปรียบเทียบ และเป็นพืชประดับสวนก็คงจะสวยงามดีมาก

14. สามพันปี [Dacrydium elatum (Roxb.) Wall.ex.Hook] ไม้ต้นสูงถึง 35 เมตร เรือนยอดรูปเห็ดหรือรูปกรวยคว่ำค่อนข้างทึบ กิ่งลู่ห้อยย้อยลง เปลือกลำต้นเป็นสะเก็ดสีนํ้าตาลปนเทาเมื่อสะเก็ดหลุดใหม่ ๆ จะทำให้ผิวเปลือกเป็นรอยด่างแต้มอยู่ทั่วไป ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวมีสองแบบ ถ้าเป็นใบอ่อนหรือตามกิ่งที่ยังไม่มีดอกออกผล ใบจะเรียวคล้ายหนามหรือเส้นลวดโค้ง ๆ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ติดเวียนซ้อนกันตามกิ่งเป็นพวงคล้ายหางกระรอก ถ้าใบที่อยู่ตามกิ่งที่มีดอกออกผล ใบจะเปลี่ยนรูปเป็นเกล็ดรูปสามเหลี่ยมกอดแนบไปตามกิ่งดอก ดอกเพศผู้และเมียอยู่ต่างช่อหรือต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะออกรวมกันเป็นช่อที่ปลายกิ่งเป็นรูปกระบองเล็ก ๆ ยาวไม่เกินหนึ่งเซนติเมตร ดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยว ๆ ออกตามปลายกิ่งย่อยเช่นกัน โคนดอกจะมีกาบเล็ก ๆ ประสานหุ้มอยู่ ผลรูปไข่เล็ก ผิวเกลี้ยงสีน้ำตาล ติดอยู่บนฐานผลสีแดงเข้มที่ค่อนข้างบวมพองรองรับอยู่

สามพันปี เป็นพันธุ์ไม้ภูเขาที่อยู่สูงจากระดับนํ้าทะเล ตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เท่าที่พบมีบนภูกระดึง และภูหลวง จังหวัดเลย ภูเมี่ยง จังหวัด พิษณุโลก ป่านํ้าหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ เขาเขียว จังหวัดนครนายก และเขากวบ จังหวัดตราด แต่มีแห่งละไม่มากนัก เพราะเมล็ดไม่ค่อยสมบูรณ์ งอกยากมาก อีกทั้งในช่วงเป็นกล้าไม้ชอบแสง ถ้าถูกพืชอื่นบังอยู่ก็จะตายไปหมด จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือในการสืบพันธุ์ และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วย ปกติสามพันปีจะออกดอกเป็นผลระหว่างเดือน ธันวาคมต่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป

ความจริงในวงศ์ (Family) นี้ อยากจะพูดถึงไม้ซางจิง Podocarpus motleyi (Pari.) Dummer มากกว่า แต่ไม่มีภาพประกอบ เพราะตั้งแต่สำรวจเก็บพันธุ์ไม้ในเมืองไทยมา มีการเก็บได้ครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่แปลก คือแทนที่จะขึ้นตามภูเขากลับไปขึ้นตามป่าพรุ พันธุ์ไม้นี้เก็บได้จากท้องที่จังหวัดนราธิวาส เข้าใจว่าคงจะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้วจริง ๆ ในเวลานี้

15. ไข่นกกระทา (Distylium indicum Benth.ex Clarke) เป็นไม้ต้นสูงไม่เกิน 8 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกเรียบสีนํ้าตาลอมเทา ใบเป็นชนิดใบเดี่ยวติดเรียงสลับรูปมนหรือรูปไข่กลับ กว้าง

3-6 เซนติเมตร ยาว 6-14 เซนติเมตร ปลายใบหยัก คอดเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือสอบเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนาเกลี้ยง ท้องใบมักเป็นคราบขาว เส้นใบย่อยจะเชื่อมต่อกัน กลายเป็นเส้นขอบใน ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน เป็นประเภทดอกเปลือย คือไม่มีกลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกรองรับ ออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ผลเป็นชนิดผลแห้ง รูปป้อม ๆ ผิวแข็ง พอแห้งจะแตกตามรอยประสานทางปลายผล

ไข่นกกระทา พบครั้งแรกในประเทศไทย ประมาณปี 2517 ที่บริเวณห้วยนํ้าพรม ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ต่อมาพบที่ ภูกระดึง จังหวัดเลย และ เขาเขียว จังหวัดชลบุรี ส่วนใหญ่จะพบบริเวณใกล้ห้วยในป่าดงดิบทั้งนั้น และมีปริมาณน้อยมาก เป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า ตามกิ่งของต้นไข่นกกระทานั้น จะมีปมสีนํ้าตาลที่เกิดจากการกระทำของเชื้อรา หรือแมลงบางชนิดติดอยู่ดูคล้าย ๆ กับเป็นผลของต้นไข่นกกระทา ปกติไข่นกกระทาจะออกดอกเป็นผลระหว่างเดือนมกราคม ถึงเมษายน ตามหอพรรณไม้ต่าง ๆ ของไทย มีตัวอย่างเก็บอยู่เพียง 3 หมายเลขเท่านั้น แสดงว่าค่อนข้างหายาก

16. มณฑาดอย (Talauma hodgsonii Hook.f & Thoms.) ไม้ต้นเล็กกึ่งไม้ต้นขนาดกลาง สูงไม่เกิน 15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกลำต้นเรียบ สีเทา ตามกิ่งอ่อนมีรอยแผลใบปรากฏอยู่ เห็นชัด และมีช่องระบายอากาศกระจายทั่วไป ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ติดเรียงเวียนสลับดูเป็นกลุ่มค่อนไปทางปลาย ๆ กิ่ง ทรงใบรูปไข่กลับ กว้าง 6-12 เซนติเมตร ยาว 19-45 เซนติเมตร เนื้อใบเนียนหนา เกลี้ยง ท้องใบเป็นคราบขาวเล็กน้อย ขอบใบมักเป็นคลื่น โคนก้านใบที่ติดกิ่งจะอวบบวมโตขึ้น ดอกสีนวล กลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ตามปลายกิ่ง รูปทรงกลมหรือมนโตวัดผ่ากลาง 3-4 เซนติเมตร กลีบดอกมี 9-(15) กลีบ แต่ละกลีบหนาและอวบนํ้า กลีบนอกจะโตและยาวกว่ากลีบข้างใน เกสรผู้ยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร รังไข่รูปป้อม ๆ เกลี้ยงผลประกอบด้วยผลย่อยที่แข็งเหมือนไม้อัดรวมกันแน่น เป็นรูปทรงกลมรี ๆ โตถึง 5 เซนติเมตร และยาวถึง 15 เซนติเมตร พอแก่จัดจะหลุดตามรอยประสาน เหลือแต่โครงแข็ง ๆ ที่มีเมล็ดห้อยอยู่ที่ปลายคล้ายตัวเบ็ดหรือก้างปลา โคนก้านโครงจะติดกับแกนไส้กลางดูเป็นพวง

มณฑาดอย เป็นพันธุ์ไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์ ในอินเดีย เนปาล ภูฐาน และพม่า สำหรับในประเทศไทย พอจะหาพบได้ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดพิจิตร แห่งละไม่มากนัก ที่สวนพฤกษศาสตร์ ภาคเหนือ (แม่สา) พบมีอยู่ตามชายลำห้วย 2-3 ต้น ถ้าหากไม่เกิดอันตรายจากแมลงหรือโรคราบางชนิดมาทำลายแล้ว ก็คงจะเป็นหลักประกันได้ว่า มณฑาดอย จะยังไม่สูญหายไปจากประเทศไทย

