เบญจมาศ (Chrysanthemum)


ลักษณะทั่วไป
เป็นไม้ดอกที่ปลูกยาก มีงานดูแลรักษาหลายอย่างที่ต้องใช้ความระมัดระวังและความชำนาญสูง การปลูกให้ได้ดอกที่มีคุณภาพทั้งชนิดดอกเดี่ยวและดอกช่อ ขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นที่ปลูกรวมทั้งคำแนะนำที่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมด้วย ถ้ามีเงินทุนเพียงพอควรลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกร่วมกับวิธีใช้แสงไฟ จะช่วยทำให้พืชได้รับแสงเป็นเวลายาวนาน เจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ ดอกมีคุณภาพและสามารถบานได้พร้อมๆ กัน
ข้อมูลการผลิต
พันธุ์ Thai, asean, European ชนิดดอกเดี่ยวและดอกช่อ(Standard type and Spray type)
ฤดูปลูก ก.ค.-ก.พ. แต่สามารถปลูกได้ตลอดปี ถ้ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสม
ความสูง 600-1400 เมตร
ความเป็นกรดด่างของดิน 6-7
ชนิดของดิน ร่วนปนทราย
ระยะปลูก (ต้นxแถว)    ชนิดดอกเดี่ยว 15×20 ซม., 15×15 ซม.
ชนิดดอกช่อ 15×10 ซม., 15×15 ซม.
ความลึก 2.5 ซม.
จำนวนต้น 35-45 ต้น/ตร.ม.
ความกว้างของร่อง 1 เมตร
ระยะห่างของร่อง 50 ซม.
อายุพืช ปลูกในโรงเรือน 125-135 วัน ปลูกกลางแจ้ง 155-165 วัน (ปลูกในโรงเรือนใช้เวลาน้อยกว่า)
ผลผลิต 100-135 ดอกหรือช่อ/ตร.ม.
ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนและผลตอบแทน(ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)
การผลิต
ข้อมูลต่อไปนี้แยกออกตามสายพันธุ์ เป็นชนิดดอกเดี่ยวและชนิดช่อแยกตามระดับความสูงที่ทำการเพาะปลูก 600-800 เมตรและ 800-1000 เมตร และแยกออกตามวิธีปลูกในโรงเรือนและปลูกกลางแจ้ง เพื่อแสดงให้เห็นชัดถึงความแตกต่างของผลผลิต เกรด ราคา ต้นทุนและผลตอบแทนในลักษณะการปลูกของแต่ละแบบ
การปลูกกลางแจ้ง
เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค. และตัดดอกได้ในปลาย ต.ค.-ต้น ธ.ค.
การปลูกในโรงเรือน
เริ่มในกลางฤดูฝน (ส.ค.-กลาง ก.ย.) และตัดดอกได้ปลาย ธ.ค.-ก.พ. การปลูกแบบนี้ในที่สูงเกิน 1200 เมตรขึ้นไป ทำได้ตลอดปี คือ ปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง เพราะใช้เวลาในการเจริญเติบโตเต็มที่สั้นกว่าการปลูกกลางแจ้ง เนื่องจากมีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่สั้นกว่าและการให้แสงไฟจากหลอดไฟแก่พืช จะทำให้พืชเจริญเติบโตได้พร้อมกัน
ชนิดดอกเดี่ยว


*พื้นที่ต่ำกว่า 800 เมตร ใช้โรงเรือนสมบูรณ์แบบซึ่งราคาแพงกว่า แต่การระบายอากาศดีและปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง พื้นที่สูงกว่า 800 เมตร ปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง
**ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์แสงไฟ คำนวณจากอายุใช้งาน 10 ปี สำหรับค่าเสื่อมราคาเครื่องมิเตอร์และเครื่องจับเวลา ไม่ผันแปรตามขนาดของโรงเรือน
***ตาข่ายพยุงลำต้นใช้หมุนเวียนในการปลูกได้ 5 ครั้ง
หมายเหตุ  ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ผลผลิต
