ลำไย:ไม้ผลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ

ลำไย

ลำไย ไม้ผลเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่สนใจและมีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างมากมายในเกือบจะทุกภาคของประเทศ นับตั้งแต่วงการเกษตรบ้านเราได้ค้นพบเทคโนโลยีการทำให้ลำไยออกดอกติดผลนอกฤดูได้ ซึ่งทำให้ปัญหาการออกดอกของลำไยแทบจะหมดปัญหาไปเลย

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกของลำไย

นิสัยการออกดอกของลำไยนั้นจะมีการออกดอกไม่สม่ำเสมอทุกปีหรือมีการออกดอกเว้นปี นักวิทยาศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไม้ผลได้พยายามศึกษาถึงสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกดอกเพื่อที่จะนำมาใช้ในการควบคุมการออกดอกลำไยให้ได้ผล  ซึ่งแม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง เนื่องจากการออกดอกของลำไยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ แต่ก็มีคำตอบในระดับหนึ่งที่สามารถทำให้การออกดอกติดผลของลำไยประสบความสำเร็จได้

1.  พันธุ์ ลำไยแต่ละพันธุ์มีความยากง่ายของการออกดอกที่แตกต่างกัน พันธุ์ที่ออกดอกง่ายที่สุด ก็คือ อีดอ ตามด้วยสีชมพู ส่วนพันธุ์ที่ออกดอกยากได้แก่ แห้วและเบี้ยงเขียว

2.  สภาพภูมิอากาศ อิทธิพลของสภาพอากาศมีผลสูงมากต่อการออกดอกของลำไย  ดังจะเห็นได้จากปริมาณผลผลิตที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละปีอันเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ สำหรับสภาพภูมิอากาศที่มีบทบาทอย่างชัดเจนต่อการออกดอกของลำไย มีหลายลักษณะ ดังนี้

2.1  อุณหภูมิ ลำไยจะออกดอกได้ดีหลังจากผ่านช่วงระยะเวลาของความหนาวเย็นที่เพียงพอ พันธุ์ที่ออกดอกง่ายส่วนใหญ่ต้องการช่วงความหนาวเย็นสั้นและไม่ต้องต่ำมาก เช่น ลำไยอีดอ แต่หากอุณหภูมิไม่ต่ำมากก็สามารถทดแทนกันได้ด้วยเวลาที่ยาวนานขึ้น การออกดอกของลำไยนั้นอุณหภูมิต่ำเป็นตัวชักนำให้เกิดการสร้างตาดอก ไม่ใช่สภาพแล้งหรือการกักน้ำ

2.2  ปริมาณน้ำฝน ลำไยจะออกดอกเมื่ออยู่ในสภาพแล้งหลังจากฝ่านฤดูฝนไปแล้ว ช่วงที่ตายอดมีการเปลี่ยนแปลงจากตาใบไปเป็นตาดอกหากมีฝนตกลงมาในปริมาณที่ค่อนข้างสูง  ตายอดที่อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงก็จะมีแนวโน้มของการเกิดเป็นยอดอ่อนของใบได้มาก

2.3  ความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งจะลดต่ำลงสัมพันธ์กับการลดลงของปริมาณน้ำฝนในช่วงก่อนการออกดอก  ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่รกซึ่งพืชจะดูดขึ้นไปใช้ลดน้อยลง  การใช้คาร์โบไฮเดรตจึงลดลง การสะสมอาหารจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

3.  ความชื้นในดิน ในช่วงก่อนออกดอกนั้นความชื้นในดินจะต้องลดต่ำลงถึงระดับหนึ่ง  ดังนั้นจึงต้องมีการกักน้ำเพื่อให้ปริมาณน้ำที่จะเคลื่อนขึ้นไปยังส่วนใบลดน้อยลง  ซึ่งจะทำให้การดูดไนโตรเจนขึ้นไปยังต้นน้อยลงด้วย การใช้อาหารก็จะลดลงส่งผลให้ปริมาณอาหารสะสม ซึ่งก็คือคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้น ทำให้มีโอกาสในการออกดอกสูงขึ้น

การชักนำการออกดอก

การชักนำให้ลำไยออกดอกนอกจากการคัดเลือกพันธุ์และสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมแล้ว ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญก็คือความสมบูรณ์ของต้น  ซึ่งพบว่าการพ่นปุ๋ยทางใบ 0-52-34 และปุ๋ยสูตร 7-13-34+12.5 Zn ในช่วงก่อนออกดอกจะทำให้ลำไยมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกดีขึ้น และช่อดอกมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ต้องมีการจัดการอื่น ๆร่วมด้วย เช่นการตัดแต่งกิ่ง ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการผลิยอดใหม่เร็วขึ้นและค่อนข้างพร้อมกัน การชักนำให้เกิดช่วงแล้งหรือการกักน้ำ การกำจัดวัชพืชใต้พุ่มต้นเพื่อให้ผิวดินสัมผัสกับลมและแดดโดยตรง

ความสัมพันธ์ระหว่างความหนาวเย็น ความสมบูรณ์ของต้น และสภาพของความเครียดน้ำต่อการออกดอก

อุณหภูมิต่ำจะมีบทบาทสำคัญต่อการออกดอกของลำไย แต่ถ้าปีใดอุณหภูมิไม่ต่ำพอ ความสมบูรณ์ของต้นและสภาพความเครียดน้ำจะมีบทบาทสำคัญร่วมกัน แต่หากปีใดอุณหภูมิต่ำมากและยาวนาน อิทธิพลของความหนาวเย็นนี้จะสามารถข่มอีกสองลักษณะทั้งหมด ซึ่งคาดว่าอุณหภูมินี้น่าจะอยู่ระหว่าง 12-15 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น  หากอุณหภูมิไม่ต่ำเพียงพอ(สูงกว่า 15 องศา) ถ้าต้นลำไยได้รับน้ำมากเกินไปอาจทำให้ตายอดเจริญเป็นใบอ่อนขึ้นมาแทนที่หรือเป็นช่อดอกที่มีใบปนมา แต่ถ้าอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 10 องศาแล้ว การให้น้ำแม้มีปริมาณสูงมากก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

ช่วงเวลาการออกดอก

ลำไยใช้เวลาตั้งแต่ออกดอกจนถึงผลแก่นานถึง 6-7 เดือน ทำให้ต้นลำไยสูญเสียอาหารสะสมเป็นปริมาณมาก หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบำรุงให้ต้นลำไยมีความสมบูรณ์ผลิใบใหม่ได้ เพราะการผลิใบใหม่จะทำให้ต้นลำไยมีแหล่งสร้างอาหารเพื่อชดเชยหรือทดแทนส่วนต่าง ๆ ที่สูญเสียไปกับผลผลิต อีกทั้งการผลิใบใหม่จะทำให้เกิดตายอดขึ้นมาใหม่  เพื่อเป็นที่เกิดของช่อดอกใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ยังพบว่าในต้นลำไยที่มีอายุน้อยจะผลิใบ 2-3 ครั้งก่อนออกดอก แต่ในต้นที่มีอายุมาก ส่วนมากจะผลิใบเพียงครั้งเดียวแล้วจึงออกดอก  ดังนั้นจำนวนครั้งของการผลิใบใหม่จึงไม่ใช่ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดของการออกดอก แต่ปัจจัยที่สำคัญคือ ช่วงเวลาของการผลิใบใหม่ ซึ่งลำไยจะออกดอกได้ดีในช่วงเวลาที่ใบใหม่เหล่านี้อยู่ในสภาพใบแก่ และพบว่าหากมีการผลิใบใหม่ใกล้กับระยะออกดอก ใบใหม่นั้นยังอยู่ในสภาพใบอ่อนจะออกดอกได้น้อยและช้ากว่าต้นที่มีใบอยู่ในสภาพใบแก่ ไม่ว่าต้นลำไยนั้นจะได้รับความหนาวเย็น หรือสารโพแทสเซียมคลอเรตก็ตาม

การเจริญเติบโตของผล

การเจริญเติบโตของผลลำไย สำหรับพันธุ์อีดอใช้เวลาประมาณ 21 สัปดาห์ หลังติดผล จึงจะโตเต็มที่ การเจริญเติบโตของผลลำไย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ใช้เวลาตั้งแต่สัปดาห์ที่ติดผลจนถึงสัปดาห์ที่ 10 หลังติดผล จะมีการเติบโตอย่างช้า ๆ เป็นการเจริญเติบโตของเปลือกและเมล็ด  ส่วนเนื้อผลเริ่มเกิดเมื่อผลอายุประมาณ 6 สัปดาห์ และมีการเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ จนถึงสัปดาห์ที่ 14 ในขณะที่เมล็ดเติบโตอย่างช้า ๆ ตั้งแต่ติดผลถึงสัปดาห์ที่ 8

ระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่หลังสัปดาห์ที่ 10-21 หลังติดผล ระยะนี้ผลลำไยจะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเนื้อผล จะเจริญอย่างรวดเร็วตั้งแต่สัปดาห์ที่ 14 จึงถึงสัปดาห์ที่ 21 การเจริญของเนื้อจะคงที่ ส่วนเมล็ดจะเจริญรวดเร็วในสัปดาห์ที่ 8-14 หลังจากนั้นขนาดของเมล็ดจะโตเกือบเต็มที่

ระยะที่ 3 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 21 หลังติดผล เป็นต้นไป เป็นระยะที่มีการเติบโตของผลช้าลง เนื่องจากส่วนเนื้อและเมล็ดมีการเจริญเกือบคงที่

จากข้อมูลทั้งหมดคงพอจะเป็นแนวทางในการบังคับให้ลำไยของท่านสามารถติดดอกออกผลในช่วงนอกฤดูที่ราคาสูงได้ และขอให้ทุกท่านจงโชคดีและประสบความสำเร็จกับการผลิตลำไยนอกฤดู