อีเห็นลายเมฆ อีเห็นลายเสือ อีเห็นลายเสือโคร่ง

อีเห็น หรือ กระเห็น (Palm civet) เป็นสัตว์ในวงศ์เดียวกับชะมด  กินอาหารได้ทั้งสัตว์ขนาดเล็กรวมไปถึงพืชผลไม้ต่าง ๆ ข้อแตกต่างที่สำคัญทางด้านพฤติกรรมของอีเห็นและชะมด คือ อีเห็นจะกินพืชและผลไม้เป็นอาหารมากกว่าชะมดซึ่งกินสัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหารมากกว่า อีกทั้งการหากินอีเห็นจะปีนป่ายต้นไม้หากินมากกว่าชะมดที่มักหาอาหารบนพื้นเป็นส่วนใหญ่

อีเห็นมีมากมายหลายสายพันธุ์ เรามาทำความรู้จักกับอีเห็นลายเมฆ อีเห็นลายเสือ อีเห็นลายเสือโคร่ง

อีเห็นลายเมฆ

ชื่อสามัญ Banded linsang
ชื่อวิทยาศาสตร์ Prionodon linsang

อีเห็นลายเมฆ
อีเห็นลายเมฆมีถิ่นกำเนิดในเทือกเขาตะนาวศรี ไทย มาเลเซีย สุมาตรา ชวา และบอร์เนียว ในประเทศไทยมีมากทางภาคใต้

สีพื้นของตัวมีสีน้ำตาลแกมเหลืองซีดๆ กลางหลังมีลายพาดสีดำขนาดใหญ่ 4 แถบ ทางด้านบนของคอและข้างๆ คอมีแถบสีดำพาดเป็นทางตามความยาวของลำตัวไปจนถึงไหล่

ข้างๆ ตัว และที่ขาทั้ง 4 มีลายเป็นจุดสีดำๆ จมูกสีดำ

ด้านท้องมีสีน้ำตาลอ่อนแกมเหลืองซีดๆ ไม่มีลาย

หางเป็นปล้องๆ สีดำประมาณ 6-7 ปล้อง ปลายสุดหางมีสีดำ อีเห็นลายเฆฆชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบที่ค่อนข้างรก หากินบนพื้นดิน ชอบอยู่ตัวเดียว อาหารได้แก่สัตว์เล็กๆ ตลอดจนผลไม้สุก มันก็ชอบกิน อีเห็นลายเมฆออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว ทำรังอยู่ใต้โพรงไม้ที่อยู่โคนต้นของต้นไม้ใหญ่ รังทำด้วยกิ่งไม้เล็กๆ และใบไม้เอาวางสุมๆ กัน อีเห็นลายเมฆ สามารถมีอายุอยู่ได้ถึง 5-9 ปี

อีเห็นลายเสือ

ชื่อสามัญ Spotted linsang
ชื่อวิทยาศาสตร์ Prionodon pardicolor

อีเห็นลายเสือมีถิ่นกำเนิดใน เนปาล อัสสัม พม่า ไทยและประเทศต่างๆ ในแหลมอินโดจีน

อีเห็นลายเสือมีขนาดเล็กกว่าอีเห็นลายเมฆ รูปร่างเปรียว สีพื้นตัวมีสีน้ำตาลอมเหลือง ข้างๆ ตัว บนหลังและที่ขา มีจุดขนาดใหญ่สีดำ โดยเฉพาะบนหลังจุดนี้ จะเรียงเป็นแถวยาวตลอดกลางหลัง ข้างๆ คอก็มีจุดสีดำเช่นเดียวกัน ขอบใบหูมีสีดำ ด้านท้องมีสีน้ำตาลอมเหลืองเป็นสีเรียบๆ ไม่มีลายหรือจุด หางเป็นปล้องๆ สีดำสลับเหลืองประมาณ 9   ปล้อง หางค่อนข้างยาว

ออกหากินในเวลากลางคืน ชอบหากินบนพื้นดินแต่ก็ปีนต้นไม้ได้เก่ง อาหารได้แก่ นก ไข่นก และสัตว์เล็กๆ เช่น หนู กระรอก ตลอดจนสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ ฤดูผสมพันธุ์ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว ออกลูกอยู่ตามโพรงไม้หรือตามโพรงดินโคนต้นไม้ใหญ่ อีเห็นลายเสือสามารถมีอายุอยู่ได้ถึง 8-9 ปี

 

อีเห็นลายเสือโคร่ง

ชื่อสามัญ Banded Palm Civet
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hemigalus derbyanus

อีเห็นลายเสือโคร่ง มีถิ่นกำเนิดใน พม่า ไทย มาเลเซีย สุมาตรา และบอร์เนียว ในประเทศไทยมีมากในป่าทางภาคใต้ สีพื้นของตัวมีสีน้ำตาลอมเหลืองซีดๆ มีลายสีน้ำตาลเข้มเป็นแถบแคบๆ พาดกลางหลังเป็นช่วงๆ ประมาณ 6 แถบ และที่โคนหางอีก 1-2 แถบ ด้านข้างและท้องไม่มีจุดเลย บนหัวและบนคอมีลายเป็นทางยาวสีดำ ลายนี้เริ่มจากจมูกลากเป็นทางไปจนถึงท้ายทอย และมีแถบกว้างๆ อีกแถบหนึ่ง สีดำจากจมูกผ่านตาจนถึง โคนหู

ส่วนใหญ่หากินบนต้นไม้มากกว่าบนพื้นดินและหากินในเวลากลางคืน อาหารได้แก่ หนอน มดและสัตว์เล็กๆ ออกลูกครั้งละ 1 ตัว

ที่มา:พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503