การปลูกในโรงเรือน ประมาณ 6000-7000 ดอก/100 ตร.ม. ทุกระดับความสูง
การปลูกกลางแจ้ง ประมาณ 5000-7000 ดอก/100 ตร.ม. โดยการปลูกที่สูงกว่า 800 เมตร จะมีดอกที่มีคุณภาพดีกว่า
เกรด
การปลูกในโรงเรือนจะได้เป็นเกรด A ประมาณ 70-80% ส่วนการปลูกกลางแจ้งจะเป็นเกรด B และ C เสีย 50-70% (4.5-6.0 บาท/ดอก)
ราคาขายของเกษตรกร
ราคาเกรด A ของดอกที่ปลูกในโรงเรือน จะสูงกว่าของดอกที่ปลูกกลางแจ้ง (3.0-4.5 บาท/ดอก)
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
การปลูกในโรงเรือน ต้นทุนในรูปค่าเสื่อมราคา (รวมทั้งค่าดอกเบี้ย) สำหรับโรงเรือนพลาสติคที่สร้างบริเวณพื้นที่ระดับต่ำกว่า 800 เมตร จะสูงกว่า เพราะต้องทำโครงให้มีลักษณะระบายอากาศดี โดยค่าเสื่อมราคาคำนวณจากอายุการใช้งาน 10 ปี และเพาะปลูกได้ปีละครั้ง สำหรับโรงเรือนพลาสติคที่สร้างบริเวณพื้นที่ระดับสูงกว่า 800 เมตร ต้องการเฉพาะโครงหลังคา มีอายุการใช้งาน 10 ปีเช่นกันแต่เพาะปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง ดังนั้น ต้นทุนในรูปค่าเสื่อมราคาจึงต่ำกว่ามาก ส่วนค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์ติดตั้งไฟรวมทั้งตาข่ายและค่าไฟฟ้า จะเท่ากับทั้ง 2 พื้นที่ ค่าจ้างแรงงานประมาณ 40 บาทต่อคน เป็นเวลา 25 วัน เพราะการใช้แรงงานตลอดฤดู ปลูกในพื้นที่ 100 ตร.ม. ต้องการแรงงานราว 45-50 วันทำงานซึ่งแรงงานครัวเรือนจะไม่เพียงพอ
การปลูกกลางแจ้ง ใช้ต้นทุนต่ำกว่าวิธีปลูกในโรงเรือน เพราะไม่ต้องเสียค่าอุปกรณ์ติดตั้งและค่าไฟฟ้า แต่ต้องใช้จ่ายค่ายากำจัดศัตรูพืชและโรคต่างๆ ซึ่งจะปรากฏมากกว่าการปลูกในโรงเรือน
ผลตอบแทน
การปลูกในโรงเรือนให้ผลตอบแทนดีกว่า แม้ต้นทุนจะสูง เพราะปลูกได้คุณภาพดี ขายได้ราคาสูง
ผลตอบแทนแรงงาน
ผลตอบแทนจะดีกว่าในการปลูกในโรงเรือน
ชนิดดอกช่อ


*พื้นที่ต่ำกว่า 800 เมตร ใช้โรงเรือนสมบูรณ์แบบซึ่งราคาแพงกว่า แต่การระบายอากาศดีและปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง พื้นที่สูงกว่า 800 เมตร ใช้โรงเรือนมีหลังคาเท่านั้น ราคาจะถูกกว่าและปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง
**ค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์แสงไฟ คำนวณจากอายุใช้งาน 10 ปี สำหรับค่าเสื่อมราคาเครื่องมิเตอร์และเครื่องจับเวลา ไม่ผันแปรตามขนาดของโรงเรือน
***ตาข่ายพยุงลำต้นใช้หมุนเวียนในการปลูกได้ 5 ครั้ง
หมายเหตุ  ข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทนและราคา เป็นข้อมูลในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลง
ผลผลิต
การปลูกดอกชนิดช่อ จะง่ายกว่าชนิดดอกเดี่ยว เพราะไม่ต้องทำการตัดแต่งกิ่งใบบ่อยนัก และมีปัญหาน้อยกว่า
ผลผลิต
การปลูกในโรงเรือน ประมาณ 1200-1700 กำใน 1 กำ จะมีหน้าดอกกว้าง 25 ซม. และความยาวของด้านช่อเป็นไปตามเกรดต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.
การปลูกกลางแจ้ง ผลผลิตมักจะต่ำกว่าในพื้นที่ปลูกต่ำกว่า 800 เมตร (900-1200 กำ) เพราะอาจมีดอกเสียมาก และไม่มีการคัดเกรด ส่วนการปลูกในพื้นที่สูงกว่า 800 เมตร จะได้ผลผลิตสูงกว่า และมีการคัดเกรดจากสถานี (1200-1600 กำ)
เกรด
การปลูกในโรงเรือน จะได้ดอกเกรด A ราว 90-95% ส่วนการปลูกกลางแจ้ง จะได้ดอกเป็นเกรด B และ C เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 70-80%
ราคาขายของเกษตรกร
ราคาเฉลี่ยของดอกที่ปลูกในโรงเรือนอยู่ระหว่าง 20-24 บาท/กำ ส่วนดอกที่ได้จากการปลูกกลางแจ้งประมาณ 14-17 บาท/กำ ราคาต่างกันตามคุณภาพ
ต้นทุนปัจจัยการผลิต
การปลูกในโรงเรือน ค่าเสื่อมราคาโรงเรือนพลาสติค ให้ดูรายละเอียดจากตารางต้นทุนผลตอบแทนการปลูกเบญจมาศชนิดดอกเดี่ยว
การปลูกกลางแจ้ง ค่ายาฆ่าแมลงและยากำจัดเชื้อราจะสูงกว่าการปลูกในโรงเรือน
ผลตอบแทน
การปลูกในโรงเรือนให้ผลกำไรดีกว่ามาก แม้ต้นทุนจะสูง เนื่องจากคุณภาพสูง และได้ราคาดีกว่า
ผลตอบแทนต่อแรงงาน
การปลูกดอกชนิดช่อใช้แรงงานประมาณ 40-45 วัน ทำงานต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม. (น้อยกว่าการปลูกชนิดดอกเดี่ยว เพราะไม่ต้องตัดแต่งกิ่งใบมากนัก) ผลตอบแทนแรงงานดีกว่าถ้าเป็น การปลูกในโรงเรือน
สำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม
ในการปลูกเบญจมาศชนิดดอกเดี่ยว เกษตรกรต้องใช้ความพยายามและเอาใจใส่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตัดแต่งกิ่ง ควรเริ่มตั้งแต่เริ่มปลูก ตั้งแต่เมื่อปลูกได้ 15 วัน การขึงตาข่ายพยุงลำต้นต้องทำตั้งแต่แรกเริ่มเพราะต้นจะโตเร็ว ถ้าชักช้าอาจทำให้ลำต้นเสียหายได้ การที่เกษตรกรพยายามปรับปรุงวิธีการปลูกให้ประณีตขึ้น จะได้ผลกำไรดี สามารถเรียกทุนคืนได้รวดเร็ว ปกติจะเรียกต้นทุนการติดตั้งโรงเรือนและอุปกรณ์ไฟฟ้าคืนได้ภายใน 2 ปี และควรให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนแก่เกษตรกรมีระยะเวลาประมาณนี้ สำหรับการปลูกเบญจมาศชนิดช่อจะง่ายกว่า และได้ผลดีในระดับพื้นที่ค่อนข้างสูง ควรส่งเสริมแนะนำให้เกษตรกรไม่เคยปลูกมาก่อนเลือกใช้พันธุ์นี้
การตลาด
ตลาดสำหรับดอกที่มีคุณภาพดีค่อยข้างกว้างขวาง ควรทยอยปลูกเพื่อตัดดอกส่งตลาดอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา มีโอกาสที่จะส่งจำหน่ายตลาดต่างประเทศเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซีย ควรคัดเกรดให้ได้มาตรฐานก่อนจากสถานีของโครงการ ราคาตลาดที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ไม่แตกต่างกันมาก ชนิดดอกเดี่ยว ประมาณดอกละ 4-6 บาท และชนิดช่อประมาณ 20-30 บาทต่อกำ ในอนาคตราคาอาจตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะมีการผลิตเพิ่มขึ้น
ข้อแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะปลูก
ศัตรูพืชและโรค
ศัตรูพืช
เพลี้ยอ่อน ไรขาวและเพลี้ยไฟ พบได้ทุกระยะ แต่จะระบาดมากในช่วงฤดูร้อน ป้องกันโดยฉีดพ่น พอส์ส เมื่อพบแมลงหรือทุก 7 วัน สามารถลดปัญหาไรขาวได้โดยแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง
หนอนเจาะสมอฝ้าย(American Boll Worm หรือ Heliothis armigera) พบได้ตลอดปีสังเกตจากหนอนกัดกินดอก เมื่อดอกเริ่มบาน ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น อาโกรน่า หรือ คาราเต (Karate) เมื่อเริ่มพบประมาณ 3-5 วัน/ครั้ง
โรค
โรคราสนิมขาว(White Rust) เกิดในสภาพอากาศเย็นชื้น ส่วนมากในฤดูหนาว สังเกตจากใบมีสีเขียวหรือน้ำตาลอ่อนที่ท้องใบและค่อยๆ เข้มขึ้น ยังไม่มีมาตรการรักษาแก้ไข แต่ป้องกันได้โดยใช้ แพลนแวกซ์ (Plantvax) ใบลีทอน (bayleton) หรือ แซพรอน (Sapron) ทุก 5-7 วัน ตลอดระยะเวลาปลูก
โรคใบไหม้ สาเหตุจากฝนชุกหรือได้น้ำมากเกินไป สังเกตจากใบเป็นสีน้ำตาลไหม้ มักเกิดกับใบแก่ ป้องกันแก้ไขโดยใช้ ดาโคนิล หรือ ไดเทนเอ็ม 45 สลับกับ ดพลีแรม คอมไบ (Polyram combi) ทุก 5-7 วัน ตลอดระยะเวลาปลูก
โรคแอนแทรคโนส(Anthracnose) ระบาดมากเมื่อฝนชุก แต่เกิดขึ้นได้ตลอดปี สังเกตจากใบเป็นจุดสีน้ำตาลทั่วไปบนใบ ซึ่งจะลุกลามขยาย ป้องกันแก้ไขโดยฉีดพ่น แซพรอน สลับกับ แอนทราโคล ทุก 10 วันตลอดระยะการปลูก
ปัจจัยที่ต้องการ (ต่อพื้นที่ปลูก 1 ตร.ม.)


การใช้แรงงาน ชนิดดอกเดี่ยว (ต่อพืนที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม ต้องการแรงงานสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมปลิดดอกและตัดแต่งกิ่งใบสำหรับเบญจมาศชนิดดอกเดี่ยว
การใช้แรงงาน ชนิดช่อ (ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตร.ม.)


*ข้อมูลแรงงานและระยะเวลาได้จากข้อมูลสนาม
ข้อควรปฏิบัติ
ช่วงการเตรียมกิ่งชำ
เลือกตัดกิ่งเพื่อทำแม่พันธุ์จากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีดรคจุ่มกิ่งชำในฮอร์โมนเร่งราก แล้วปักชำในแปลงขี้เถ้าแกลบระยะห่าง 5×5 ซม.ทิ้งไว้ 14-21 วัน แล้วจึงย้ายไปปลูกในแปลงโดยใช้ระยะปลูก 15 x15 ซม. เพื่อเลี้ยงเป็นแม่พันธุ์ เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แล้วนำการเด็ดยอด เพื่อให้เกิดกิ่งแขนงในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา เมื่อกิ่งแขนงยาวขนาด 5-7 ซม. ตัดไปชำให้รากงอกวิธีเดียวกับการชำแม่พันธุ์ ใช้เวลา 14-21 วัน รดน้ำวันละ 2-3 ครั้ง ด้วยวิธีพ่นฝอย กิ่งชำนี้จะนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรปลูกต่อไป ระวังอย่าให้กิ่งชำมีอาการเหี่ยวในระยะแรก
ช่วงการปลูก
ขุดพลิกดินตากแดดไว้ 10-14 วัน ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ใส่ปุ๋ยขี้วัวผสมเข้ากับดิน ปรับหน้าแปลงให้เรียบ นำกิ่งชำลงปลูกตามระยะปลูกที่แนะนำ รดน้ำแปลง แล้วคลุมแปลงด้วยฟางข้าวถ้าเป็นการปลูกกลางแจ้ง เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืช
ข้อควรระวัง
ถ้าปลูกลึกเกินไปกว่า 2.5 ซม. หรือ 1” รากจะขาดออกซิเจน ทำให้ต้นไม่เจริญเติบโต
ช่วงการดูแลรักษา
เมื่ออายุได้ 10-14 วัน ทำการเด็ดยอดจากนั้นเหลือกิ่งแขนงเพียง 3 กิ่ง เพื่อให้แตกกิ่งขยายให้ดอกดก
หลังย้ายปลูกได้ 7 วัน ใช้ปุ๋ย 21-0-0 ละลายน้ำในอัตรา 1 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร สำหรับแปลงขนาด 10 ตร.ม. และใส่ปุ๋ยเช่นนี้อีกครั้งในสัปดาห์ต่อไป ในสัปดาห์ที่ 3 ใส่ปุ๋ย 15-15-15 โดยทำร่องระหว่างแถว โรยปุ๋ยในร่องกลบดิน แล้วรดน้ำ ปฏิบัติซ้ำทุก 2-3 สัปดาห์ จนกว่าต้นเริ่มผลิดอกแล้วเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ย 12-24-12 ทุก 2-3 สัปดาห์ จำนวน 2-3 ครั้ง กระทั่งดอกเริ่มมีสี ตลอดช่วงการดูแลรักษา
ใช้ยาห่าแมลงและยากำจัดเชื้อราทุก 7-10 วัน มากน้อยตามอัตราการระบาด ในการป้องกันแก้ไข แมลงและโรคเข้าทำลาย ควรใช้ตัวยาสลับกันไป เพื่อป้องกันการดื้อยา ทำตาข่ายขนาด 10×10 ซม. โดยใช้เชือกหรือลวดเพื่อพยุงลำต้น เมื่อต้นสูงประมาณ 20 ซม. และทำตาข่ายเสริมเมื่อต้นสูงขึ้นเป็นระยะ ขึงให้มั่นคงทุกด้านตลอดแปลง
เมื่อต้นเริ่มมีตาดอก สำหรับชนิดดอกเดี่ยว ควรเด็ดตาดอกข้างลำต้นออก ให้เหลือแต่ดอกที่ยอดเจริญเติบโตต่อไป สำหรับชนิดช่อ ให้เด็ดดอกที่ยอดดอก ให้เหลือดอกข้างลำต้นเท่านั้น รดน้ำสม่ำเสมอ อย่าให้ดินแห้ง
การใช้แสงสว่างช่วยในการปลูก
การปลูกดอกเบญจมาศในฤดูหนาวช่วยได้ โดยใช้แสงไฟฟ้าแทนแสงแดด โดยเปิดไฟตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึงตีหนึ่ง ตั้งแต่ระยะย้ายปลูกเป็นเวลา 45 วัน จนต้นสูง 30-40 ซม. เป็นการเร่งให้ต้นเจริญเติบโตสม่ำเสมอ ทำให้ตัดดอกได้เร็วขึ้น และดอกมีคุณภาพได้ราคาสูง โดยต้นที่อยู่ไกลจากหลอดไฟฟ้าที่สุด ควรได้รับแสง 100 ลักส์(LUX) คอยปรับความเข้มของแสงเป็นระยะ โดยใช้เครื่องวัดแสง
ช่วงการเก็บเกี่ยว
ชนิดดอกเดี่ยว ตัดดอกเมื่อกลีบนอกเริ่มบาน เหลือส่วนยังตูมอยู่ขนาด 1-1.5 ซม. ตัดก้านตรงโคนแล้วจุ่มในน้ำทันที คัดแยกเกรด ห่อดอกด้วยกระดาษเนื้อนิ่ม แล้วบรรจุลงกล่องกระดาษ
ชนิดสเปรย์  ตัดดอกเมื่อแต่ละช่อมีดอกบานแล้วครึ่งหนึ่ง จำนวน 3 ดอก ตัดก้านตรงโคนต้นแล้วจุ่มในน้ำทันที เข้ากำตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ ห่อด้วยกระดาษแล้วบรรจุลงกล่องกระดาษ
ข้อควรระวัง
1. หลีกเลี่ยงการถูกแดด จะทำให้ดอกเหี่ยว
2. ให้รีบจุ่มน้ำทันทีหลังตัดดอก
3. เด็ดใบที่เป็นโรคทิ้งให้หมด
4. ตามหลักการให้ตัดดอกตอนเช้า หรือเย็น ถ้าตัดดอกทิ้งไว้ข้ามคืนต้องแช่น้ำไว้เสมอ
เอกสารอ้างอิง
The Chrysanthemum manual (1982), Edited by S.G. Gosling the National Chrysanthmum society. Pp.391 Machine, B. and Scoples, N.(1972) Chrysanthemum year-round growing.  Bluter&Tammer Ltd. And London.
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่