เห็ดหลินจือ:เห็ดที่มีสรรพคุณทางยา

ศุภนิตย์  หิรัญประดิษฐ์, สัญชัย ตันตยาภรณ์, พรรณี  บุตรธนู, สมพงษ์  อังโขรัมย์ (กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร)

หลินจือ เป็นคำเรียกทับศัพท์ภาษาจีน Ling Zhi หมายถึง วิญญาณ ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า Reishi  ซึ่งหมายถึง เห็ดหมื่นปี ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Lacquered mushroom และ Holy mushroom  ส่วนในประเทศไทยนั้นมีทั้งที่เรียกทับศัพท์ภาษาจีนว่าหลินจือ ที่แปลมาจากภาษาญี่ปุ่นว่า หมื่นปี หรือตั้งขึ้นใหม่ว่าเห็ดอมตะ

เห็ดหลินจือ เป็นเห็ดที่ชาวจีน มีความเชื่อถือว่ามีสรรพคุณทางยามาแต่โบราณนับพันปี ในปี ค.ศ.๑๙๗๑ ได้มีการปลูกเห็ดชนิดนี้ในประเทศญี่ปุ่น และเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลาย ให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพชนิดหนึ่งที่จะช่วยบำรุงรักษา และส่งเสริมสุขภาพ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เห็ดหลินจือ จัดเป็นเห็ดที่มีอายุข้ามปี ดอกเห็ดเกิดเป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นกลุ่มที่มีโคนติดกันกลุ่มละ ๓-๔ ดอก ดอกเห็ดมีรูปร่างคล้ายพัด ซึ่งมีก้านหรือไม่มีก้านดอกเห็ดที่มีก้าน ก้านจะเกิดอยู่กึ่งกลางหรือค่อนไปข้างใดข้างหนึ่งของดอก ผิวหมวกเห็ดมีลักษณะเป็นมันเงา คล้ายทาด้วยแชลแลค สีน้ำตาลแดง อาจมีสีเหลืองหรือสีขาวบริเวณขอบหมวก เนื้อเยื่อภายในดอกเห็ดเป็นเส้นใยสีน้ำตาลและมีความหนาจากผิวหมวกลงไปถึงรูที่อยู่ใต้หมวกประมาณ ๐.๒-๑.๐ ซม. ใต้หมวกมีรูเล็ก ๆ สีขาวหรือเหลืองอ่อน เมื่อเวลาแก่หรือจับต้องจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม สปอร์มีสีน้ำตาลรูปวงกลมรี ปลายบนมีผิวหน้าตัด ผนังหมวกเป็น ๒ ชั้น และมีหนามที่มียอดแหลมชี้ไปที่ผนังชั้นนอกแต่ไม่ทะลุผิวนอก ผิวนอกของสปอร์เรียบ

เห็ดชนิดนี้จัดเป็นปาราสิตรากของพืชยืนต้น เวลาออกดอกจะออกตามบริเวณโคนต้นหรือบนตอไม้ที่ตายแล้ว

ในประเทศไทยจะพบเห็ดชนิดนี้ ในฤดูฝน บนพืชและตอพืชอาศัยได้แก่ หมากเขียว คูณ ก้ามปู มะม่วง นกยูงฝรั่ง ยางนา และยางพารา ฯลฯ

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเห็ดชนิดนี้ ซึ่งขึ้นอยู่ตามธรรมชาติยังไม่มีข้อมูลว่าใช้เป็นสมุนไพรได้

ขั้นตอนการเพาะเห็ดหลินจือ

๑.  การทำเชื้อบริสุทธิ์ เป็นวิธีการเตรียมเชื้อเห้ดให้บริสุทธิ์โดยวิธีใช้ส่วนของเนื้อเยื่อจากดอกเห็ดสดที่มีขนาดใหญ่ ยังไม่บานหรือเริ่มบานเล็กน้อย โดยใช้สำลีจุ่มแอลกอฮอล์เข้มข้น ๗๕ เปอร์เซ็นต์ บีบให้แห้ง เช็ดรอบนอกดอกเห็ด จากนั้นใช้ใบมีดคมสะอาด เฉือนเอาส่วนในดอกเห็ด วางลงบนอาหารวุ้นพีดีเอ ในสภาพปลอดเชื้อปนเปื้อน เลี้ยงที่อุณหภูมิ ๒๕-๒๘ องศาเซลเซียส เส้นใยเริ่มแรกจะมีสีขาว จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อเส้นใยเจริญดี ถ่ายเชื้อลงบนอาหารวุ้นพีดีเอใหม่อีก

๒. การทำหัวเชื้อและขยายเชื้อ เป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อเห็ด ทำให้เชื้อเห็ดปรับตัวได้ดีเมื่อจะนำไปใช้เพาะและนอกจากนี้ยังเป็นการสะดวกรวดเร็วต่อการปฏิบัติงาน  วัสดุที่ใช้ตามรายงานของฟิลิปปินส์ใช้เมล็ดข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวหรือข้าวโพดก้ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง

สำหรับประเทศไทยใช้เมล็ดข้าวฟ่าง โดยนำมาแช่น้ำไม่ต่ำกว่า ๘ ชั่วโมง แล้วนำไปนึ่งพอให้เมล็ดเริ่มปริทิ้งให้เย็น จึงบรรจุใส่ขวดประมาณ ๑/๒ หรือ ๒/๓ ของขวด ปิดจุกด้วยสำลีและกระดาษ นำไปนึ่งที่ความร้อน ๑๕-๒๐ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นาน ๓๐ นาที ทิ้งให้เย็นจึงนำไปเลี้ยงเชื้อเห็ดในสภาพปลอดเชื้อปนเปื้อน นำไปบ่มที่อุณหภูมิ ๒๕-๒๗ องศาเซลเซียส นาน ๑๐-๑๕ วัน จะต้องเขย่าทุก ๓ วัน

ส่วนในตำราของจีนนั้นใช้ขี้เลื่อย ๗๘ ส่วน รำข้าวหรือเปลือกเมล็ดข้าวสาลี ๒๐ ส่วน น้ำตาลทราย ๑ ส่วน และปูนผง ๑ ส่วน ตามลำดับ ผสมกับน้ำ ให้มีความชื้น ๕๕-๖๐ เปอร์เซ็นต์ คลุกเคล้าให้เข้ากันดี ใส่ขวดอัดให้แน่นปิดด้วยจุกสำลีและกระดาษ นำไปนึ่งที่มีความดัน เช่นเดียวกับนึ่งเมล็ดข้าวฟ่าง ทิ้งให้เย็นแล้วเขี่ยเชื้อเห็ดลงไปในสภาพปลอดเชื้อปนเปื้อน นำไปบ่มที่ ๒๕-๒๘ องศาเซลเซียส รอให้เส้นใยเจริญถึงก้นขวด ก็ใช้เป็นหัวเชื้อได้

๓.  วิธีการเพาะ เพาะได้ในขวด ถุงพลาสติกและท่อนไม้

๑)  การเพาะในขวดตามแบบของจีน มี ๔ สูตร อาหารดังนี้

(ก)  สูตรอาหารเช่นเดียวกับสูตรอาหารที่ใช้ในการขยายเชื้อ ข้างต้น

(ข)  เปลือกเมล็ดฝ้าย ๔๔ ส่วน ขี้เลื่อย ๔๔ ส่วน เปลือกเมล็ดข้าวสาลี ๑๐ ส่วน น้ำตาลอ้อย ๑ ส่วน และปูนผง ๑ ส่วน

(ค)  เปลือกเมล็ดฝ้ายล้วน

(ง)  สูตรอาหารเช่นเดียวกับสูตรที่หนึ่งแต่ใช้กากอ้อยแทนขี้เลื่อย

ในแต่ละสูตร เติมน้ำจนวัสดุผสมมีความชื้นประมาณ ๕๕-๖๐ เปอร์เซ็นต์

๒)  การเพาะในถุงพลาสติก  ดังมีรายงานจากฟิลิปปินส์และประเทศไทย ดังนี้

สูตรอาหารของฟิลิปปินส์ที่แนะนำมี ๒ สูตร ด้วยกันคือ

(ก)  ขี้เลื่อย และรำข้าวในอัตราส่วน ๒:๑

(ข)  ฟางข้าว ขี้เลื่อย และรำข้าวในอัตราส่วน ๒:๒:๑ อาจใช้ใบผักตบชวาตากแห้ง หรือคอร์นมีลแทนรำข้าวได้

ส่วนสูตรอาหารของประเทศไทย มีดังนี้คือ

๑)  ขี้เลื่อยไม้ยางพารา รำ และน้ำตาลทราย ในอัตราส่วน ๑๐๐:๓:๒ (โดยน้ำหนักแห้ง)

๒)  ขี้เลื่อยไม้ยางพารา รำ ยิบซั่ม ปูนขาวและดีเกลือในอัตราส่วน ๑๐๐:๕:๑:๐.๒ (โดยน้ำหนักแห้ง)

๓)  ขี้เลื่อยไม้ยางพารา รำและปูนขาว ในอัตราส่วน ๗๕:๒๔:๑ (โดยน้ำหนักแห้ง)

