สารชะลอการเจริญเติบโตของพืช

(Plant Growth Retardants)
สารชะลอการเจริญเติบโตจัดเป็น PGRC ที่พืชไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ สารในกลุ่นนี้ทั้งหมดเป็นสารอินทรีย์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเกษตร คุณสมบัติหลักของสารในกลุ่มนี้คือชะลอการแบ่งเซลล์และการยืดตัวของเซลล์ในบริเวณใต้ปลายยอดของกิ่งพืช จึงมีผลทำให้ต้นพืชที่ได้รับสารมีความสูงน้อยกว่าปกติ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการควบคุมความสูงของไม้ดอกไม้ประดับให้มีขนาดกะทัดรัดเหมาะแก่การปลูกในกระถาง พืชที่ได้รับสารชะลอการเจริญเติบโตมักจะมีใบหนาและเขียวเข้มกว่าปกติ ผลทางอ้อมจากการใช้สารกลุ่มนี้มีประโยชน์อย่างมากมายทางการเกษตร เช่น เพิ่มผลผลิตผักหลายชนิด เพิ่มคุณภาพผล ช่วยการติดผล เร่งการออกดอก ปัจจุบันมีสารชะลอการเจริญเติบโตหลายชนิดที่ผลิตขึ้นมาจำหน่ายในโลก และมีอยู่ 2 ชนิดที่ใช้กันมากที่สุดเมื่อเทียบกับ PGRC ชนิดอื่น นั่นคือ chlormequat และ daminozide ส่วนสารอื่นยังมีการใช้ประโยชน์น้อยกว่าแต่ก็มีความสำคัญเช่นกัน ได้แก่ ancymidol, mepiquat chloride และ paclobutrazol ประโยชน์ของสารเหล่านี้ได้แก่

1. ลดความสูงของต้นพืช ไม้ดอกและไม้ประดับสำหรับปลูกในกระถางหลายชนิด ตอบสนองต่อการใช้สารชะลอการเจริญเติบโตได้ดี สารที่นิยมใช้ในการลดความสูงของต้นไม้ ดอกและไม้ประดับคือ ancymidol ส่วน chlormequat และ daminozide นิยมใช้กับพืชยืนต้น และไม้ผล สาร paclobutrazol เป็นสารใหม่ซึ่งกำลังมีงานทดลองทั่วโลกเพื่อนำมาใช้กับไม้ผล โดยเฉพาะในประเทศไทยเคยมีการทดลองใช้ daminozide และ ancymidol เพื่อลดความสูงของต้นดาวเรือง ดาวกระจาย พิทูเนีย ซึ่งปลูกในกระถาง ปรากฏว่าใช้ได้ผลดี โดยต้นที่ได้รับสารจะมีปล้องสั้นลง รูปทรงกะทัดรัด โดยที่ขนาดดอกและจำนวนดอกไม่ได้ลดลง

2. เพิ่มการออกดอก สารชะลอการเจริญเติบโตมีผลในการเพิ่มการออกดอกของพืชบางชนิดได้เช่นการใช้ daminozide กับแอปเปิ้ล มะม่วง สาลี่ และการใช้ chlormequat กับมะเขือเทศ บีโกเนีย ถั่ว แกลดิโอลัส ผลการทดลองดังกล่าวนี้ทำขึ้นในต่างประเทศทั้งสิ้น ซึ่งอาจใช้ไม่ได้ผลสำหรับสภาพของประเทศไทย ในขณะเดียวกันสารชะลอการเจริญเติบโตมีผลยับยั้งการออกดอกของพืชหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่สามารถใช้ GAS กระตุ้นการออกดอกได้เช่น ผักกาดหอม กะหลํ่าปลี ผักกาดขาวปลี เนื่องจากสารชะลอการเจริญเติบโตมีผลยับยั้งการสร้างหรือการทำงานของ GAS ดังนั้นปรากฏการณ์ใดก็ตามที่ถูกกระตุ้นโดย GAS อาจถูกลบล้างได้โดยการใช้สารชะลอการเจริญเติบโต

