หน่อไม้ฝรั่ง(Asparagus)


ลักษณะทั่วไป
เป็นพืชที่เพิ่งนำเข้ามาปลูกใหม่แต่มีอนาคตด้านตลาดดี ปลูกง่าย อายุการเก็บเกี่ยวยาว ให้รายได้แก่เกษตรกรเกือบทุกเดือน การดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก ต้องการใช้สารเคมีน้อย เนื่องจากไม่ค่อยมีปัญหาโรคและแมลง สามารถทนแล้งและการขาดน้ำได้ ราคาค่อนข้างดี มีโอกาสส่งจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ หรือส่งเข้าโรงงานแปรรูปอาหารถ้าหากผลผลิตล้นตลาด เป็นพืชผักที่สามารถปลูกในสภาพไร่ ระยะปลูกห่าง จึงทำการปลูกพืชแซมได้
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Mary Washington, California 309 และ 500
ฤดูปลูก เริ่มปลูกต้นฤดูฝน(หรือเมื่ออุณหภูมิ 7-10°ซ.)
ความสูง 300-1200 เมตร
ความเป็นกรดด่างของดิน 6.0-6.5
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก(ต้นxแถว)     30×180 ซม. (แถวเดี่ยว)
ความลึก (ต้นxแถว)    15 ซม.
จำนวนต้น 2 ต้น/ตร.ม.
การเตรียมกล้า
ระยะปลูก(ต้นxแถว)    10×12 ซม.
ความลึก 1-2 ซม.
จำนวนต้น 250 ต้น/ตร.ม. (2-3 เมล็ด/หลุม) เพียงพอแก่การย้ายปลูกในพื้นที่ 125 ตร.ม.
ความกว้างของแปลงกล้า 1 เมตร
อายุพืช: ปีที่ 1    ช่วงเวลา    เดือน
ระยะต้นอ่อน             6-12 เดือน
ดูแลรักษา                4 เดือน            พ.ค.-ส.ค.
เก็บเกี่ยว                   5 เดือน            ก.ย.-ม.ค.
พักตัว*                      3 เดือน           ก.พ.-เม.ย.
ปีที่ 2-20
ระยะเวลาเก็บเกี่ยว   9 เดือน           พ.ค.-ม.ค.
พักตัว*                      3 เดือน          ก.พ.-เม.ย.
*ตลอดระยะเวลาเก็บเกี่ยวได้ทำการเก็บเกี่ยว 2 เดือนและรอต้นพักตัว 1 เดือนแล้วเก็บรุ่นต่อไป
ผลผลิต
การเก็บหน่อเขียว    270 กรัม/ตร.ม.
การเก็บหน่อขาว        337 กรัม/ตร.ม.
(ช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว 9 เดือน แบ่งเป็น 3 ช่วง)
ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนผลตอบแทน ยังไม่มีรายละเอียด
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยไฟ ทำความเสียหายช่วงฤดูร้อน ใช้พอร์ส หรือ เมซูโรล เมื่อเกิดปัญหา
โรค
โรคใบจุด พบในฤดูฝน ถ้ามีการระบาด ป้องกันแก้ไขโดยใช้ ไดเทนเอ็ม 45 หรือ เดลซีน เอ็มเอ็กซ์ (Delsene MX) ทุก 7 วัน ตลอดฤดูฝน
โรคลำต้นไหม้ (Top Necrosis) มักมีการระบาดช่วงฝนชุก การป้องกันได้โดยฉีดไดเทนเอ็ม 45 สลับกับ ซาพรอล (Saprol) ทุกๆ 7 วันในฤดูฝน
โรคยอดเน่า (Shoot Roat) เกิดจากเชื้อ Phyllosticta sp. เมื่อพื้นที่ปลูกมีการระบายน้ำไม่ดี ป้องกันแก้ไขโดยใช้เทอร์ราคลอร์ สัปดาห์ละครั้งหรือตามความเหมาะสมเมื่อโรคระบาด
