สรรพคุณของกะเพรา


ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum sanctum Linn.
ชื่ออื่นๆ กอมก้อ กอมก้อดง (เชียงใหม่) กะเพราขาว กะเพราแดง (กลาง) ห่อกวอซู ห่อตูปลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่ออังกฤษ Holy Basil, Sacred Basil.
ลักษณะ ไม้พุ่มขนาดเล็ก โคนต้นเนื้อไม้แข็ง สูงประมาณ 0.8-1.5 เมตร กิ่งก้านส่วนปลายจะอ่อนและเป็นสี่เหลี่ยม ต้นใบมีขนโดยเฉพาะส่วนที่เป็นยอดอ่อนจะมีขนปกคลุมมากกว่าส่วนที่แก่ ใบเดี่ยวออกตรงข้ามใบรูปไข่กลม กว้าง 2-3 ซ.ม. ยาว 3-4 ซ.ม. ทุกส่วนของต้นมีกลิ่นหอม ดอกออกเป็นช่อ กลีบรองกลีบดอกสีม่วง กลีบดอกสีขาว-สีชมพูอมม่วง มีใบประดับสีม่วงรองรับดอกย่อย ผล เป็นผลแห้ง ภายในมีผลย่อย 4 ผล
กะเพรามี 3 ชนิด คือ กะเพราขาว กะเพราแดง และกะเพราลูกผสม กะเพราขาว กิ่งก้านแก่เป็นสีนํ้าตาล กิ่งอ่อนสีเขียว ใบสีเขียวอ่อน ดอกสีขาว
กะเพราแดง กิ่งก้านใบสีม่วงแดงอมนํ้าตาล ดอกสีชมพูม่วง
กะเพราลูกผสม กิ่งก้านสีม่วงอมแดง ใบมีสีม่วงแดงอมเขียว กะเพรา ชาวฮินดูถือว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ นิยมปลูกตามสถานที่ที่เคารพบูชา
ส่วนที่ใช้ ทั้งต้น
สารสำคัญ ใบสดมีนํ้ามันหอมระเหย ประกอบด้วย ocimol, eugenol, methyl chavicol
และ lina!ool
ประโยชน์ทางยา ยาไทยเตรียมเป็นยาตำรับเรียกยา “ประสะใบกะเพรา” สรรพคุณแก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ในชวาใช้ใบเป็นยาขับนํ้านม คนไทยแกงเลียงใบกะเพรารับประทานหลังคลอดช่วยขับนํ้านม ขับลมแก้ท้องอืด บำรุงธาตุ ใบแห้งชงนํ้าแก้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ นํ้าคั้นจากใบสด ขับเหงื่อ ขับเสมหะ สาร eugenol มีฤทธิ์ขับนํ้าดี ช่วยย่อยไขมัน และลดอาการจุกเสียด นํ้ามัน ใบกะเพรามีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิด ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อบางตัว มีฤทธิ์ฆ่ายุงได้ จะออกฤทธิ์นานถึง 2 ชั่วโมง
อื่นๆ ใช้ใบสดปรุงอาหาร เช่น ผัดเผ็ดใบกะเพรา เป็นต้น ใช้ใบสดขยี้วางไว้ข้างตัวไล่ยุง
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