การปฏิบัติดูแลรักษาในการเพาะชำต้นกล้ากาแฟ


๑. แปลงเพาะเมล็ดกาแฟ ควรใช้ยากำจัดแมลงในดินคลุกเคล้าเข้าไปด้วย ตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในฉลากยาแต่ละชนิด เช่นยาอลามอน ๔๐ ใช้อัตรา ๑.๕ กก./ไร่ ยา Aldrex ๔๐ อัตรา ๓๐ กรัม/น้ำ ๒๐ ลิตร หรือ Dieldrin อัตรา ๗๐ ซี.ซี./น้ำ ๒๐ ลิตร ต่อแปลงเพาะ ๑๐ ตารางเมตร ทั้งนี้เพราะพบว่ามีแมลงจำพวกจิ้งหรีด จิ้งโกร่ง แมลงกะชอน มักชอบขุดรูอาศัยอยู่ในแปลงเพาะ และกัดทำลายต้นอ่อนของกาแฟเสมอๆ หรือใช้ลูกเหม็น (Napthalene) ชนิดผงโรยบริเวณต้นอ่อนก็ใช้ไล่แมลงพวกนี้ได้ผลดี
๒. คลุกเมล็ดพันธุ์กาแฟด้วยยาคลุกเมล็ด เพื่อป้องกันเชื้อรา เพราะพบว่ามักเกิดโรคโคนเน่าของต้นอ่อนระยะก้านไม้ขีด และระยะผีเสื้อ อาจ เป็นเพราะเชื้อที่มีอยู่ในดิน หรือความชุ่มชื้นมากเกินไป รวมทั้งอันตรายจากการใช้ปุ๋ยคอกที่ยังใหม่ด้วย ยาที่ใช้เช่น Orthocide 50 หรือ Agrosan (เดิมใช้ ceresan แต่ปัจจุบันเลิกใช้เพราะอาจเป็นอันตรายจากสารปรอทในตัวยา)
๓. คลุมแปลงเพาะด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่มเสมอ ควรเป็นตอนเช้าและบ่าย ไม่ควรรดน้ำในตอนเย็น เพราะไม่เป็นประโยชน์มากนัก แล้วยังทำให้ความชื้นสูงเหมาะแก่การเจริญของเชื้อโ รคด้วย หลังกาแฟเริ่มงอกให้เอาฟางที่คลุมไว้ออกทันที
๔. หากต้นกล้าแสดงอาการใบเหลือง หรือใบเป็นจุดสีน้ำตาล แสดงอาการว่าขาดความอุดมสมบูรณ์ และเกิดเชื้อราเข้าแทรก ถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ใบร่วง ทำการแก้ไขโดยการใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต หรือยูเรียสำหรับต้นกล้าในถุงพลาสติกใส่ดิน ใช้วิธีละลายปุ๋ย อัตรา ๑ ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ ๑๐ ลิตร รดต้นกล้าในตอนสายหรือกลางวัน ไม่ควรรดปุ๋ยในตอนเย็น เพราะต้นไม้ไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันที ทำให้เกิดการสูญเสีย สำหรับต้นกล้าในแปลงเพาะ อาจใช้วิธีหว่านปุ๋ยแล้วคราดกลบก็ได้ ก่อนให้ปุ๋ยควรงดให้น้ำก่อน ๑ วัน และควรเพิ่มร่มเงาให้แก่ต้นกล้าที่แสดงอาการเหล่านี้ หลังการให้ปุ๋ย และร่มเงาแล้ว อาการเหล่านี้มักหายไป
๕. ทำการฉีดพ่นยาป้องกันกำจัด เชื้อราจำพวกที่ไม่มีสารประกอบทองแดงชนิดใดชนิดหนึ่งที่มีตัวยาออกฤทธิ์ เช่น Captan, Maneb เช่น Orthocide 50 หรือ Manzate D. ไม่ควรใช้ยาประเภทที่มีสารประกอบทองแดง เช่น บอร์โดมิกเจอร์หรือคูปราวิท กับต้นกล้า อ่อนเพราะต้นกล้าอ่อนนี้มีความไวต่อความเป็นพิษของทองแดงมาก อาการเป็นพิษของทองแดง คือ ลำต้นที่ระดับพื้นดินจะคอดเรียว เมื่อถูกกระทบเบาๆ ต้นกล้าจะโค้งงอ และหัก หากจำเป็นต้องใช้ ต้องระมัดระวังความเข้มข้น
๖. ควรกำจัดวัชพืชเสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นกล้าที่อยู่ในถุงชำ มักจะมีหญ้า และตะไคร่น้ำขึ้น หากปล่อยปละละเลยหญ้าจะแย่งอาหารและเจริญอย่างรวดเร็ว เมื่อไปถอนออกตอนใหญ่จะกระทบกระเทือนต้นกล้ามาก และทำให้ต้นกล้าอ่อนแอ วัชพืชเป็นศัตรู สำคัญของกาแฟที่กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตอย่างมาก
๗ . ภาชนะชำหรือถุงพลาสติก ควรใช้ให้มีขนาดพอเหมาะกับขนาดของต้นกล้าที่จะใช้ปลูก เพื่อป้องกันรากแทงทะลุลงไปในดิน เมื่อยกถุงชำต้นกล้าขึ้นจะทำให้รากขาด ต้นเหี่ยวเฉาได้ หรือรากแก้วจะคดงออยู่ภายในถุง ผู้เขียนพบว่าต้นกล้าในถุงพลาสติก ที่ศูนย์พัฒนา และสงเคราะห์ชาวเขา นิคมเชียงดาว ส่วนมากเป็นต้นกล้าขนาดใหญ่ อายุมาก อยู่ในถุงพลาสติกขนาดเล็ก เมื่อนำมาล้างน้ำเอาดินออกจะพบรากแก้วคดงอเกือบทั้งหมด และเมื่อสำรวจในไร่ พบว่าต้นกาแฟมีการเจริญ เติบโตไม่ดี เมื่อถอนดูก็พบว่ารากแก้วคดงอ อาจแก้ไขโดยการเด็ดปลายรากที่งอออกก่อนปลูก แต่ส่วนมากมีลักษรนะพันธุ์ที่ไม่ดี สมควรเปลี่ยน พันธุ์ใหม่ที่คัดเลือกแล้วจะมีอนาคตดีกว่านี้มาก ควรจะใช้ถุงพลาสติกขนาดใดนั้นให้พิจารณาที่ต้นกล้าที่จะใช้ปลูก กล่าวคือ อายุต้นกล้าที่ เหมาะสม อาจเป็น ๘- ๑๒ เดือน หรือสูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตร หรือมีใบจริงประมาณ ๕ – ๗ คู่ ต้นกล้าอายุ ๑ ปี เหมาะสมและแข็งแรงที่สุด แต่ทำให้ต้องเสียเวลาเตรียมกล้าล่วงหน้าปีเว้นปี โดยเริ่มเพาะเมล็ดในต้น ฤดูฝนปีต่อไป กล้าพวกนี้ควรใช้ถุงขนาดใหญ่ เข่น ๗” คูณ ๑๑” และควร เป็นถุงชนิดหนา เพื่อป้องกันการแตกเสียหายก่อนถึงเวลาปลูก สำหรับต้นกล้าที่อายุ ๖- ๘ เดือน หรือต้นกล้าที่เตรียมไว้ปลูกในปีเดียวกันนั้น โดย เตรียมเพาะเมล็ดทันทีหลังเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม เมล็ดจะงอกในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ต้นกล้าจะอยู่ในถุงชำประมาณ ๖ เดือน และปลูกได้ในเดือนสิงหาคม จะใช้ถุงขนาดเล็กกว่า เช่น ๕” คูณ ๘” หรือ ๖” คูณ ๙” และเป็นชนิดบางก็ได้เพื่อความประหยัด กล้าอายุน้อยพวกนี้เมื่อนำไปปลูก จะต้องคอยดูแลรักษาให้ดี มิฉะนั้น เปอร์เซนต์ต้นตายในไร่จะมีสูง
๘. ถุงพลาสติกใส่ดินชำกาแฟนั้น ก่อนใส่ดินควรพับขอบบนออกด้านนอกประมาณ ๑” เพื่อป้องกันปลายถุงพับเข้าใน จะทำให้ดินในถุงชำไม่ได้รับน้ำและปุ๋ยจากการรด อาจทำให้ต้นเหี่ยวเฉาและอ่อนแอ โดยไม่ทราบสาเหตุทั้งๆ ที่ทำการรดน้ำ – รดปุ๋ยให้แล้ว
๙. การบรรจุต้นกล้าลงในถุงชำ ต้องระมัดระวังการคดงอของปลายราก ว่าหากพบว่ารากคดงอให้ตัดแต่งก่อนด้วยกรรไกรคมๆ ถ้าหากรากแก้วของต้นกล้าคดงอ เมื่อนำไปปลูกในไร่จะทำให้ต้นเจริญเติบโตช้า หลังกาแฟติดผล การเจริญเติบโตจะหยุดชะงักและต้นจะล้มง่ายหากลมแรงหรือน้ำหนักผลมาก
๑๐ . ถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุดินชำกาแฟนั้น ก่อนใส่ดินต้องเจาะรูที่ด้านล่างของถุงประมาณ ๙ รู เพื่อระบายน้ำใส่ดินเตรียมไว้และวางไว้เป็นระเบียบในเรือนเพาะชำหรือในที่มีร่มเงาและชุ่มชื้น
๑๑. การบรรจุต้นกล้า ก่อนระยะใบจริง ให้เจาะรูดินในถุง่ชำให้มีขนาดพอที่จะหย่อนต้นกล้าลงไปได้สะดวก โดยรากไม่งอ ถอนต้นกล้าจากแปลงเพาะ เด็ดปลายรากแก้วออกเล็กน้อย หรือตัดด้วยกรรไกรคมๆ หย่อนลงไปในรูที่เจาะไว้แล้วดึงขึ้นให้โคนต้นอยู่ระดับผิวดินแล้วกดดินให้รัดรอบรากต้นกล้า แล้วรดน้ำให้ดินรัดตัวสัมผัสรากของต้นกล้าอย่างทั่วถึง
๑๒. การบรรจุต้นกล้าระยะใบจริง ซึ่งมีขนาดใหญ่ ควรตัดแต่งรากก่อน และควรใช้วิธีใส่ดินภายหลัง โดยใช้ถุงพลาสติกขนาดที่เหมาะสมที่สามารถห่อหุ้มรากได้หมด หย่อนต้นกล้าลงไปในถุง จับต้นกล้าระดับโคนต้น และขยายปากถุงที่พับขอบบนออกข้างนอกแล้วกอบดินใส่ลงไปในถุงชำรอบๆ รากของต้นกล้า ดึงต้นกล้าขึ้นเล็กน้อยให้ระดับโคนต้นอยู่เสมอระดับขอบถุงแล้วเติมดินให้เต็ม
๑๓. ต้นกล้าที่ขาจากระยะใบจริงหรือเป็นต้นกล้าชนิดล้างราก ที่ส่งมาจากระยะทาง ไกล การให้ความชุ่มชื้นบริเวณผิวใบ มีความสำคัญมากกว่าความชื้นในดิน ในระยะเริ่มตั้งตัว เพราะรากยังไม่สามารถดูดน้ำมากนัก แต่การระเหยน้ำของใบมีมาก ควรใช้วิธีฉีดพ่นน้ำเป็นฝอยละอองขนาดเล็กเป็นระยะๆ ตลอดวัน สักระยะหนึ่งจนต้นกล้าเริ่มฟื้นตัว สังเกตจากใบไม่ตกหรือยอดไม่เหี่ยว ใบเริ่มชูขึ้นก็ให้เว้นระยะให้น้ำให้ห่างออกไป ถ้าไม่ทำเช่นนี้ปล่อยให้ใบร่วงจะใช้กล้าปลูกในฤดูนั้นไม่ได้ ถึงแม้จะแตกยอดและใบใหม่ออกมาได้เมื่อนำไปปลูกเปอร์เซนต์ต้นตายจะมีสูงมากประมาณ ๕๐% และการเจริญเติบโตไม่ดีนัก ต้นกล้าที่ดีและปลูกซ่อมภายหลังก็สามารถเจริญเติบโตทันกันได้
๑๔. ก่อนถึงเวลาปลูกในไร่ควรค่อยๆ เอาร่มเงาออก เพื่อให้ต้นกล้าได้รับแสงแดดมากขึ้นเรื่อยจนกระทั่งได้แดดเต็มที่ก่อนปลูกในไร่ประมาณ ๑ เดือน จะช่วยให้ต้นกล้าปรับตัว และตั้งตัวในไร่ดีขึ้น
๑๕. หากไม่มีเรือนเพาะชำ หรือไม่สามารถสร้างได้ ขอแนะนำวิธีซึ่งใช้ได้ผลดีมาแล้ว คือ บริเวณที่จะทำแปลงเพาะบนที่สูง ซึ่งควรเป็นที่กลางแจ้งนั้น ให้ปลูกถั่วมะแฮะพันธุ้ต้นสูงเป็นแถวห่างกัน ๒- ๒.๕ เมตร แนวขวางแสงแดด (แนวเหนือ – ใต้) ทำแปลงเพาะระหว่างกลางของแถวถั่วมะแฮะ คอยตัดแต่งกิ่งข้างของถั่วมะแฮะออกให้เจริญขึ้นในทางสูง เมื่อต้นกาแฟงอกออกมาจนกระทั่งใส่ถุงชำก็นำถุงชำต้นกล้าเหล่านี้กลับเข้าไปวางที่เดิมของแปลงเพาะนั่นเอง ซึ่งระยะนี้ถั่วมะแฮะก็จะเจริญขึ้นสูง เป็นพุ่มพอที่จะบังร่มได้ แต่ข้อเสียคือ ตอนช่วงแรกต้นกล้าอาจจะต้องรับแดดกล้าในตอนเที่ยงบ้าง แก้ไข้โดยวิธีรดน้ำให้ชุ่มก่อนเที่ยงและตอนบ่าย หรือปลูกถั่วมะแฮะล่วงหน้าก่อน นอกจากช่วยบังแดดให้ร่มเงาต้นกล้าแล้ว ยังกันลมได้อีกด้วย เมื่อต้องการฝึกต้นกล้าให้รับแดดมากขึ้นก็ค่อยๆ ตัดแต่งกิ่งถั่วมะแฮะออกให้โปร่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งตัดหมด ถั่วมะแฮะยังสามารถแตกยอด เติบโตขึ้นมา สำหรับการเพาะเมล็ดรุ่นต่อไปได้อีกด้วย นอกจากนี้อาจทำการเพาะเมล็ดบริเวณชายป่าที่ใกล้แหล่งน้ำก็ได้
๑๖ . หากไม่สามารถทำการเพาะเมล็ดได้เอง อาจเป็นเพราะอุณหภูมิต่ำต้นกล้ามีการเจริญเติบโตช้าไม่ทันปลูกในฤดูนั้น อาจทำการ เพาะเมล็ดในที่ระดับต่ำ แล้วขนส่งขึ้นมาชำในแปลงเพาะชำประมาณ ๑ เดือน ก่อนปลูกก็ได้ โดยการขนส่งกล้าจำนวนมากที่สะดวกคือ การถอนต้นกล้าจากแปลงเพาะระยะใบจริง นำมามัดรวมกัน มัดละ ๕- ๑๐ ต้น แล้วแต่ขนาดต้นกล้าแล้วใช้เปลือกมะพร้าวที่ทุบให้นิ่มแช่น้ำใหัอิ่มตัวไว้ก่อน นำมาหุ้มบริเวณราก มัดหัวท้ายแบบการตอน แล้วรวมๆ กันใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง จึงทำการขนส่งไปยังเรือนเพาะชำในแหล่งปลูก หรือปลูกทันทีในไร่ที่เตรียมหลุมปลูกและมีร้านบังร่มชั่วคราว แล้ว และสามารถให้ความชุ่มชื้นได้เพียงพอ
๑๗. ต้นกล้าในลุงพลาสติก หากปลูกไม่หมด และมีอายุ ๘- ๑๐ เดือน ให้นำออกมาชำในแปลง ระยะห่างกันประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เพราะกล้าพวกนี้ใส่ถุงพลาสติกขนาดเล็ก จะทำให้รากเกิดขดกันอยู่ภายในแปลงชำนี้ต้องอยู่ใต้ร่มเงาและให้น้ำได้ตลอดฤดูแล้ง และนำไปปลูกในฤดูฝนปีถัดไป โดยวิธีขุดแบบบอลล์ คือ ขุดให้ดินยังหุ้มรากเป็นก้อนอยู่ใช้สำหรับปลูกซ่อมต้นที่ตาย โดยเหตุที่เป็นต้นกล้าอายุเดียวกันกับต้นกล้าที่ปลูก เมื่ออายุ ๘ เดือน และการขุดที่ยกไปทั้งต้นและดิน จะทำให้ต้นกล้าสามารถเจริญเติบโตได้ขนาดเดียวกัน
วิธีการเพาะชำต้นกล้ากาแฟโดยใช้กระบอกไม้ไผ่ สำหรับพื้นที่ที่มีต้นไผ่อยู่หนาแน่น หรือสามารถใช้ไม้ไผ่ได้โดยง่าย สะดวก ขอแนะนำวิธีที่ใช้กันในปาปัวนิวกินี โดยมีวิธีการ ดังนี้.-
๑. ตัดไม้ไผ่ ให้มีลักษณะ เป็นกระบอกยาวสุดปล้อง โดยมีข้อติดอยู่ที่ปลายด้านหนึ่งจะได้กระบอกไม้ไผ่ ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ขึ้นไป ควรให้ด้านนูนของข้อไม้ไผ่อยู่ทางด้านนอกของข้อ ตัดเช่นนี้จนได้จำนวนที่ต้องการ
๒. เจาะรูที่ตรงกลางของข้อ เพื่อระบายน้ำ
๓. ผ่ากลางกระบอกแบ่งออกเป็น ๒ ซีก เท่าๆ กัน แต่ยังไม่แยกออกจากกัน
๔. มัดให้ติดกันเช่นเดิมด้วยลวด หรือตอกไม้ไผ่
๕. เอาต้นกล้ากาแฟลงชำระดับปากกระบอกแล้วเติมดินจนเต็มกระบอก
๖. ปฏิบัติดูแลรักษา เหมือนต้นกล้าในถุงพลาสติก
วิธีนี้จะทำให้รากกาแฟสามารถหยั่งลงลึก มีการเจริญของรากดีกว่าต้นกล้าอายุมากกว่าในถุงพลาสติกขนาดเล็ก และสามารถนำไปปลูกในไร่ได้โดยสะดวก และไม่กระทบกระเทือนต่อระบบราก โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
๑. นำกระบอกชำต้นกล้ากาแฟไปในไร่ที่เตรียมหลุมปลูกไว้แล้ว
๒. จับกระบอกชำวางนอน ถอดวัสดุที่ใช้มัดกระบอกไม้ไผ่ออก
๓. จับครึ่งหนึ่งของกระบอกชำที่ผ่าไว้ด้านบน กลับข้างเอาด้านที่ เจาะรูไว้นั้นวางทาบกลับลงไปเช่นเดิมให้รูที่ข้อนั้นอยู่บริเวณโคนต้นกล้า
๔. กลับข้างอีกด้านหนึ่งให้ด้านตรงข้ามกลับมาอยู่ด้านบน แล้วยกกลับข้างเอาด้านที่เจาะรูไว้วางทาบลงไปกับด้านแรก กระบอกชำจะมีลักษณะกลับข้างกับเมื่อตอนชำคือ ด้านข้อที่เจาะรูไว้จะมาอยู่บริเวณโคนต้นกล้า ส่วนด้านล่างก็จะเป็นปากกระบอกชำ
๕. ขุดหลึมปลูกให้ลึก เท่าความยาวของกระบอกชำ
๖. ยกกระบอกชำนี้ใส่ลงไปไนหลุมที่ขุดไว้
๗. เติมดินให้เต็มหลุม
๘. ยกกระบอกชำให้ขึ้นมาทีละซีก
๙.. กลบดินให้แน่น
๑๐. นำกระบอกชำกลับไปใช้ชำต้นกล้ารุ่นใหม่ได้อีก


รูปที่แสดงการใช้กระบอกไม้ไผ่ชำต้นกาแฟ ขนาดยาว ๓๐ เซนติเมตร ซึ่งชำต้นกล้าอายุ ๙ เดือน พบว่ามีระบบรากที่ดีกว่า ต้นกล้าอายุ ๑ ปี ในถุงพลาสติกขนาด ๑๔ เซนติเมตร ตรงกลางของรูป ซึ่งใช้กันในเรือนเพาะชำหลายแห่งของรัฐ บนที่สูงทางภาคเหนือ ควรจะใช้ถุงพลาสติกขนาด ๗” คูณ ๑๑” เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่มีคุณภาพดี.

รูปแสดงลักษณะการเจริญของราก เมื่อล้างดินออก ต้นกล้าในกระบอกไม้ไผ่มีระบบรากลึกและดีกว่าต้นกล้าที่มีอายุมากกว่ากัน ๓ เดือน ในถุงพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งมีรากตื้นขดงอ ไม่สมดุลย์กับขนาดของลำต้น ซึ่งพบมากในเรือนเพาะชำหลายแห่งของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ต้นกล้าพวกนี้ก่อให้เกิดการสูญเสียเมื่อนำไปปลูกในไร่ เพราะจะมีการเจริญเติบโตที่ไม่ดีและผลผลิตต่ำ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เปอร์เซนต์ต้นตายในฤดูแล้งมีมาก เพราะรากพื้นเกินไปไม่สามารถนำน้ำใต้ดินมาใช้ได้เพียงพอ

รูปแสดงหลังจากถอดวัสดุมัดกระบอกชำ ๒ ซีกนี้ออก แล้ววางนอนลง จับซีกด้านบนกลับข้าง เอาข้อที่เจาะรูกลับไปไว้ให้รูอยู่ที่โคนต้นกล้ากาแฟ

รูปแสดงการกลับเอาอีกด้านหนึ่งขึ้น แล้วกลับข้างซีกบนนี้ ปลายกระบอกชำด้านล่างก็จะเปิด ส่วนข้อที่เจาะรูก็จะกลับไปประกบกันที่โคนต้นกล้ากาแฟ

รูปที่เมื่อกลับกระบอกชำเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำลงปลูกในหลุมที่ขุดไว้ขนาดลึกเท่าความยาวของกระบอกไม้ไผ่ ใส่ดินลงไปพอเหมาะรอบๆ กระบอกชำแล้วค่อยยกกระบอกชำขึ้นทีละซีก เติมดินให้เต็มหลุมและกดให้แน่น ก็จะได้ต้นกล้ากาแฟที่ปลูกโดยมีระบบรากที่ดีและไม่ถูกทำลายเลย
ที่มา:อนันต์  อิสระเสนีย์