3. เพิ่มการติดผลและคุณภาพของผล การใช้ chlormequat หรือ daminozide กับองุ่นจะทำให้เกิดการติดผลดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองุ่นพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ด พืชอื่นที่ใช้ได้ผลเช่นกัน คือแอปเปิ้ล มะเขือเทศ การใช้ daminozide กับท้อและมะเขือเทศยังมีผลเร่งการแก่และการสุก ของผลได้ ส่วนผลแอปเปิ้ลที่ได้รับสารนี้จะมีคุณภาพดีขึ้นเช่น เนื้อผลแน่นขึ้น ผิวสีแดงเข้มเนื่องจากมีเม็ดสีมากขึ้น

4. เพิ่มผลผลิตผัก พืชผักหลายชนิดสามารถเพิ่มผลผลิตได้โดยการใช้สารชะลอการเจริญเติบโตเช่นการใช้ daminozide กับ แครอท แรดิช ผักกาดขาวปลี กะหลํ่าปลี ผักกาดเขียวปลี กะหลํ่าดาว (brussel sprout) แต่พืชบางชนิดจะมีผลผลิตลดลงเนื่องจากการใช้สาร เช่น กะหลํ่าดอก แตงกวา ผักกาดหอม เนื่องจากสารเหล่านี้มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตโดยตรง

ประโยชน์ของสารชะลอการเจริญเติบโตที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สารเหล่านี้ยังมีประโยชน์ปลีกย่อยอื่นๆ อีกเช่น การใช้ daminozide เร่งการเกิดรากของกิ่งปักชำ เบญจมาศ คาร์เนชั่น คริสต์มาส รักแรก (dahlia) ชะลอการแก่ของบร็อกโคลี่ ยืดอายุการเก็บรักษา ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง เพิ่มความทนร้อน ทนแล้ง ทนหนาว ในพืชหลายชนิด

คุณสมบัติและการใช้สารชะลอการเจริญเติบโตบางชนิด
1. chlormequat (2-chloroethyl)-trimethylammonium chloride) เป็นสารที่ใช้กันมากที่สุดในโลก โดยใช้ในการผลิตไม้ผล และป้องกันการหักล้มของต้นธัญญพืช เช่นข้าว ข้าวสาลี ในกรณีของไม้ดอกไม้ประดับจะช่วยลดความสูงของต้นได้ เช่น คาร์เนชั่น คริสต์มาส เจอราเนียม พิทูเนีย ดาวเรือง เวอร์บีนา เพิ่มผลผลิตของโกโก้ และมันสำปะหลัง ช่วยในการติดผลขององุ่นหลายพันธุ์ ป้องกันการเกิดไหล (stolon) ของสตรอเบอรี่ สารนี้ผลิตขึ้นมาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว และยังใช้กันมากในปัจจุบัน โดยมีชื่อการค้าว่า Cycocel แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการสั่งสารนี้เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย สาร chlormequat บริสุทธิ์มีลักษณะเป็นผลึก ไม่มีสี มีกลิ่นคล้ายคาวปลา ละลายในน้ำได้ดีมาก เป็นสารที่มีพิษสูงปานกลาง ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

การให้สาร chlormequat แก่พืชทำได้โดยการรดสารละลายลงดินหรือพ่นบนใบพืชโดยตรง การให้สารทางใบอาจก่อให้เกิดอาการเหลืองซีดของใบในระยะแรก แต่สามารถกลับเป็นปกติได้ในภายหลัง

2. daminozide (butanedioic acid mono-(2,2-dimethylhydrazide) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาภายหลัง chlormequat และใช้กันอย่างกว้างขวางทั้งไม้ดอกไม้ประดับ ผักและไม้ผล ใช้ลดความสูงของต้นเบญจมาศ ไฮเดรนเจีย อะซาเลีย คาร์เนชั่น คริสต์มาส ได้เป็นอย่างดี และใช้กันมากกับแอปเปิ้ลและมะเขือเทศเพื่อเพิ่มการติดผลและเพิ่มคุณภาพของผล เพิ่มผลผลิตผักได้หลายชนิด สารชนิดนี้มีจำหน่ายในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้า อาล่าร์ 85 (Alar 85) โดยอยู่ในรูปผงละลายนํ้าความเข้มข้น 85% สาร daminozide บริสุทธิ์เป็นผลึกสีขาวระเหยได้เล็กน้อย และมีกลิ่นเล็กน้อย สามารถละลายนํ้าได้ดี เป็นสารที่จัดว่าเกือบไม่มีพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

