หญ้าหนวดปลาดุก

หญ้าหนวดปลาดุก (Yaa nuat plaa duk) หญ้ารัดเขียด หนวดแมว (ไทย) หญ้าดอกแดง (เชียงใหม่)
เป็นกกขนาดเล็ก เจริญตั้งตรงขึ้น อาจเป็นพืชปีเดียว (annual) หรือข้ามปี (perennial) ขึ้นเป็นกอใหญ่ๆ และเจริญรวดเร็ว สูง 30-50 ซม. ลำต้นที่ชูก้านดอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างแบน แข็ง มีรากฝอยสีนํ้าตาลเป็นจำนวนมาก
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกที่โคนของลำต้นในลักษณะที่สานกัน ใบยาวเรียว อาจยาวถึง 40 ซม. กว้าง 2.5 มม. ส่วนโคนใบจะแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบใบบาง ปลายใบแหลม
ดอก ออกเป็นช่อ (compound umbel) ขนาดของช่อยาว 6-10 ซม. ที่โคนของก้านช่อมีแผ่นสีเขียวคล้ายใบ (bract) ยาว 0.5-4 ซม. ซึ่งมักจะสั้นกว่าความยาวของช่อดอก ช่อดอกประกอบด้วยช่อดอกย่อยเป็นจำนวนมาก มีลักษณะค่อนข้างกลม ยาว 1.5-2 มม. กว้าง 1-1.5 มม. ปลายมนหรือแหลม สีน้ำตาลปนแดง มีก้านสั้นๆ ดอกย่อยแต่ละดอกมีกาบ (glume) เป็นรูปไข่ค่อนข้างกว้าง สีน้ำตาลปนแดง ยาว 1.5-2 มม. ปลายมน และมีลายเส้น 3 เส้น เส้นที่อยู่ตรงกลางเป็นสีเขียว เกสรตัวผู้ 2 อัน อับเรณู 2 เซล สีเหลือง เกสรตัวเมียปลายแยกเป็น 3 แฉก อาจพบ 2 แฉก เป็นบางครั้ง
ผล (achene) สีเหลืองหรือขาว รูปไข่กลับ ผิวขรึขระ มีร่องตามยาวและตามขวาง เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ โดยอาศัยเมล็ด พบในนาข้าวทั่วไป