เต่าร้าง

(Chinese fishtail palm)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caryota mitis Lour.
ชื่อวงศ์ ARECACEAE
ชื่ออื่น เต่าร้างแดง เชื่องหมู่ มะเด็ง งือเด็ง เต่าร้าง
เต่ารั้ง เต่ารั้งแดง เขืองหลวง จอย เขืองหมู
ถิ่นกำเนิด เอเชียจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก


ลักษณะทั่วไป สูง 5-12 ม. ลำต้นตั้งตรงไม่แตกกิ่ง สามารถแตกหน่อ บริเวณโคนต้น ลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยไม่เกิน 10 ซม.
ใบ เป็นใบประกอบรูปขนนกสองชั้น เรียงสลับหนาแน่นที่เรือนยอด ยาว 2-4 ม.ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปใบพัด ขนาดกว้าง 15-35 ซม. ยาว 12-20 ซม. ปลายจักเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ และมีลักษณะไม่แน่นอน โคนสอบเป็นรูปลิ่ม เบี้ยว
ดอก ออกเป็นซ่อขนาดใหญ่ตามด้านข้างของลำต้น ช่อดอกเพศผู้ เกิดสลับกับช่อดอกเพศเมียภายในต้นเดียวกัน ขนาดยาว 25-50 ซม. ดอกเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศเมียมาก กลีบรองกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปโล่เรียงเกยซ้อนกัน กลีบดอกมีขนาดใหญ่กว่ากลีบรองกลีบดอกมาก แต่ละกลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานและเรียงเคียงกัน เกสรเพศผู้มี 15-27 อัน ดอกเพศเมียมีขนาดเล็ก กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอกมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ละกลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ


ผล เม็ดเล็ก มีลักษณะค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 ซม. ผลอ่อนจะเป็นสีเขียวแต่พอผลแก่จะเป็นสีแดงอมดำ ผิวของผลมีขนละเอียด
นิเวศวิทยา พบตามบริเวณที่มีความชุ่มชื้น
การใช้ประโยชน์ เป็นไม้ประดับ ยอดอ่อน แกงหรือต้มเป็นอาหาร
การใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพร รากและหัว ดับพิษตับ ปอด หัวใจ ม้ามพิการ แก่ช้ำใน ความเป็นพิษ ดอกและขนทำให้คัน
ที่มา:วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย