สาหร่ายสไปรูไลนา:การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูไลนาเพื่อการบริโภค

การพัฒนาการเพาะเลี้ยงสาหร่ายสไปรูไลนาเพื่อการบริโภค

สไปรูไลนาเป็นสิ่งมีชีวิตที่พบอยู่ทั่วไปในน้ำจืดและน้ำกร่อย โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนชื้น มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถเพาะเลี้ยงให้ผลผลิตสูง และจากการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารพบว่ามีคุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะโปรตีน กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต และสารอื่น ๆ อีกหลายชนิด  ปัจจุบันได้นำมาผลิตเป็นอาหารเสริมของมนุษย์ โดยการทำแห้ง อัดเม็ด แคปซูล มีเพียงส่วนน้อยที่นำสไปรูไลนามาบริโภคสด  การบริโภคสดได้เริ่มครั้งแรกประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ตามแนวคิดของคุณธิดา  เพชรมณี  สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา ได้ทำการส่งเสริมให้ชุมชนเพาะเลี้ยงและนำมาบริโภคสด  ซึ่งมีวิธีเลี้ยงที่แตกต่างกันตามความสะดวกและสภาพแวดล้อมของชุมชนนั้น ๆ ทำให้เกิดปัญหาหลายประการเช่น ชุมชนบางกลุ่มไม่มีความมั่นใจในความสะอาด การปนเปือนจากสารที่ไม่พึงประสงค์  ไม่สามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ และยุ่งยากในการทำความสะอาด ด้วยเหตุนี้จึงได้พัฒนาการเลี้ยงเพื่อให้ชุมชนได้บริโภคสดด้วยความปลอดภัย และผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่มีคุณภาพและผลผลิตตามวัตถุประสงค์  จากการศึกษาติดต่อกันมาสรุปได้ดังนี้

1.  การเพาะเลี้ยงสไปรูไลน่าแบบพื้นบ้านในปัจจุบัน

1.1  วิธีการเพาะเลี้ยง การเพาะเลี้ยงขึ้นอยู่กับศักยภาพและสภาพแวดล้อมของชุมชน สรุปได้คือ

–  สภาพแหล่งเพาะเลี้ยง เลี้ยงในอาคาร กลางแจ้ง โรงเรือนที่มีหลังคาผนังกั้นมุ้งลวด  และโรงเรือนมีหลังคาไม่มีผนังกั้น

–  ภาชนะเพาะเลี้ยง มี 2 แบบ คือ ใช้ถังพลาสติกขนาดแตกต่างกัน ตั้งแต่ 60-1,000 ลิตร และบ่อคอนกรีต ที่มีรูปแบบ ขนาดแตกต่างกัน

–  การให้อากาศ  ใช้เครื่องให้อากาศ หัวทราย

–  อาหารเพาะเลี้ยง  ใช้สูตรที่ประกอบด้วยสาร 9 ชนิด ชุมชนเรียกว่าสูตร 9 ตัว และสูตร 9 ตัวที่ปรับปรุงน้ำที่ใช้แตกต่างกันคือ ใช้น้ำประปาที่ผ่านการกรอง น้ำประปาที่ทิ้งไว้ 1-2 วัน น้ำบาดาล และน้ำบ่อ

–  การเก็บเกี่ยวมี 4 แบบ คือ กาลักน้ำ เครื่องปั๊มน้ำ แอร์ลิฟต์ ช้อนด้วยกระชอน กรองด้วยผ้ากรองขนาด 60 ไมครอน

–  การบ้างสาหร่าย มี 3 แบบ คือ ให้น้ำไหลผ่านสวิงอย่างช้า ใช้น้ำจากท่อปล่อยเป็นฝอยละเอียด ฉีดพ่นอย่างแรง  และใช้ทั้ง 2 วิธีผสมกัน

–  ผลผลิตที่ได้ เฉลี่ย 500-3,333 กรัม/1,000 ลิตร เมื่อเลี้ยงได้ 10-14 วัน

1.2  ในปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสไปรูไลนาเพื่อบริโภคสดแบบพื้นบ้านยังคงมีการเพาะเลี้ยงอยู่  ส่วนใหญ่เลี้ยงไว้เป็นอาหารเสริมในครัวเรือน กรณีที่คนในครอบครัวมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ และเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม  สำหรับการเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะผลิตเป็นสาหร่ายแห้ง ทำให้สารอาหารบางชนิดเสื่อมและลดน้อยลงบ้าง ดังนั้นการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ชุมชนในการเพาะเลี้ยงเพื่อบริโภคสดจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรส่งเสริม เพราะให้คุณค่าทางอาหารสูงกว่าและสามารถผลิตได้เอง