วานิลา:ไม้เถาเลื้อยสกัดสารหอมระเหยจากฝัก


อรุน  เลียววสุต

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร  สถาบันวิจัยพืชสวน

กรมวิชาการเกษตร

คำว่า”วานิลา” บางคนอาจเคยคุ้นหูหรือรู้สึกคุ้นเคย แต่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจความหมายของมันมากนัก บางท่านอาจจะเคยพาลูกๆ หลานๆ ไปชอปปิ้งแล้วแวะเข้าไปนั่งในร้านขายไอศครีม ท่านจะเห็นรายการอาหารมีไอศครีมชนิดต่างๆ ให้เลือก เช่น ชอคโกแลต วานิลา สตอเบอร์รี่ ฯลฯ นี่แหละครับท่านจะคุ้นเคยกับคำว่า “วานิลา”

วานิลาเป็นไม้เถาเลื้อย ใช้ประโยชน์โดยการสกัดเอาสารหอมระเหยจากฝัก มีลักษณะเป็นผลึกยาวสีขาวราคาค่อนข้างแพง ปัจจุบันมีการสังเคราะห์สารหอมระเหยชนิดนี้ในเชิงการค้า แต่คุณภาพในเรื่องกลิ่นหอมยังสู้สารวานิลินที่สกัดจากธรรมชาติไม่ได้

พันธุ์

วานิลาเป็นไม้ประเภทเถาเลื้อยข้ามปี อาศัยต้นไม้อื่นเป็นที่ยึดเกาะเพื่อชูลำต้น ยอด และดอก จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับกล้วยไม้ มีพืชร่วมสกุลด้วยกันหลายร้อยชนิดมีต้นกำเนิดจากเขตร้อน พันธุ์ที่นิยมปลูกแพร่หลายมี ๓ ชนิดคือ

๑.  พันธุ์แฟรกแกรนส์ นิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุด ให้ผลผลิตสูง การเจริญเติบโตดี ทนต่อโรคและแมลง

๒.  พันธุ์เวสต์อินเดียน พบเป็นป่าไม้อยู่ในแถบอเมริกากลางและทางเหนือของอเมริกาใต้ มีลักษณะภายนอกทั่วไปคล้ายกับพันธุ์แฟรกแกรนส์ แต่มีใบและดอกใหญ่กว่า มีองค์ประกอบภายในดอกแตกต่างกันเล็กน้อย ฝักมีขนาดสั้นกลมหนา

๓.  พันธุ์ตาฮิเตียน มีแหล่งกำเนิดที่เกาะตาฮิติ นิยมปลูกในแถบนั้นและในเกาะฮาไวอิ ค่อนข้างอ่อนแอกว่าพันธุ์อื่น ลักษณะลำต้นบอบบาง ใบเล็กและแคบ(ยาวประมาณ ๑๒ ถึง ๑๔ ซม. และกว้างประมาณ ๒.๕ ถึง ๓ ซม.) มีดอกขนาดเล็ก ฝักแก่เต็มที่ยาวประมาณ ๑๒ ถึง ๑๔ ซม.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้นเป็นเถายาวสีเขียวเข้ม อวบน้ำ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๒ ซม. สูงไม่น้อยกว่า ๕ เมตร บริเวณข้อ ตรงส่วนโคนก้านใบจะมีรากอากาศ ใช้สำหรับเป็นที่ยึดเกาะของลำต้น

ใบเป็นแผ่น่แบนยาวรี อวบน้ำ ปลายใบแหลม ก้านใบสั้น เกิดสลับสองข้างของลำต้น มีขนาดความกว้าง ๒ ถึง ๘ ซม. และยาว ๘ ถึง ๒๔ ซม.

ดอกเกิดเป็นช่อ บริเวณข้อใบมีสีเขียวอมเหลืองประกอบด้วยกลีบเลี้ยง ๓ อัน กลีบดอก ๒ อัน บางส่วนของกลีบดอกเปลี่ยนแปลงเป็นกระบอกยาวเป็นที่ตั้งของเกสรตัวผู้และตัวเมีย

ฝักเป็นส่วนสำคัญที่ใช้สกัดทำน้ำมันหอมระเหย มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาว เป็นกระเปาะสามเหลี่ยมยาว ๑๕-๒๘ ซม. ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่เต็ม

ถ้าจะมองในเชิงการค้า นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์จากฝักแล้ว ดอกวานิลาก็มีสีสันและความสวยงามไม่แพ้ดอกกล้วยไม้ ถ้ามีการปลูกวานิลาเพื่อใช้ดอกเป็นไม้ประดับจะเป็นการส่งเสริมให้มีการขยายพันธุ์มากขึ้น

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจาย

แหล่งดั้งเดิมของวานิลา(แฟรกแกรนส์) อยู่ในแถบอเมริกากลาง เช่น ประเทศเม็กซิโก และ กัวเตมาลา เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองเจริญเติบโตพันเลื้อยตามต้นไม้ในป่า

ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ในสมัยที่สเปนเรืองอำนาจในช่วงปี ถ.ศ.๒๕๗๑-๑๕๗๗ พระเจ้าฟิลลิปส์แห่งสเปน ได้จัดส่งตัวแทนไปประเทศเม็กซิโกเพื่อรวบรวมพันธุ์วานิลาชนิดต่างๆ และได้มีการจัดพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับวานิลาครั้งแรกที่กรุงโรมในปี ค.ศ.๑๖๕๑

วานิลาถูกส่งเป็นสินค้าไปยังกลุ่มประเทศยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ และมีการนำต้นพันธุ์ไปปลูกในประเทศอังกฤษในช่วงก่อนปี ค.ศ.๑๗๓๓ หลังจากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับวานิลาในแถบประเทศยุโรปก็ได้เงียบหายไป จนกระทั่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีการนำเข้าไปปลูกในประเทศอังกฤษอีกครั้ง ต่อจากนั้นได้มีการขยายพันธุ์ส่งกิ่งพันธุ์วานิลาไปยังสวนไม้ดอกในกรุงปารีสและเมืองแอนท์เวิพ ในปี ค.ศ.๑๘๑๙ มีการส่งวานิลาไปขยายพันธุ์ในประเทศอินโดนีเซีย

ถึงแม้ว่าวานิลาซึ่งเป็นพันธุ์ไม้อยู่ในวงศ์กล้วยไม้ ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้น แต่การติดฝักโดยวิธีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติเกิดขึ้นยาก ทำให้การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดมีน้อยมาก จนกระทั่งปี ค.ศ.๑๘๓๙ ได้มีการผสมเทียมวานิลาขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นในปี ค.ศ.๑๘๔๑ นายเอ็ดมอนด์ อัลเบียส ได้ค้นพบวิธีการผสมพันธุ์วานิลาซึ่งเป็นที่เชื่อถือและปฏิบัติกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

สภาพแวดล้อม

ตามสภาพธรรมชาติ ต้นวานิลา(แฟรกแกรนด์)เจริญเติบโตพันเลื้อยอยู่กับต้นไม้ในป่าราบลุ่ม อากาศร้อนชื้น อุณหภูมิระหว่าง ๒๑-๓๒ องศาเซลเซียสหรืออุณหภูมิโดยเฉลี่ยที่เหมาะสมประมาณ ๒๗ องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ ๒๐๐๐-๒๕๐๐ มม./ปี วานิลาต้องการช่วงที่มีอากาศแห้งประมาณ ๒ เดือน เพื่อกระตุ้นให้มีดอก

ดินที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของวานิลา เป็นดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง หน้าดินประกอบด้วยชั้นของอินทรีย์วัตถุที่สลายตัวเต็มที่แล้ว การคลุ่มดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์จะช่วยให้วานิลามีการเจริญเติบโตดีขึ้น

สารหอมระเหย “วานิลลิน” จากวานิลา

สารวานิลลินซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยนั้น ไม่มีในฝักวานิลาในขณะเก็บเกี่ยว แต่จะได้จากการสกัดจากผักวานิลาโดยการนำเอาฝักแก่ไปบ่มหรืออบแห้ง ซึ่งในระหว่างนี้เอนไซม์หรือน้ำย่อยบางชนิดจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางชีวเคมี ทำให้เกิดกลิ่นหอมขึ้นมา

สารวานิลลินอาจได้จากการสังเคราะห์ ซึ่งจะมีกลิ่นและคุณภาพด้อยกว่าที่ได้จากการสกัด

การขยายพันธุ์วานิลลา

ในด้านการค้า การขยายพันธุ์วานิลาที่สะดวกรวดเร็วที่สุดคือ การใช้เถาปักชำ โดยคัดเลือกเถาหรือต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง ตัดจากส่วนต่าง ๆ ตั้งแต่โคนต้นถึงปลายยอดแล้วนำไปปักชำในเรือนเพาะชำหรืออาจนำไปปลูกในแปลงโดยตรง ถ้าหากมีการเตรียมดิน มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม เช่น ความชื้น และแสงสว่างไม่มากเกินไป

ขนาดของต้นปักชำอาจแบ่งได้ ๒ ประเภท โดยยึดหลักการตั้งตัวออกดอกผลเร็วหรือช้า

ประเภทแรกใช้ต้นปักชำขนาดสั้น ยาวประมาณ ๓๐ ซม. ต้นปักชำชุดนี้จะออกดอกผลให้เห็นในช่วงระยะ ๓-๔ ปี การเตรียมท่อนพันธุ์ควรมีข้อและปล้องอยู่เหนือดินไม่ต่ำกว่า ๒ ข้อ พร้อมกับมีใบสีเขียวติดอยู่

ประเภทที่สองใช้ต้นปักชำที่มีขนาดยาวตั้งแต่ ๙๐ ซม. ขึ้นไป ต้นปักชำพวกนี้จะออกดอกผลให้เห็นภายในระยะเวลา ๑-๒ ปี แต่มีข้อเสียอยู่ที่สิ้นเปลืองท่อนพันธุ์

สำหรับวัสดุเพาะชำนอกจากมีดินหรือทรายแล้วควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ผสมในอัตราสูง