มะระขาว(Balsam Pear)


ลักษณะทั่วไป
ปลูกได้ตลอดปี แต่ต้องการการจัดการที่ดีจึงจะได้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปลูกฤดูฝน เกษตรกรมือใหม่มักประสบปัญหาพืชผลเสียหายในไร่นาหรือเสียหายเมื่อขนส่งไปตลาด ไม่เหมาะที่จะส่งเสริมให้ปลูกในฤดูร้อน เป็นพืชที่ให้ผลกำไรงาม แต่มักนิยมปลูกกันในพื้นที่ขนาดเล็ก (พื้นที่น้อยกว่า 150 ตร.ม.)
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ # 812 Known You No. 2
ฤดูปลูก ตลอดปี
ความสูง 600-800 เมตร
ความเป็นกรดด่างของดิน 6.5-7.0
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย ร่วนปนเหนียว
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    50×250 ซม.
ความลึก 10-15 ซม.
จำนวนต้น 8 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของร่อง 50 ซม.
ระยะห่างของร่อง 2.5 เมตร
การเตรียมกล้า
จำนวนต้น 100 ต้น/ตร.ม.(ถุงชำ) เพียงพอที่จะย้ายปลูกในพื้นที่ 12.5 ตร.ม.
ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


หมายเหตุ ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
การปลูกฤดูหนาวได้เปรียบเล็กน้อย (ปัญหาโรคและแมลงน้อย) ไม่ควรส่งเสริมการปลูกฤดูร้อน เพราะได้ผลผลิตต่ำ (100-150 กก.) และใช้ต้นทุนสูงในการฉีดพ่นสารเคมีควบคุมโรคและแมลง ยกเว้นผู้ปลูกที่มีประสบการณ์ พอที่จะทำกำไรได้บ้างในฤดูนี้ พืชเจริญเติบโตเร็วในฤดูฝน แต่มักเผชิญโรคระบาดทำลาย ต้องใช้ต้นทุนค่ายากำจัดเชื้อราสูง เพื่อรักษาระดับผลผลิต เกษตรกรมือใหม่ จะทำให้ได้ผลผลิตน้อยกว่าเกษตรกรที่มีประสบการณ์ 40-60% (น้อยกว่า 80% ในฤดูร้อน)
ผลผลิต
ฤดูหนาวระหว่าง 400-450 กก./100 ตร.ม. เป็นเกรด A ประมาณ 80% ฤดูร้อนระหว่าง 100-150 กก. (เกษตรกรที่มีความชำนาญอาจได้มากกว่านี้) ฤดูฝน 350-400 กก. ปกติผู้เริ่มปลูกครั้งแรก จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 180-250 กก. ทั้ง 3 ฤดู
ราคาขายขายเกษตรกร
ระหว่าง 10-13 บาท ราคามักสูงกว่าในฤดูหนาว
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
ค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผลผลิตดี ต้นทุนพันธุ์กล้าสูง ใช้กล้า 134 ต้น ต้นละ 5 บาท ควรมีการเตรียมเพาะกล้าจากสถานีจำหน่ายให้แก่เกษตรกร เพื่อไม่ให้กล้าเสีย ต้นทุนการอารักขาพืชสูงในการปลูกฤดูฝน ต้องทำการฉีดพ่นยาประมาณ 6-12 ครั้ง แล้วแต่ฤดูปลูก
ผลตอบแทน
การปลูกฤดูหนาวได้ผลตอบแทนดีกว่า เพราะผลผลิตสูงต้นทุนต่ำ
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
การปลูกมะระขาวควรพิจารณาสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงการปลูกซ้ำที่เดิม เพื่อลดปัญหา การติดโรคควรมีการห่อผลอยู่ตลอดเพื่อป้องกันแมลงรบกวนและคุณภาพของผลผลิตด้านสีผลด้วย การใช้สารเคมีควรใช้อย่างระมัดระวัง และถูกต้องเพราะมะระมีค้างสูง ควรให้คำแนะนำดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่เคยปลูกมาก่อน เกษตรกรมักเก็บเกี่ยวล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้ผลร่วงเสียหาย
การตลาด
ผลผลิตประมาณ 500 กก. จำหน่ายแก่ตลาดขายส่งและขายปลีกในแต่ละสัปดาห์ ปัญหาน้อยเกี่ยวกับการสูญเสียผลผลิตเมื่อขนส่งไปตลาดกรุงเทพฯ ราคาตลาดเคลื่อนไหวในแนวเดียวกับราคารับซื้อจากเกษตรกร ราคาสูงสุดช่วง พ.ค.-ก.ค. (25-30 บาท/กก.) เนื่องจากผลผลิตมีน้อยราคาทั่วไปอยู่ระหว่าง 12-15 บาท/กก. ถ้าผลผลิตออกสู่ตลาดมากไปมีผลทำให้ราคาตกลงมามาก
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยไฟ พบในฤดูร้อน ใช้ พอส์ส หรือ ออรีธีน ป้องกันการระบาดทุก 5-7 วัน ถ้าจำเป็น
แมลงวันทอง เจาะวางไข่ภายในผล
โรค
โรคเหี่ยว เกิดจากเชื้อรา Fusarium สังเกตจากใบล่างจะเหลือง และลำต้นเหี่ยวเฉาเมื่ออาการรุนแรง ป้องกันแก้ไขโดยใช้ เบนเลท ควบกับ แคปแทน หรือ เทอร์ราคลอร์ เมื่อมีการระบาด ทุก 5-7 วัน
โรคใบจุด พบในฤดูฝน สังเกตจากใบเป็นจุดเป็นวงแห้งสีน้ำตาล เมื่อพบอาการใช้ ไดเทนเอ็ม 45 หรือ ดาโคนิล ทุก 5-7 วัน
โรคราน้ำค้าง พบในฤดูฝนหรือฤดูหนาว สังเกตจากใบเป็นสีเหลืองเป็นแต้มๆ มีเชื้อราอยู่ใต้ใบ ตรงบริเวณที่มีสีเหลือง ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น ไดเทนเอ็ม 45 หรือ โคแมค ถ้าโรคระบาดรุนแรง ฉีดพ่น แอพรอน 35 หรือ ไรโดมิล MZ 1-2 ครั้งต่อฤดูปลูก
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


การใช้แรงงาน (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเตรียมกล้า
เตรียมดินสำหรับใส่ถุงเพาะกล้า โดยผสมดินปุ๋ยคอก ปูนขาวและปุ๋ย 15-15-15 หยอดเมล็ดลึก 1 ซม. แล้วรดน้ำ ทำการเพาะในโรงเรือนหรือใช้ตาข่ายสีฟ้าคลุม (เอาออกหลังจาก 15-20 วัน) ใช้ยาแลนเนท หรือคูมิฟอส ถ้าพบปัญหามดกัดกินเมล็ด รดน้ำประจำทุกวัน
ข้อควรระวัง
1. ใช้ พอส์ส ป้องกันเพลี้ยไฟ
2. ถ้าหยอดเมล็ดลึกเกินไป กล้าจะงอกช้า
ช่วงการปลูก
ขุดพลิกดิน ตากแดดทิ้งไว้ 5-7 วัน ขึ้นแปลงกว้าง 50 ซม. ขุดหลุมปลูกลึก 10-15 ซม. ระยะห่าง 50 ซม. รองพื้นด้วยดินผสมปุ๋ยคอก ปูนขาว ปุ๋ย 15-15-15 และโบแรกซ์ (1 ช้อนแกง/ต้น) ใส่ให้เหลือพื้นที่ต่ำกว่าปากหลุม 10 ซม. ย้ายกล้าอายุ 25-30 วัน มาปลูกกลบดินให้เต็มหลุมได้ระดับแปลงแล้วรดน้ำ
ช่วงการดูแลรักษา
ทำค้างทันทีหลังย้ายปลูก ใช้ไม้ไผ่ทำค้างทรงโค้ง หรือใช้ไม้ทำทรงสี่เหลี่ยมคร่อมระหว่างแปลงให้สูง 150-180 ซม. โคนของค้างอยู่บริเวณต้น เพื่อให้ยอดเลื้อยขึ้นข้างบน ใช้เชือกขึงตามขวางระหว่างค้างให้ได้ระยะห่าง 50 ซม. ตัดแต่งกิ่งข้างลำต้นเมื่อต้นสูงประมาณ 1 เมตร เพื่อช่วยให้พืชแตกขยายออกข้างและโตเร็ว โดยผูกยอดติดกับค้างก่อนในระยะแรกให้ทอดเลื้อยตามต้องการแล้ว จึงตัดแต่งทิ้งภายหลัง
หลังย้ายปลูก 10-15 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งแรกโดยใช้สูตร 46-0-0 และ 15-15-15 ในอัตรา 1:2 หลังจากนั้น 15-20 วัน เริ่มใช้ปุ๋ย 15-15-15 สลับกับ 13-13-21 ทุก 15-20 วันเช่นกัน ใส่ปุ๋ยโดยใช้วิธีขีดร่อง รอบต้นรัศมี 10 ซม. โรยปุ๋ยลงร่อง กลบดินแล้วรดน้ำ
หลังจากพืชตั้งตัวดีแล้ว ฉีดพ่นยากำจัดเชื้อเราและยาฆ่าแมลง อัตราตามคำแนะนำในฉลาก ทุก 10-15 วัน ผสมอาหารเสริม (เช่นโทนา) ฉีดพ่นพร้อมยาเคมีทุก 2-3 สัปดาห์ ตามความจำเป็น
เมื่อเริ่มติดผลขนาดเล็ก ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือถุงพลาสติคห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้ โดยจะตัดก้นถุงพลาสติค ใช้ครอบผลแล้วเย็บริมทั้ง 2 ด้านด้วยที่เย็บกระดาษให้แน่นหนา รดน้ำทุก 2-3 วัน
ช่วงการเก็บเกี่ยว
เริ่มเก็บเกี่ยว 60-65 วันหลังย้ายปลูก เลือกกับผลขนาดยาว 15-20 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 ซม. เมื่อผิวยังขรุขระ (ถ้าผิวเรียบผลจะแก่เกินไป) ห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ บรรจุลงเข่งลำไย ไม่ควรล้างทำความสะอาด
ข้อควรระวัง
1. ขนาดผลอาจไม่ได้มาตรฐานตามตลาด หรือผิวถูกหนอนเจาะ
2. เอาใจใส่ต่อการใส่ปุ๋ยและฉีดยาสม่ำเสมอ เพราะพืชมีอายุเก็บเกี่ยวนาน
3. เก็บผลที่มีผิวขรุขระ ลักษณะตามตลาดต้องการ
อื่นๆ
อย่าปลูกซ้ำบนพื้นที่เดิม ป้องกันการสะสมเชื้อโรคในพื้นที่
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่