หลักการในการใช้ยาบังคับให้มะม่วงออกดอก

1. การใช้ยาบังคับให้ออกดอก ชาวสวนส่วนมากยังไม่รู้หลักการใช้ยาประเภทนี้ เห็นสวนอื่นใช้ได้ผลก็ใช้ตาม  ส่วนมากไม่ประสบผลสำเร็จ  ถึงกับกล่าวคำว่า “เข็ดไม่ใช้แล้ว ปล่อยให้มันออกเองตามธรรมชาติดีกว่า”

จากการสอบถามผู้รู้และเคยใช้ได้ให้หลักการไว้น่าคิด ดังนี้

ประการแรก จะต้องดูความสมบูรณ์ของต้นมะม่วง  โดยดูลักษณะใบต้องมีสีเขียวเข้มเป็นมัน  บนต้นมีใบมากพอสมควร  มีความพร้อมที่จะรับสารกระกตุ้นได้

ถ้าต้นมะม่วงไม่สมบูรณ์ใช้ยาบังคับไปจะไม่ได้ผล  ถ้าออกต้นอาจจะโทรมตายภายหลัง

เมื่อพ่นสารบังคับแล้วฝนเกิดชะล้าง  จำเป็นต้องพ่นซ้ำ บางครั้งแทนที่ช่อจะออกกลับเป็นใบอ่อนออกแทน  ชาวสวนบางคนให้ทัศนะว่า “ปล่อยให้มันออกของมันเองตามธรรมชาติดีกว่า ยังมีโอกาสได้มะม่วงบ้าง เงินค่ายาก็ไม่ต้องเสีย”

ประการที่สอง การใช้สารพิษฆ่าแมลง  จะต้องมีความรู้ความเข้าใจเช่นเดียวกันกล่าวคือ  ในระยะที่มะม่วงออกช่อได้ประมาณ 1 สัปดาห์  ถ้ามีแมลงรบกวนก็ยังสามารถพ่นสารพิษป้องกันได้แต่ถ้าดอกมะม่วงเริ่มบาน  ถ้าไปใช้สารพิษฆ่าแมลง  จะไปกำจัดทำลายแมลงที่ช่วยผสมเกสร เป็นต้นว่า แมลงพวกแมลงภู่ ผึ้ง ผีเสื้อ ระยะนี้ต้องงดการใช้สารพิษฆ่าแมลง

พ้นจากระยะนี้ไป  มะม่วงจะติดผลเป็นตุ่มเล็ก ๆ เรียกว่า “ระยะหัวแมลงวัน”  ตอนนี้ต้องหมั่นดูแลอย่างใกล้ชิด  จะมีเพลี้ยจักจั่น(แมลงกะอ้า) คอยดูดน้ำเลี้ยงตามบริเวณโคนช่อ ซึ่งเป็นเหตุให้ผลร่วง  ถ้าไม่พ่นสารพิษฆ่าแมลงป้องกันกำจัด ผลจะร่วงหมดช่อในที่สุด

วิธีสังเกตว่ามีเพลี้ยจักจั่นหรือแมงกะอ้า  ถ้ามีแมลงดังกล่าว  ให้สังเกตที่ใบมะม่วงจะพบขี้ของมันติดอยู่ ดูใบจะเปียกเป็นมัน