สารในรูปเคมีภัณฑ์

สารในรูปเคมีภัณฑ์เป็นสารที่มีความบริสุทธิ์สูง ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการทดลองต่างๆ การผลิตสารให้มีความบริสุทธิ์สูงทำได้ยากกว่าสารในรูปสารเคมีเกษตร ดังนั้นราคาจึงมักสูงกว่าทั่วๆ ไป บางกรณีสารเหล่านี้ไม่ได้ผลิตขึ้นมาในรูปสารเคมีเกษตร แต่ถ้าต้องการใช้สารชนิดนั้นๆ เพื่อการผลิตพืชก็อาจหาซื้อได้ในรูปเคมีภัณฑ์ตามร้านที่จำหน่ายสารเคมีทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป แล้วจึงนำมาผสมขึ้นให้ได้ความเข้มข้นตามที่ต้องการ การผสมสารเหล่านี้ขึ้นมาใช้จะต้องทราบถึงคุณสมบัติในการละลายของสารแต่ละชนิด เนื่องจากส่วนใหญ่จะไม่ละลายน้ำ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยอุปกรณ์ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เช่น เครื่องชั่งไฟฟ้า เครื่องแก้วสำหรับตวงสารอย่างละเอียด ดังนั้นโดยทั่วไปแล้ว การเตรียมสารจากเคมีภัณฑ์จึงมักทำได้เฉพาะในห้องปฏิบัติการซึ่งมีอุปกรณ์ดังกล่าวครบถ้วนเท่านั้น

การใช้สารในรูปเคมีภัณฑ์มีวิธีการใช้เหมือนกับสารเคมีเกษตรทั่วไป แต่ในบางกรณีอาจมีข้อเสียเปรียบบางประการ เช่น การดูดซึมน้อยกว่า หรือสลายตัวได้เร็วกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อเสียนี้อาจแก้ไขได้โดยการผสมสารเพิ่มประสิทธิภาพ (surfactant) ลงไปด้วยเพื่อช่วยในการ
ดูดซึมดีขึ้น

โดยสรุปแล้ว การนำสารในรูปเคมีภัณฑ์มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรโดยตรงมักจะเป็นไปอย่างจำกัด คือจะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหาสารในรูปเคมีเกษตรมาใช้ประโยชน์ได้ หรือในกรณีที่ต้องการเตรียมสารขึ้นมาใช้ประโยชน์เฉพาะอย่างลงไป เช่นใช้ในการทดลองหรือใช้เพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากสารในรูปเคมีภัณฑ์สามารถนำมาเตรียมให้อยู่ในรูปต่างๆ และความเข้มข้นต่างๆ ตามที่ต้องการได้อย่างกว้างขวาง เคมีภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยได้แก่ NAA, IBA, IAA, 2,4-D, 2,4,5-T, kinetim, BAP, GA3, 4-CPA, และ 2-NOA เป็นต้น

ที่มา:พีรเดช  ทองอำไพ