หญ้าดีหมี(จีน)มีประโยชน์อย่างไร


ชื่อ
จีนเรียก     คอยอึ้งเช่าซัวฮิ่มต้า ฮ่งฮ่วยเช่า อ่วยเกี้ยงโชว้ Plectranthus lasiscarpas Hayata.

ลักษณะ
ชอบขึ้นตามเนินดิน ริมคูนํ้าและที่ใกล้นํ้า เป็นพืชขึ้นอยู่หลายปี ลำต้นสีเขียวเข้ม ขึ้นตรง ลำต้นเป็นเหลี่ยมสูงประมาณ 2-3 ฟุต ใบคู่ มีก้านใบ รูปใบกลมยาว ปลายแหลม ยาวประมาณ 2 นิ้ว ขอบใบเป็นฟันเลื่อย หลังใบขรุขระไม่เรียบเหมือนหน้าใบ เอ็นใบเห็นชัด เมื่อเด็ดใบหรือต้นจะมีนํ้าสีเหลืองไหลออกมาให้เห็น ออกดอกระหว่างหน้าร้อนถึงหน้าหนาว ดอกขึ้นเป็นช่อหลายชั้น ก่อนจะเป็นช่อดอกมักมีใบขึ้นที่ฐานสองใบรองรับ ส่วนดอกแตกเป็น 5 กลีบ สีขาวแกมม่วง ออกเมล็ดกลมแข็งไม่โต

รส
รสขมฝาด ธาตุไม่ร้อนไม่เย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
สามารถแก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ แก้ปวด ใช้ภายนอกแก้บวม ฤทธิ์เข้าถึงปอด และตับ

รักษา
ปวดท้องหวัดแดด อ่อนเพลียหลังจากเจ็บป่วย ตับอักเสบ ดีซ่าน บวมน้ำ คัดเจ็บทรวงอกเนื่องจากถูกทุบตี เจ็บอกกระอักเลือด รักษาภายนอกพอกแก้ผู้หญิงเจ็บนม

ตำราชาวบ้าน
1. ปวดท้องหวัดแดด – หญ้าดีหมี ครึ่งตำลึง ต้มน้ำรับประทาน
2. บำรุงหลังเจ็บป่วย – หญ้าดีหมี 2 ตำลึงตุ๋นกับไก่รับประทาน
3. ตับอักเสบ – หญ้าดีหมี 1 ตำลึง ต้มใส่นํ้าตาลทรายขาว
4. ดีซ่าน – หญ้าดีหมี 1 ตำลึง ต้มใส่นํ้าตาลแดงหรือจะใส่หอยสดด้วยก็ได้ หรือต้มกับสายนํ้าผึ้ง และถั่วดำ รับประทานก็ได้
5. บวมนํ้า – หญ้าดีหมี 1 ตำลึง ต้มรับประทานหรือต้มล้างด้วยก็ได้
6. คัดเจ็บทรวงอกสีข้างหลังถูกตี – หญ้าดีหมี ครึ่งตำลึง ต้มเอาน้ำชงเหล้า รับประทาน หรือเอาใบสัก 5 ใบเคี้ยวแหลกแล้วแกมด้วยเหล้ารับประทาน
7. เจ็บหน้าอกกระอักเลือด – หญ้าดีหมี 1 ตำลึง ต้มเอานํ้ากินพร้อมกับปัสสาวะเด็กเล็ก
8. หญิงเจ็บนม – เด็ดใบหญ้าดีหมี 12 ใบ ตำแหลกเอานํ้ารับประทานกับเหล้า ส่วนกากใช้พอก

ปริมาณใช้
สดทั้งต้นไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกิน 1 ตำลึง ใช้ภายนอกกะพอประมาณ

ข้อควรรู้
หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช