อากาศร้อน:ทำไมไก่มักจะตายเมื่อเจออากาศร้อน???

ทำไมเมื่ออากาศร้อนจึงมักพบปัญหาไก่ตายและจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร  ก่อนอื่นผมว่าเราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบระบายความร้อนของไก่กันก่อนว่า  ในขณะที่อากาศร้อนนั้นสัตว์ชนิดอื่นจะควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่และระบายความร้อนออกทางผิวหนังผ่านทางต่อมเหงื่อ  แต่ไก่ไม่มีต่อมเหงื่อ การระบายความร้อนออกจากร่างกายของไก่จึงต้องทำโดย หนึ่ง การแผ่รังสีความร้อนออกจากผิวหนัง สอง การผ่านความร้อนจากตัวไก่ไปสู่วัตถุที่เย็นกว่า เช่น กรง พื้นกรง วัตถุที่ใช้รองพื้น หรือเรียกว่าเป็นการนำความร้อนนั่นเอง สาม การระบายความร้อนโดยอาศัยการเคลื่อนไหวของอากาศรอบตัวพาความร้อนจากตัวไก่ไป และสี่ การระบายความร้อนออกจากร่างกายทางระบบหายใจโดยการอ้าปากหายใจ

โดยทั่วไปเมื่ออุณหภูมิของอากาศอยู่ระหว่าง 28-35 องศาเซลเซียส การระบายความร้อนของไก่โดย 3 วิธีแรก ซึ่งเป็นการส่งผ่านความร้อนทางผิวหนัง เหนียงและหงอน ก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย  สังเกตง่าย ๆ จะเห็นไก่แสดงอาการกางปีกกระพือ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ร่างกายได้สัมผัสกับอากาศและมีการพาความร้อนได้ดียิ่งขึ้น  นอกจากนี้ไก่จะพยายามหามุมที่เย็นที่สุดในโรงเรือนและขุดคุ้ยสิ่งรองพื้นเพื่อให้ตัวได้สัมผัสกับสิ่งที่เย็นกว่า  ด้วยเหตุนี้การเลี้ยงไก่ในกรงจึงมีโอกาสที่จะทำให้ไก่ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนมากกว่าไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อยพื้น เพราะในกรงที่คับแคบนั้นไก่จะไม่มีโอกาสเลือกหาจุดที่เย็นที่สุดได้  และเมื่ออากาศหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวไก่มีอุณหภูมิสูงขึ้นจนใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกายของไก่คือ 39 องศาเซลเซียส  การระบายความร้อนโดย 3 วิธีแรกก็มักจะไม่ค่อยได้ผล  ไก่จึงเริ่มระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยผ่านทางระบบหายใจ  ดังนั้นเมื่ออากาศร้อนมาก ๆ เราก็จะสังเกตเห็นไก่แสดงอาการอ้าปากหายใจและหายใจเร็วขึ้น  ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่การระบายความร้อนด้วยวิธีสุดท้ายนี้ยังไม่เพียงพอ  ไก่ก็จะเริ่มซึมลงและตายในที่สุด

ส่วนผลกระทบต่อลูกไก่นั้นพบว่า ลูกไก่ที่เลี้ยงในโรงเรือนที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูงมาก่อนนั้น  เมื่อโตขึ้นและให้ผลผลิต ความร้อนจะมีผลกระทบต่อผลผลิตน้อย แต่ถ้าเป็นลูกไก่ที่เลี้ยงในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิค่อนข้างดีมาก่อน  เมื่อโตขึ้นและให้ผลผลิตหากกระทบกับอากาศร้อนฉับพลันก็จะเกิดการสูญเสียได้ค่อนข้างมาก