ยาสูบมีประโยชน์อย่างไร


ชื่อวิทยาศาสตร์ Nicotiana tabacum Linn.
ชื่ออื่นๆ จะวั้ว (เขมร-สุรินทร์) ยาตั้ง ยาฉุน ยาเส้น (ทั่วไป) อิงเช้า (แต้จิ๋ว) เยียนฉาว(จีนกลาง)
ชื่ออังกฤษ Tobacco
ลักษณะ เป็นไม้กึ่งล้มลุก มีอายุหนึ่งปี ลำต้นสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ไม่แตกกิ่งก้าน ทุกส่วนมีขนนิ่มๆ ใบเดี่ยวขนาดใหญ่เป็นรูปไข่กลับ ฐานใบแคบ เกือบไม่มีก้านใบ ใบกว้าง 15-20 ซ.ม.ยาว 18-30 ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายยอดบานจากล่างไปบน ดอกสีชมพูอมขาวจนถึงแดง กลีบรองดอกสีเขียวจะคงอยู่ และขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเป็นผล ผลเป็น capsule แตกได้ เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ ใบอ่อน ใบแก่
สารสำคัญ ในใบมีอัลคาลอยด์ นิโคติน (nicotine) C10 H14 N2 อยู่ 0.6-9% เป็นอัลคาลอยด์ พวก Pyridine มีลักษณะเป็น oily, volatile liquid ไม่มีสีจนถึงมีสีเหลือง ถ้าถูกอากาศอาจเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล มีกลิ่นเผ็ดร้อน และกัดเนื้อเยื่อจมูกถ้าสูดดม มีสารที่จะทำให้เกิดมีกลิ่นหอม มีชื่อว่า “nicotianin” หรือ “tobacco camphor” จะเกิดสารตัวนี้ขึ้นเมื่อนำใบยาไปบ่ม
ประโยชน์ทางยา ในยาแผนโบราณ ใช้ยาตั้งผสมกับนํ้ามันก๊าดใส่ผมที่เป็นเหา ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง สระออกให้ทำวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 2-3 วัน ตัวเหาจะตายไข่จะฝ่อหมด ระวังอย่าให้เข้าตาจะทำให้ตาอักเสบ
อื่นๆ ใบอ่อนใช้ทำซิการ์ ใบแก่ทำยาเส้น ยาตั้ง หรือยาฉุน ใบที่ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไปใช้มวนบุหรี่ ยาเส้นใช้ผสมในยานัตถุ์
ผงของใบยา ใช้เป็นสารฆ่าแมลงพวกเพลี้ยได้ผลดี โดยเตรียมนํ้ายาให้เป็นด่าง จะมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงดีขึ้น ชาวบ้านใช้ใส่น้ำสบู่ลงไป ปัจจุบันการใช้เป็นสารฆ่าแมลงลดลง เนื่องจากมีสารสังเคราะห์ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงได้ดี แต่มีสารพิษตกค้างอยู่ทำให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การใช้ใบยาสูบสกัดให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของนิโคตินใช้เป็นสารฆ่าแมลงที่ให้ผลดี
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