17. ยีหุบ (Talauma condollei Bl.) ไม้พุ่มเตี้ยหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 10 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกเรียบ ตามกิ่งอ่อนมีรอยแผลใบปรากฎอยู่เห็นชัด และมีช่องระบายอากาศกระจายทั่วไป ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดเรียงสลับเวียนกัน ดูเป็นกลุ่มค่อนไปทางปลาย ๆ กิ่ง ทรงใบรูปขอบขนานแคบ ๆ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนานกว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 7- 15 เซนติเมตร ปลายใบหยักเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบหรือมนและเบี้ยวเล็กน้อย เส้นแขนงใบมีไม่เกิน 12 คู่ ปลายเส้นจะจรดกับบริเวณใกล้ ๆ ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบเส้นร่างแหเห็นเด่นชัดมากทางด้านหลังใบ ส่วนท้องใบจะเป็นรอยบุ๋มหรือเป็นร่องตามแนวเส้นแขนงใบ เนื้อใบเกลี้ยงค่อนข้างหนา ท้องใบจะมีคราบขาวหรือสีจางกว่า ด้านหลังใบ โคนก้านใบที่ติดกับกิ่งจะอวบบวมโตขึ้น ดอกสีนวลถึงเหลืองอ่อน กลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ตามปลายกิ่ง ดอกตูมรูปกระสวยป้อม ๆ โตวัดผ่ากลาง 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กลีบดอกมี 9-15 กลีบ แต่ละกลีบหนา และอวบนํ้า กลีบนอกจะโตและยาวกว่ากลีบข้างในเกสรผู้ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร รังไข่รูปค่อนข้างเรียว เกลี้ยง ผลประกอบด้วยผลย่อยที่แข็งเหมือนไม้จำนวน 6-15 หน่วย อัดรวมกันแน่นเป็นรูปกระสวย พอแก่จัดจะหลุดตามรอยประสานเหลือแต่โครงแข็ง ๆ ที่มีเมล็ดห้อยอยู่ที่ปลาย คล้ายตัวเบ็ดหรือก้างปลา โคนก้านโครงจะติดกับแกนไส้กลางดูเป็นพวง

ยี่หุบ ต่างกับมณฑาดอย ตรงที่ผลที่มาเรียงอัดเป็นก้อนนั้นไม่มาก คือ มีจำนวนระหว่าง 6-15 ผลย่อยเท่านั้น ในขณะที่มณฑาดอยมีระหว่าง 30-50 ผลย่อย และใบยี่หุบมักออกเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ในขณะที่มณฑาดอยรูปไข่กลับ ยี่หุบเป็นพันธุ์ไม้ที่มีเขตการกระจายพันธุ์เข้าไปในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเขมร สำหรับในประเทศไทยพอมีพบบ้างตามป่าดงดิบชื้น ในท้องที่จังหวัดภาคใต้ เช่น สตูล สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นต้น แต่จำนวนน้อยมาก ที่สวนรุกขชาติห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกไว้หนึ่งต้น จะมีดอกให้ชมในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ทุก ๆ ปี

การสำรวจพันธุ์ไม้เพื่อให้ทราบชนิด และปริมาณที่แน่นอนคงจะต้องดำเนินต่อไปอีกนานเท่านาน เพราะจนกระทั่งปัจจุบันนี้ พันธุ์ไม้ที่ได้สำรวจทบทวน และพิมพ์ออกเผยแพร่ในรูปของพันธุ์ไม้ของประเทศ ไทย (Flora of Thailand) ดำเนินไปได้เพียง 9 ตอน รวมพันธุ์ไม้ 82 วงศ์เท่านั้น ยังคงจะต้องดำเนินการอีกไม่น้อยกว่า 204 วงศ์ จึงจะเสร็จสมบูรณ์ ในช่วงนี้ คงจะต้องมีพันธุ์ไม้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นและพันธุ์ไม้เก่า ลดลงไปเป็นธรรมดา แต่การอนุรักษ์พันธุ์ไม้ในลักษณะพิเศษ เพื่อคงไว้สำหรับพันธุ์ไม้ที่หายาก และกำลังจะสูญพันธุ์จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยชนิด ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้จะสำเร็จไปได้ด้วยดีก็จะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่าย ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาล