โรคเน่าและเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อราSclerotinia

(Sclerotinia rot and wilt)

เป็นโรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อราที่จัดว่าสำคัญของพืชผักอีกโรคหนึ่งได้มีการกล่าวถึงโรคนี้ครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา จากรัฐฟลอริดา เมื่อปี ค.ศ. 1893 ปัจจุบันพบระบาดเป็นกับพืชต่างๆ อย่างกว้างขวางหลายชนิดหลายตระกูล ในพืชที่เพาะปลูกทุกแห่งของโลก

พืชที่เป็นโรคนี้เท่าที่พบมีมากกว่า 200 ชนิด ทั้งธัญพืช ไม้ดอก ไม้ผล พืชผัก และวัชพืช เฉพาะพืชผักอย่างเดียวก็มี มากมาย เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำดาว กะหล่ำปม แครอท ข้าวโพดหวาน บีท ถั่วต่างๆ ทั้งถั่วฝักยาว ถั่วแขก ถั่วลันเตา ถั่วดำ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แตงร้าน แตงกวา แตงโม มะเขือเปราะ มะเขือยาว หอม กระเทียม หอมใหญ่ พริก ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม กระเจี๊ยบ มันฝรั่ง สควอช ฟักทอง แรดิช มะเขือเทศ มันเทศ ฯลฯ

อาการโรค

อาการแท้จริงที่ปรากฏให้เห็นบนพืชโดยทั่วๆ ไป คือ

เน่าและเหี่ยวเฉา นอกจากนั้นอาจมีอาการอื่นๆ อีกหลายอย่าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช และส่วนที่เชื้อเข้าทำลาย เช่นอาการ damping-off ในต้นกล้าอาการเน่าของหัว หน่อ ผล และต้น อาการแผลสะเก็ดที่ต้น กิ่งก้าน (stem canker) อาการต้นแห้งไหม้ อาการรากและโคนเน่า เป็นต้น บางครั้งอาการแผลที่ปรากฏบนผลหรือหัว อาจมีลักษณะเน่าเป็นวงกลมที่เรียกว่า circular rot เชื้อ Sclerotinia ไม่ทำลายเฉพาะพืชที่ยังอยู่ในแปลงปลูกเท่านั้น แต่ยังทำความเสียหายให้กับผลิตผลของพืชหลังเก็บเกี่ยวทั้งในขณะอยู่ในโรงเก็บขณะขนส่ง และวางขายในตลาดด้วย

อาการโดยทั่วไปเริ่มจากแผลสีนํ้าตาลเข้ม ที่ผิวของสำต้นส่วนที่อวบอ่อน อยู่ใกล้หรือต่ำกว่าระดับดินลงไปเล็กน้อยอาการดังกล่าวเมื่อเริ่มเกิดขึ้นมักสังเกตไม่เห็นจนกระทั่งพืชแสดงอาการภายนอกคือใบแก่ที่อยู่ส่วนล่างๆ ของต้นซีดจางลงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแล้วเหี่ยว พวกผักกาดต่างๆ บางครั้งไม่แสดงอาการเหลืองแต่ก้านใบจะอ่อนพับลู่ลง ขณะที่อาการเหี่ยวทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น บริเวณแผลที่ต้นจะปรากฏเส้นใยสีขาวคล้ายปุยฝ้ายของเชื้อราเกิดขึ้นปกคลุมแผ่ขยายลุกลามออกไปโดยรอบ เป็นรัศมีวงกลมจากจุดเริ่มต้น ในกรณีของต้นกล้าเส้นใยจะเกิดลามคลุมไปทั่วทั้งต้น ทำให้ต้นกล้าตายอย่างรวดเร็ว การสร้างเส้นใยเป็นไปอย่างรวดเร็วหากความชื้นสูง นอกจากปรากฏบนส่วนของต้นที่อยู่เหนือพื้นดินแล้ว ส่วนของรากที่อยู่ใต้ดินก็ถูกเส้นใยเหล่านั้นลามลงไป ทำลายเช่นกัน หากการเข้าทำลายเกิดขึ้นบนส่วนของลำต้น กิ่งก้าน จะเกิดแผลสะเก็ด (canker) สีน้ำตาล อาจไม่มีเส้นใยเกิดขึ้นให้เห็นเหมือนบนส่วนที่อวบอ่อน โดยเฉพาะหากอากาศแห้ง และเมื่อแผลนี้เป็นรอบกิ่งต้นเมื่อใดก็จะทำให้เกิดแห้งตาย (blight) ขึ้นกับส่วนนั้นทั้งหมด

สัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของโรคที่เกิดจากเชื้อ Sclero tinia sp. นอกจากการเกิดปุยสีขาวคล้ายสำลีของเส้นใยบริเวณแผลแล้ว ในระยะปลายๆ ของการทำลายจะมีการสร้างเม็ด sclerotia กลมเล็กๆ ขนาดหัวเข็มหมุดหรือเมล็ดผักกาดสีน้ำตาลหรือดำ (เมื่อเริ่มเกิดจะมีสีขาว) อยู่ตามผิวดินบริเวณโคนต้นหรือตามแผลแคงเกอร์เป็นจำนวนมากเห็นได้ชัดเจน

สาเหตุโรค : Sclerotinia sclerotiorum

เป็นเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกับพืชที่มีอยู่ด้วยกันหลายตัว แต่ที่พบเสมอและรู้จักกันดีโดยเฉพาะที่เป็นกับพืชผักต่างๆ ได้แก่ Sclerotinia sclerotiorum เป็นราใน Class Ascomycetes ขยายพันธุ์โดยการเกิด ascospore ภายในถุง ascus บน fruiting body รูปถ้วยหรือจานแบนๆ ที่งอกจากเม็ด sclerotium อีกทีหนึ่ง ascospore ระบาดได้ดีโดยลม แต่จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนักหากไม่ตกลงบนพืชหรือพืชอาศัย จะตายภายในเวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง โดยเฉพาะหากมีสภาพอากาศที่แห้ง แต่ถ้าตกลงบนพืชที่จะงอกและเข้าทำลายพืชได้ภายใน 2 วัน และเกิดอาการให้เห็นภายใน 4-5 วันหลังจากนั้น

สำหรับเม็ดสเคลอโรเทียมักจะสร้างขึ้นทั้งเพื่อใช้ในการระบาดและการอยู่ข้ามฤดู ปกติสเคลอโรเทียมีความทนทาน ต่อสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติได้ดีในสภาพที่แห้งและอยู่ได้นานถึง 7 ปี แต่ถ้าตกไปอยู่ในน้ำหรือถูกทำให้เปียกชื้นจะถูกทำลายหรือเน่าเสียไปในเวลาสั้น อย่างไรก็ดี สำหรับตัวเส้นใยหรือ mycelium เองนั้น ค่อนข้างต้องการความชื้นสูง ทั้งในการเจริญเติบโตและการเข้าทำลายพืช อาการโรคจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเสียหายรุนแรงในสภาพอากาศที่อิ่มตัวด้วยไอนํ้า หมอกจัด ท้องฟ้าครึ้ม มีฝนตกปรอยๆ เป็นละออง ปลูกพืชที่เว้นระยะห่างระหว่างต้นน้อยแสงแดดส่องไม่ถึงโคนต้นหรือใบพืชคลุมดินหมดตลอดเวลา หากมีเชื้อหรือการติดโรคขึ้นก็จะเป็นไปอย่างรวดเร็วและเสียหายมาก สำหรับอุณหภูมินั้น Sclerotinia เป็นราที่เจริญได้ดีในอุณหภูมิ ปานกลางค่อนมาทางเย็นเล็กน้อยระหว่าง 16-22° ซ.

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกผักที่ง่ายต่อการติดและเกิดโรคลงในดินที่เคยมีโรคเกิดมาก่อน โดยเฉพาะดินแปลงเพาะกล้า หากไม่แน่ใจว่าสะอาดก็ให้ฆ่าทำลายเชื้อที่อาจมีปนอยู่เสียก่อนด้วยการอบด้วยไอน้ำ หรือสารเคมี เช่น ฟอร์มาลีน เมทินโบรไมด์

2. ปลูกพืชลงในดินที่มีการระบายน้ำดีโดยการยกร่องหรือพูนดินให้สูงขึ้นมาจากระดับพื้นดินธรรมดา และไม่ปลูกพืชแน่นหรือติดกันเกินไป

3. หมั่นเอาใจใส่ตรวจตราพืชที่ปลูกเมื่อพบเห็นต้นใดต้นหนึ่งแสดงอาการของโรคก็ให้รีบจัดการถอนขึ้น มาทำลายแล้วใช้เทอราคลอ ราดรดดินตรงบริเวณต้นดังกล่าวเสีย ส่วนต้นที่เหลือให้ฉีดพ่นด้วยซีเน็บ ไธแรม หรือเพ่อร์แบม ในอัตราส่วน 75-150 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บ ถ้าต้องการให้ได้ผลดียิ่งขึ้นก็ให้ผสมสารเคมีดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง กับพวกกำมะถัน เช่น ซัลโฟรอน (sulforon) หรือโคโลดัสท์ (kolodust) ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 ฉีดให้กับพืชทุกๆ 5-7 วัน การฉีดพ่นสารเคมีควรให้ถูกทั้งต้นพืชและดินพร้อมกัน

4. หลังเก็บเกี่ยวหรือตัดพืชผลแล้ว ควรถอนเก็บเศษรากหรือต้นตอซังให้หมด แล้วนำไปเผาทำลายเสียเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยชั่วคราวของเชื้อต่อไปจนถึงฤดูปลูกใหม่

5. เนื่องจากเม็ดสเคลอโรเทียของเชื้อนี้ไม่คงทนต่อสภาพที่เปียกชื้นหากทำได้หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วให้ปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงปลูกนาน 30-45 วัน เม็ด sclerotia ที่ตกอยู่ตามดินก็จะถูกทำลายหมด ดินนาที่มีการปลูกข้าวสลับกับพืชผักมักจะไม่ค่อยมีโรคนี้เกิดขึ้น

สำหรับพันธุ์ผักที่มีความต้านทานต่อโรคนั้นในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีผักชนิดใดที่เป็นโรคนี้มีความต้านทานได้ 100% ในการปลูกพืชหมุนเวียนให้ใช้ธัญพืชพวกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ซึ่งไม่ค่อยได้รับความเสียหายจากโรคนี้มาปลูกสลับ