ส้ม:โรคไวรัสใหม่ของส้ม

ไมตรี  พรหมมินทร์  กลุ่มงานไวรัสวิทยา กองโรคพืชและจุลชีววิทยา

โรคไวรัสที่ว่าใหม่เป็นโรคใหม่สำหรับบ้านเรา เพราะรายงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2536 แต่สำหรับต่างประเทศพบโรคนี้มานานแล้ว ปัจจุบันโรคนี้แพร่ระบาดไปเกือบทุกประเทศทั่วโลกที่ปลูกส้ม เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ โรคที่ว่านี้คือ โรคแทตเทอร์ลีฟ(Tatter leaf) เป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส ในบ้านเราพบเป็นกับส้มเขียวหวานที่สถานียางโป่งแรก อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี พบเป็นกับมะกรูด ที่อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และพบเป็นกับมะนาวที่อ.เมือง จ.ชัยนาท

ลักษณะอาการ

เชื้อสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ซีทีแอลวี (Citrus tatter leaf virus;CTLV) มีรูปร่างคดยาว โรคนี้สามารถเป็นกับส้มได้ทุกพันธุ์  แต่จะอยู่ในลักษณะแฝงคือ อาการของโรคไม่เด่นชัด พันธุ์ส้มที่มีความรุนแรงต่อโรคนี้คือ ซิตรัส เอ็กเซลซ่า (Citrus excels)และพันธุ์ส้มสามใบ(Trifoliate orange; Poncirus trifoliate หรือส้มสามใบลูกผสม โดยจะแสดงอาการแคระแกรนเกิดจุดเขียวอ่อน หรืออาการด่างไม่ชัดเจนบนใบและใบก็จะมีอาการบิดเบี้ยวผิดปกติหรือใบแหว่ง(tatter leaves)ซึ่งเป็นอาการที่เรียกเชื้อโรคนี้ สำหรับการถ่ายทอดเชื้อโรคโดยแมลงพาหนะ (vector)ยังไม่มีรายงาน

ความเสียหาย

1.  โรคนี้สามารถติดไปกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการตัดแต่งกิ่งส้ม หรือการติดตาทาบกิ่งจึงมีผลทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดไปยังต้นส้มปกติได้ง่ายและมากยิ่งขึ้น และสามารถถ่ายทอดทางน้ำคั้นจากใบส้มที่เป็นโรคไปยังพืชล้มลุกได้ เช่น ถั่วพุ่ม

2.  เชื้อโรคนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อต้นตอบางชนิดคือ ส้มสามใบพันธุ์แท้ (Trifoliate orange) และส้มสามใบลูกผสม นอกจากโรคจะทำให้ต้นส้มแคระแกรน ผลผลิตลดลงแล้วที่สำคัญตรงบริเวณรอยต่อระหว่างส้มพันธุ์ดีกับต้นตอจะไม่กลมกลืนกัน และเกิดรอยย่นมีผลทำให้ต้นส้มหักโค่นได้ง่ายตรงบริเวณรอยต่อเมื่อมีลมพัดแรงๆ

แนวทางการป้องกันกำจัด

1.  ใช้ส้มปลอดโรคในการขยายพันธุ์ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่กลุ่มงานวิทยาไมโค กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร

2.  เมื่อพบต้นส้มเป็นโรค ควรขุดและเผาทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

3.  โรคนี้สามารถติดต่อไปกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการตัดแต่งกิ่งส้ม จะทำให้เชื้อโรคติดไปกับต้นส้มปกติได้ เพราะฉะนั้นเครื่องมือทุกชนิดที่ใช้ในการตัดแต่งกิ่ง ควรจุ่มในสารละลาย 1℅โซเดียมไฮโปคลอไรด์(NaOCI)หรือ 1℅ ของน้ำยาคลอรอกซ์ หรือไฮเตอร์ เพื่อทำลายเชื้อทุกครั้ง ก่อนที่จะทำการตัดแต่งกิ่งแต่ละต้น

4.  อย่าพยายามนำต้นส้มหรือพืชตระกูลส้มทุกชนิดเข้าสวน เพราะอาจมีเชื้อโรคชนิดนี้ติดอยู่ นอกเสียจากว่า ส้มต้นนั้นได้รับการรับรองแล้วว่าปลอดโรค