สารนี้ถึงแม้จะนำมาละลายนํ้าก็ยังคงสภาพอยู่ได้นานโดยไม่สลาย วิธีการให้สารนี้แก่พืชคือการพ่นทางใบ สารสามารถแทรกซึมเข้าทางใบและเคลื่อนย้ายไปได้ทั่วทั้งต้น ถ้าให้สารในขณะที่มีความชื้นในอากาศสูงและใบยังเต่งอยู่จะทำให้สารดูดซึมเข้าไปได้มาก แต่จะต้อง
ไม่มีฝนตกภายใน 12-24 ชั่วโมงภายหลังการให้สารเนื่องจากสารนี้ถูกชะล้างได้ง่าย การให้สารนี้ โดยการรดลงดินอาจก่อให้เกิดพิษต่อรากพืชได้

3. ancymidol (α-cyclopropyl-a-(4-methoxyphenyl-5-pyrimidine methanol) สารนี้มีประสิทธิภาพสูงมากในการลดความสูงของไม้ดอกไม้ประดับได้หลายชนิด โดยไม่เกิดผลเสียต่อคุณภาพดอก เป็นสารที่ใช้จำกัดเฉพาะไม้ดอกและไม้ประดับเท่านั้น ไม่มีการนำมาใช้กับพืชผัก ไม้ผล หรือธัญญพืชอื่นใด เป็นสารที่มีราคาสูงมากโดยผลิตภายใต้ชื่อการค้าว่า A-Rest  และยังไม่มีสารนี้จำหน่ายในประเทศไทย การให้สารชนิดนี้กับพืชทำได้โดยการรดลงดินหรือพ่นทางใบ ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงมากพอๆ กัน โดยไม่เกิดพิษต่อใบหรือรากพืช สารนี้ 2ดูดซึมเข้าทางรากและทางใบได้ดี ถึงแม้จะมีฝนตกภายหลังการให้สารเพียง 5 นาทีก็ตาม

4. mepiquat chloride (1,1-dimethyl-piperidinium chloride) เป็นสารที่ใช้ลดความสูงของต้นและเพิ่มผลผลิตพืชไร่บางชนิด ใช้ได้ผลดีกับฝ้ายและถั่วต่างๆ และยังใช้ลดความสูงของต้นธัญญพืชเพื่อป้องกันการหักล้ม สารนี้มีจำหน่ายในประเทศไทยโดยมีชื่อการค้าว่า พิกซ์ (Pix) ซึ่งผลิตอยู่ในรูปของสารละลาย เป็นสารที่มีพิษสูงปานกลางต่อคนและสัตว์ สารนี้ดูดซึมเข้าทางใบได้ดีจึงเหมาะที่จะใช้โดยการพ่นทางใบ

5. paclobutrazol (2 RS, 3 RS)-1-(4-chlorophenyl)-4,4-dimethyl-2-(1 H-1,2, 4-triazol-1-yl)pentan-3-oI) เป็นสารชนิดใหม่ล่าสุด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังให้ความสนใจอย่างมากโดยเน้นการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการผลิตไม้ผลและพืชไร่ สารนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก และมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในอนาคต ผลของสารนี้พอสรุปได้ว่า ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้พืช เร่งการเกิดดอก ลดความยาวของปล้องซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการตัดแต่งกิ่งไม้ผล สารนี้เริ่มออกจำหน่ายในต่างประเทศโดยมีชื่อการค้าคือ Cultar  แต่ยังไม่มี จำหน่ายในประเทศไทย วิธีการให้สารแก่พืชที่เหมาะสมคือการรดลงดินเนื่องจากรากพืชสามารถดูดซึมสารนี้ได้ดี และส่งผ่านทางท่อน้ำขึ้นไปยังส่วนอื่นๆ ของต้น หรืออาจให้สารโดยการฉีดที่ลำต้นโดยตรง (stem injection) แต่วิธีการยุ่งยากกว่าการรดลงดิน ส่วนการให้สารทางใบ โดยการพ่นมักจะเกิดปัญหาว่าสารไม่ค่อยเคลื่อนย้ายไปยังส่วนอื่นจึงเป็นวิธีที่ไม่แนะนำให้ทำ

ที่มา:พีรเดช  ทองอำไพ