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเตรียมกล้า
ขุดพลิกดินให้ดี แล้วขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ใส่ปูนขาว ปุ๋ยหมัก ปุ๋ย 12-24-12 ผสมให้เข้ากับดิน ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ทำร่องหยอดเมล็ดขวางแปลงแต่ละร่องห่างกัน 12 ซม. หยอดเมล็ดหลุมละ 2-3 เมล็ด ระยะห่าง 10 ซม กลบดินแล้วรดน้ำ
หลังเมล็ดงอก 7-10 วัน ใช้ปุ๋ย 46-0-0 ละลายน้ำรด เมื่ออายุกล้าได้ 1 เดือน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 โดยขีดร่องระหว่างแถวต้นกล้าโรยปุ๋ยในร่อง กลบดินแล้วรดน้ำ หมั่นตรวจดูความสมบูรณ์ของต้นกล้า ถ้าไม่เจริญเติบโตดีให้ใส่ปุ๋ย 46-0-0 เพิ่ม ฉีดพ่นสารเคมีตามความจำเป็น รดน้ำเมื่อดินขาดความชุ่มชื้น การย้ายปลูกใช้เสียมขุด ล้างดินออกจากราก ตัดยอดให้เหลือประมาณ 10 ซม. แยกต้นกล้าที่ได้จากแต่ละหลุมกล้าออกเป็น 2-3 ต้น แช่น้ำยา ไดเทน เอ็ม 45 เป็นเวลา 15 นาที ก่อนนำไปปลูก
ข้อควรระวัง
1.เมื่อแยกต้นกล้าระวังอย่าให้รากขาด ควรแยกกล้าแต่ละกอสำหรับปลูก
2. ให้น้ำสม่ำเสมอ มิฉะนั้นต้นจะไม่เติบโตสม่ำเสมอกัน
ช่วงการปลูก
กำจัดวัชพืชและใส่ปูนขาว ค่อยขุดดินเตรียมแปลง ตากแดดทิ้งไว้ 15 วัน ยกแปลงกว้าง 120 ซม. ให้มีช่องว่างระหว่างแปลง 60 ซม. ต้องการระยะปลูกห่าง เพื่อความสะดวกในการพูนโคนภายหลัง ใช้จอบขุดร่องลึก 30 ซม. ตามแนวของแปลง ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ย 15-15-15 กลบดินให้ได้ระดับแปลงแล้วรดน้ำ เมื่อย้ายปลูกพยายามอย่าให้ส่วนลำต้นใต้ดินหรือเหล้าเสียหาย ลำต้นส่วนนี้จะมีระบบรากแยกออกไป 2-4 แขนง ไม่ควรแยกออกปลูก
ข้อควรระวัง
การปลูกระยะห่าง เปิดโอกาสให้ปลูกพืชผักอื่นแซมได้ เป็นวิธีที่ดึงดูดให้เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลมากขึ้น เพราะปลูกหลายพืชภายในแปลงเดียวกัน ควรกันพื้นที่ระหว่างร่องหน่อไม้ฝรั่ง กว้างพอที่จะทำแปลงปลูกพืชอื่นๆ
ช่วงการดูแลรักษา
หลังย้ายปลูกได้ 15 วัน ใส่ปุ๋ย 21-0-0 ในร่องระหว่างแถวปลูก กลบดินแล้วรดน้ำ เมื่อย้ายปลูกได้ 30 วัน ใส่ปุ๋ย 15-15-15 และใส่ซ้ำอีกครั้งเมื่อได้ 100 วัน ช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว ให้ใส่ปุ๋ย 15-15-15 เดือนละครั้งจนกว่าจะหมดฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อสังเกตว่าพืชไม่ค่อยเจริญเติบโต ให้ใส่ปุ๋ย 21-0-0
ทำการพูนดินกลบโคนหลังย้ายปลูกได้ 1 เดือน และทำสม่ำเสมอทุกๆ เดือน โดยขุดดินจากแปลงปลูก กลบโคนสูงประมาณ 10 ซม.
ในระยะแรกของช่วงเวลาดูแลรักษา เด็ดยอกระดับเหนือดินประมาณ 60 ซม. ป้องกันไม่ให้ต้นสูงเกินไปจนล้ม
เมื่ออายุได้ 4 เดือน จำนวนต้นในแต่ละกอควรเพิ่มจาก 2-4 เป็น 15 ต้น ถ้าต้นใหม่สุดมีขนาด 0.6 ซม. (ขนาดแท่งดินสอ) ให้เก็บต้นแม่เพียง 4-5 ต้นต่อกอ โดยขุดดินรอบๆ กอ แล้วเด็ดต้นที่ไม่ต้องการทิ้ง ต้นแม่ที่เก็บไว้จะสะสมอาหารเลี้ยงลำต้น เพื่อให้เกิดการแตกหน่อ เมื่อต้นแม่อายุมากและเริ่มตายให้ตัดทิ้งเสีย และคัดเลือกหน่อใหม่เก็บเป็นต้นแม่แทนต่อไป ทำการฉีดพ่นยา ถ้ามีปัญหาโรคและแมลง ควรให้น้ำ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์ โดยให้น้ำตามแนวร่องจะเหมาะกว่าการใช้สปริงเกลอร์
ระยะพักตัว    ฤดูร้อน (ระยะเวลาไม่แน่นอน)
ไม่มีการให้น้ำ ใส่ปุ๋ย หรือฉีดพ่นยา ใช้มีดตัดลำต้นเหนือดินทิ้งปล่อยให้พักตัวประมาณ 2 เดือน จึงเริ่มให้น้ำ และใส่ปุ๋ย 21-0-0 + 15-15-15 จนถึงเวลาเริ่มฤดูเก็บเกี่ยวและทำการดูแลรักษาดังกล่าวแล้วข้างต้น ควรใส่ปุ๋ยคอกซ้ำอีก เพื่อปรับปรุงดิน
ข้อควรระวัง
1. ฉีดพ่นยาเพื่อป้องกันโรคในฤดูฝน เมื่อมีความจำเป็น
2. การพูนดินกลบโคนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ช่วงการเก็บเกี่ยว
เริ่มเก็บได้เมื่อพืชอายุ 4 เดือน หลังย้ายปลูกในปีแรกให้เลือกเก็บหน่อเขียวเท่านั้น เพราะต้นยังไม่สมบูรณ์พอที่จะให้เก็บหน่อขาวได้
หน่อเขียว ได้แก่ หน่ออ่อนซึ่งแทงพ้นดินจนกระทั่งมีความสูงมากกว่า 17 ซม. เก็บโดยขุดดินตรงโคนหน่อ ใช้มือดึงเอาหน่อออก แล้วพูนดิน กลบโคนให้เรียบร้อยตามเดิม
หน่อขาว ได้แก่ หน่อที่ยังอยู่ใต้ดิน สามารถเก็บได้เมื่อต้นมีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป เก็บหน่อที่ได้ขนาดยาวกว่า 17 ซม. ขึ้นไป พูนดินกลบโคนให้สูงพอที่จะได้หน่อขาวขนาดยาวตามที่ต้องการ
ข้อควรระวัง
1. การปลูกในพื้นที่ร่วนซุย ช่วยให้เก็บเกี่ยวง่าย
2. เลือกเก็บหน่อเขียว หรือหน่อขาวตามที่ตลาดต้องการ
3. ถ้ายอดหน่อขาวแทงเหนือดินถูกแสงแดดเกินจะกลายเป็นหน่อเขียว คอยระวังการพูนดินกลบโคน ถ้าต้องการเก็บหน่อขาว
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่