มะม่วง:ชี้เหตุมะม่วงออกดอกแล้วไม่ติดผล

ปัญหาที่ชาวสวนมะม่วงมักพบบ่อย ๆ ในระยะมะม่วงออกดอกหรือมะม่วงออกดอกแล้วจะไม่ติดผล  ส่วนใหญ่ดอกร่วงมาก กรมส่งเสริมการเกษตร  ชี้เหตุที่ทำให้มะม่วงไม่ติดผล  เพื่อให้เกษตรกรหาทางป้องกันและแก้ไข  ดังนี้ คือ

–          เพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยจั๊กจั่นจะเข้าดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก  ทำให้ช่อดอกไม่สมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังขับถ่ายสารที่เป็นอาหารของราดำ  ซึ่งเป็นผลให้มีราดำระบาดมากพร้อมกันด้วย

–          อายุของต้นมะม่วง อายุน้อยเกินไป ยังไม่ถึงวัยที่ควรจะติดผล  เมื่อออกช่อดอกแล้วส่วนใหญ่จะร่วงหมด

–          น้ำและอากาศ ดอกมะม่วงจะแห้งและร่วงเมื่อพบสภาพอากาศร้อนมากและสภาพพื้นที่ปลูกเป็นที่ดอน  ทำให้มะม่วงขาดน้ำ

–          ความสมบูรณ์ของมะม่วง ในสวนที่ขาดการบำรุงรักษาต้นมะม่วงมักจะไม่สมบูรณ์  แม้จะออกช่อดอกมากก็ตามจะร่วงหมดหรืออาจติดผลบ้างเพียงเล็กน้อย

–          ไม่มีแมลงช่วยผสมเกสร ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งที่มีการใช้สารเคมีฆ่าแมลงมาก จนมีผลกระทบต่อแมลงที่ช่วยผสมเกสรด้วย ทำให้ดอกไม่มีการผสมเกสรจึงร่วงไปหรืออาจเจริญต่อไปเป็นผลที่มีขนาดเล็ก เรียกว่า มะม่วงกระเทยก็ได้

–          ลักษณะประจำพันธุ์ของมะม่วง มะม่วงแต่ละพันธุ์จะมีปริมาณดอกกระเทยหรือดอกสมบูรณ์เพศมากน้อยต่างกัน  ดังนั้น โอกาสที่มะม่วงแต่ละพันธุ์จะติดผลจึงมีมากน้อยต่างกันด้วย

 

สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้มะม่วงไม่ติดผลหรือเกิดผลน้อย  ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้แนะนำวิธีการแก้ไขให้ทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป หรือท่านที่สนใจรายละเอียดสอบถามได้ที่ กลุ่มงานพืชสวน  กองส่งเสริมพืชพันธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 5793804 หรือ ที่เกษตรตำบล ประจำสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน

เตือนเกษตรกรระวังเพลี้ยไฟทำลายมะม่วง

ในขณะนี้  ชาวสวนมะม่วงหลายจังหวัดต่างประสบปัญหาการระบาดของเพลี้ยไฟ ซึ่งจัดเป็นศัตรูร้ายของมะม่วง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเพลี้ยจั๊กจั่น

เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็กลำตัวยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลปนเหลือง ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วในสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง  โดยตัวเต็มวัยจะดูดน้ำเลี้ยงบริเวณใบอ่อน ขั้วของผล หากเกิดขึ้นหรือมีการระบาดรุนแรง จะทำให้ดอกและผลร่วง ถ้าการระบาดไม่รุนแรงนัก  ผลมะม่วงจะเจริญเติบโตได้ตามปกติ  แต่จะมีรอยด้านสีน้ำตาลปรากฎชัดเจนบนผิวมะม่วงบริเวณใกล้ผล  นอกจากนี้ อาจทำให้ผลบิดเบี้ยวได้

กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำเกษตรกรให้ป้องกันและกำจัดโดยฉีดพ่นด้วยสารคาร์โบซัลแฟน  หรือ ไดเมทเอท ในอัตรา 3 ช้อนแกง/น้ำ 1 ปี๊บ ทำการฉีดพ่น 2-3 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 2 สัปดาห์ สนใจรายละเอียดสอบถามได้ที่เกษตรตำบล ประจำสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน