ลิ้นจี่:ลิ้นจี่รสดีที่บางปะอิน

สมัคร  ยิ่งยง

สถานีทดลองข้าวบางเขน

บางเขน กรุงเทพฯ

บางปะอินเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ตั้งของตัวอำเภออยู่ที่ตำบลบ้านเลน มีสภาพเป็นเกาะ และบนเกาะเดียวกันนี้เป็นที่ตั้งพระราชวังบางปะอิน ซึ่งเป็นพระราชวังเก่าแก่ที่มีความสง่างามเป็นที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกแห่งหนึ่งด้วย

เนื่องจากสภาพพื้นที่ของอำเภอบางปะอิน เป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านและเมื่อถึงฤดูน้ำ น้ำเหนือก็จะหลากไหลท่วมเต็มท้องทุ่ง พร้อมกับพัดพานำตะกอนซึ่งเต็มไปด้วยธาตุอาหารสำหรับพืชมาทับถมเป็นประจำทุกปี ทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์และมากมายด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยเฉพาะข้าว ด้วยเหตุที่อำเภอนี้ล้วนมีแต่นาข้าว ถ้าท่านนั่งรถไฟหรือรถยนต์ผ่านไปจะสังเกตเห็นทุ่งนายาวเหยียดสดสายตาตลอดสองข้างทาง จึงอาจกล่าวได้ว่าอำเภอบางปะอินเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญอำเภอหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ณ ที่บ้านเลขที่ ๘ หมู่ ๒ ตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน คุณบุญเกิด  นิ่มน้อย เจ้าของบ้านวัยประมาณ ๕๐ ปี รูปร่างล่ำสันแข็งแรง กล่าวเชิญคณะของเราด้วยความสุภาพอ่อนโยน ระหว่างรับประทานอาหารว่างซึ่งเป็นผลไม้ที่เจ้าของบ้านปลูกเองนำมาต้อนรับ คณะของเราก็ได้แนะนำตัวเองและแจ้งวัตถุประสงค์ว่าที่มาครั้งนี้ก็เพื่อต้องการทราบข้อมูลและความเป็นมาของลิ้นจี่ที่คุณบุญเกิดได้นำมาปลูกที่นี่ ซึ่งคณะของเราทราบว่าปีนี้ให้ผลผลิตมาก

“จริงหรือเปล่าครับ”

คุณอุดม  สีมาบรรพ์ บรรณาธิการหัวหน้าคณะของเราหยอดคำถาม

“ครับ…”คุณบุญเกิด  นิ่มน้อย ตอบรับและกล่าวต่อไปด้วยความภาคภูมิว่า

“ปีนี้ผลผลิตมาก อาจเนื่องมาจากว่าอากาศมันค่อนข้างจะหนาวและหนาวติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันก็ได้ เพราะพันธุ์ที่ผมนำมาปลูกนี้เป็นพันธุ์กระโหลกใบไหม้ ถ้าอากาศหนาวติดต่อกัน ๗-๑๐ วัน ก็จะออกดอก”

“ถ้าจะให้ผมเล่าถึงความเป็นมาของลิ้นจี่ที่นำมาปลูกที่นี่หรือครับ” คุณบุญเกิด  นิ่มน้อย หยุดคิดสักพักและกล่าวต่อไปว่า

“ส่วนที่ผมปลูกลิ้นจี่อยู่ขณะนี้พื้นที่มันเป็นเกาะชื่อว่าเกาะเกิด ด้านตะวันตกติดแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันออกติดคลองซึ่งแยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณใต้อำเภอบางปะอินลงมาเล็กน้อย และก็จะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีก”

“พื้นที่บนเกาะนี้มีประมาณ ๓๐๐ กว่าไร่ ลักษณะดินเป็นดินรวนปนทราย  เหมือนดินลุ่มน้ำทรายมูลทั่ว ๆ ไป สมัยก่อนพอถึงฤดูน้ำน้ำก็จะท่วมเกาะเป็นประจำ และเมื่อย่างเข้าฤดูแล้งชาวบ้านก็จะพากันปลูกพืชผักชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว แตง พริกและมะเขือ เป็นต้น”

“ไม่ว่าจะปลูกอะไรงามไปหมด ขณะเดียวกันพื้นที่ก็ดอนขึ้นทุกปีปัจจุบันน้ำไม่ท่วมมาหลายปีแล้ว

“เออ…ผมว่าอากาศที่บ้านผมค่อนข้างจะร้อนไปหน่อยเราไปคุยกันที่สวนดีกว่าอยู่ห่างจากที่นี่ไม่เกิน ๑๐๐ เมตรหรอกครับ” คุณบุญเกิด  นิ่มน้อย เชิญชวนพร้อมกับลุกขึ้นหยิบหมวกกุ้ยโล้วเอาสายกระบุงใส่ไม้คานแล้วหาบขึ้นบ่าเดินนำหน้าคณะของเราด้วยความทะมัดทะแมง

แค่ลงเรือข้ามคลอง พอขึ้นจากเรือก็ถึงสวนของ คุณบุญเกิด  นิ่มน้อย ซึ่งทำเป็นสวนแบบยกร่อง บนร่องมีต้นลิ้นจี่อายุประมาณ ๑-๒ ปี ปลูกเป็นแถว แต่ละต้นห่างกันประมาณ ๘ เมตร นอกจากนี้ก็มีมะเขือเปราะ พริก โหระพา และผักสวนครัวอื่น ๆ ปลูกแซมเต็มไปหมด

จากฝั่งที่ขึ้นจากเรือเดินไปประมาณ ๘๐ เมตร คณะของเราก็เห็นต้นลิ้นจี่ซึ่งมีขนาดค่อนข้างโตรัศมีทรงพุ่มประมาณ ๔ เมตร มีลูกติดอยู่พอประมาณ เนื่องจากได้เก็บไปมากแล้ว

เจ้าของสวนผู้อารีหันไปสั่งลูกชาย ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าสวนอยู่ปีนขึ้นต้นลิ้นจี่เพื่อเก็บผลมาให้คณะของเราทดสอบดู ระหว่างรอผลงาน คุณบุญเกิด  เดินไปจนเกือบสุดด้านทิศตะวันตกของเกาะที่ติดกับแม่น้ำ ว่าพร้อมกับเริ่มเล่าต่อไปว่า “ที่ตรงนี้ครั้งแรกผมคิดว่าจะปลูกมะม่วงและก็ได้สั่งกิ่งพันธุ์ไว้ ๘๐ กิ่ง” “พอถึงเวลาไปรับกิ่งพันธุ์ ซึ่งสั่งซื้อจากกรุงเทพฯ ญาติผมที่บางมดกลับแนะนำให้ทดลองปลูกลิ้นจี่ดู” “และให้กิ่งพันธุ์ลิ้นจี่พันกระโหลกใบไหม้มา ๘ กิ่ง” “ก็เลยถือโอกาสปลูกพร้อมกับมะม่วงเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.๒๕๑๗”

“พออายุได้ปีเศษ ๆ เกิดน้ำท่วมใหญ่ผมก็ได้แต่มองด้วยความเศร้าใจ ไม่รู้ว่าจะป้องกันอย่างไร” “พอน้ำลดปรากฎว่าลิ้นจี่ที่ถูกน้ำท่วมถึงยอดตายไป ๑ ต้น ยังคงเหลืออยู่อีก ๗ ต้น”

“ส่วนมะม่วงตายไปประมาณ ๖๐ ต้น ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมลิ้นจี่จึงทนน้ำท่วมได้ดีกว่ามะม่วง” “ปี พ.ศ.๒๕๒๑ ต้นลิ้นจี่ที่เหลือก็โตมากขึ้น” คุณบุญเกิด  นิ่มน้อย พูดพร้อมกับทอดสายตาไปตามร่องสวนและกล่าวต่อด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบาว่า “และปลายปีนั้นน้ำก็ท่วมอีก” “หลังน้ำลดพืชผักสวนครัวของผมตายหมด” “มะม่วงที่เหลือตายไปอีก ๒-๓ ต้น แต่ลิ้นจี่ไม่ตายเลย”

“พอต้นปี พ.ศ.๒๕๒๒ คุณครับลิ้นจี่ที่เหลือทั้ง ๗ ต้น ออกดอกสะพรั่งเต็มไปหมดเลย” ปีนั้นเราได้ผลผลิตมากพอควร ต่อจากนั้นมาบางปีก็ให้ผลผลิต บางปีก็ไม่ให้ผลผลิต”

“ถ้าปีไหนอากาศหนาวติดต่อกันหลาย ๆ วัน ปีนั้นลิ้นจี่ออกดอก อีกประการคงอยู่ที่ความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วย”

“สำหรับการดูแลรักษาไม่ได้ทำอะไรเลย เคยให้ปุ๋ยอยู่เหมือนกันเป็นพวกปุ๋ยยูเรีย” “แต่ปีนี้ตั้งใจว่าจะไปหาซื้อมูลสุกรแห้งมาใส่ เพราะเคยได้ข่าวว่าใช้แล้วได้ผลดี”

“ส่วนปัญหาโรคและแมลงไม่มีปรากฎอาจจะเป็นเพราะว่าที่นี่ไม่ใช่แหล่งใหญ่” “แต่ต่อไปในอนาคตก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะขณะนี้นอกจากที่สวนจะปลูกเพิ่มมากขึ้นแล้ว ชาวบ้านใกล้เคียงหลายรายก็ปลูกตามกันมากขึ้น เพราะเขาเห็นแล้วว่ามันได้ผลจริง ๆ”

ปีนี้ผมคาดว่าต้นหนึ่ง ๆ ได้ประมาณ ๘๐ กก. (โดยการคาดคะเนจำนวนลูกลิ้นจี่ที่ติด) ภรรยาของผมนำไปขายที่ตลาดอำเภอบางปะอิน ทุกวัน ๆ ละ ๒๐-๓๐ กก.ขาย กก.ละ ๖๐ บาท ขายหมดทุกวันได้เงินราวสามหมื่นบาท หลายคนที่ซื้อไปรับประทานแล้วกลับมาซื้อใหม่อีกและบอกว่ารสชาติดี

“อ้าวผมว่า..เชิญที่แคร่ใต้ต้นลิ้นจี่โน้นดีกว่าครับ ลูกชายผมเก็บมาวางไว้แล้ว..” ลิ้นจี่ผลแดงจากยอดต้นลิ้นจี่ที่เห็นเมื่อสักครู่ถูกนำมากองที่แคร่ด้วยความสามารถใช้วิชาตัวเบาของเด็กน้อยอายุเพียง ๑๐ กว่าขวบ เจ้าของสวนกล่าวเชิญให้คณะของเรารับประทาน และลงมือปอกเปลือกส่งให้ชิมทันที

“รสชาติดีจริง ๆ ครับ”

คุณโสภณ  จันทรวิเชียร ช่างภาพของเราออกปากชม ว่าแล้วก็ขึ้นชัทเตอร์ถ่ายภาพต่อไป พร้อมกับเคี้ยวลิ้นจี่ด้วยความเอร็ดอร่อย และจากการศึกษาลักษณะพอสรุปได้ว่าลิ้นจี่พันธุ์กระโหลกใบไหม้มีผลใหญ่เปลือกสีแดงปนดำ หนามไม่แหลม เปลือกบาง เนื้อหนา เมล็ดเล็ก เนื้อแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำ ลักษณะใบค่อนข้างจะยาวกว่าพันธุ์ค่อมเล็กน้อย

คณะของเราชมสวนและทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลผ่านตรงบริเวณนั้นต่ออีกสักพักใหญ่ก็กล่าวขอบพระคุณและอำลา คุณบุญเกิด  นิ่มน้อย  ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกปลูกลิ้นจี่เป็นรายแรกของอำเภอบางปะอิน

ขณะเดินทางกลับโดยทางรถยนต์ออกจากตัวอำเภอบางปะอิน เลี้ยวขวาวิ่งมาตามถนนสายเอเซียเพียงเล็กน้อยก็เข้าถนนสายพหลโยธิน คณะของเราก็ได้แต่หวังว่าอนาคตเกาะเกิดทั้งเกาะพื้นที่ ๓๐๐ กว่าไร่นี้ น่าจะเป็นแหล่งปลูกไม้ผล โดยเฉพาะลิ้นจี่ และเมื่อได้พัฒนาจนเป็นสวนทั้งเกาะแล้ว จะเป็นที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย เพราะที่ตั้งของตัวเกาะอยู่ใกล้เส้นทางระหว่างพระราชวังบางปะอินและศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศผ่านเป็นจำนวนมาก