๔)  ขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณ ปูนขาว และแอมโมเนียมซัลเฟต (๒๑-๐-๐) ในอัตราส่วน ๑๐๐:๑:๒ (โดยน้ำหนักแห้ง) ผสมกับน้ำคลุกให้ทั่ว หมักนาน ๒ เดือน โดยกลับกองที่หมักนี้ทุก ๆ ๑๕ วัน หมักจนหมดกลิ่น ต่อจากนั้นนำขี้เลื่อยซึ่งหมักได้ที่แล้วมาผสมกับรำและน้ำตาลในอัตราส่วน ๑๐๐:๓:๒ (โดยน้ำหนักเปียก)

การเพาะเห็ดหลินจือในถุงพลาสติก ต้องทำการผสมส่วนผสมของอาหารแต่ละสูตรที่เลือกแล้วให้เข้ากัน โดยเติมน้ำลงไปประมาณ ๑ เท่าของน้ำหนักขี้เลื่อยที่ใช้บรรจุลงในถุงพลาสติกทนร้อนพับก้น ขนาด ๕๐๐ ถึง ๘๐๐ กรัม อัดให้แน่น ใส่คอขวดพลาสติก ปิดจุกสำลีและปิดท้ายด้วยกระดาษหรือฝาครอบพลาสติก นำไปนึ่งไอน้ำในถังมีความดันขนาด ๒๐๐ ลิตร หรือใหญ่กว่านั้น โดยจับเวลาตั้งแต่ไอน้ำเดือดเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง หรือนานกว่านี้ตามขนาดของถังที่ใช้ เมื่อนึ่งเสร็จแล้ว ทิ้งให้เย็นจึงเติมหัวเชื้อซึ่งเตรียมไว้ ควรทำในบริเวณที่สะอาด มิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ

ต่อจากนั้นจึงนำถุงเชื้อไปบ่มไว้ในที่มืด ตามแบบฟิลิปปินส์ หรือที่ไม่มืด ตามแบบของไทย แต่ต้องมีการระบายอากาศที่ดี อุณหภูมิประมาณ ๒๘-๓๒ องศาเซลเซียสนานประมาณ ๓๐ วันหรือนานกว่านี้เล็กน้อย เชื้อจะเจริญเต็มถุง ต่อจากนั้นบ่มเชื้อไว้อีกประมาณ ๑-๒ อาทิตย์ จึงนำไปเปิดให้ออกดอกโดยดึงจุกสำลีออก เก็บถุงไว้ในโรงเรือนซึ่งมีความชื้นประมาณ ๗๕-๘๕ เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิประมาณ ๒๕-๒๘ องศาเซลเซียส มีการระบายอากาศดี และมีแสงสว่างมาก หลังจากเปิดออกประมาณ ๑ เดือน ก็สามารถเก็บดอกครั้งแรกได้ ผลผลิตที่เก็บครั้งแรก ได้ประมาณ ๒๐-๔๐ กรัม ต่อน้ำหนักวัสดุเพาะ ๕๐๐-๘๐๐ กรัม

๓)  การเพาะเห็ดหลินจือบนท่อนไม้  แบบจีนและญี่ปุ่น

สำหรับแบบจีนมีวิธีการทำดังนี้

(ก)  การเตรียมเชื้อ ใช้ท่อนไม้เนื้อแข็ง เปลือกบาง เช่น ต้นไหม เลือกท่อนเล็ก ๆ ตัดให้เป็นท่อนยาว ๑.๕ ซม. และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๒ ซม. ตากแห้ง นำไปแช่ในสารซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ น้ำตาลทราย ๒ กรัม รำข้าว ๕ กรัม ต่อน้ำ ๑๐๐ มิลลิลิตต ต้มให้เดือดนานครึ่งชั่วโมงจึงตักขึ้น ต่อจากนั้นจึงนำท่อนไม้นี้ผสมกับขี้เลื่อยและสารอาหารเพาะเลี้ยงในอัตราส่วน ๔:๑ นำไปกรอกใส่ขวด ปิดด้านบนด้วยขี้เลื่อย นำไปนึ่งฆ่าเชื้อทิ้งให้เย็น จึงเขี่ยเชื้อเห็ดลงไป บ่มไว้จนเส้นใยเจริญเต็มขวดและบ่มไว้อีก ๑๐ วัน จึงนำไปใช้ได้

(ข)  การเตรียมท่อนไม้ ใช้ไม้เนื้อแข็งหรือไม้ที่มีใบกว้าง ไม้ที่ใช้ เช่น ต้นเชอรี่ป่า ตัดท่อนไม้มาแล้วตัดกิ่งทิ้ง นำวางไว้ในที่ร่ม ควรตัดในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมเพราะความชื้นในไม้มีมาก ไม้จะแห้งช้า ตัดท่อนไม้ขนาดยาว ๑ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง ๘-๑๕ ซม. ทำการเจาะรู ให้ระยะห่างระหว่างรู ๘-๑๐ ซม.และระหว่างแถวห่าง ๖-๘ ซม. ถ่ายเชื้อที่เตรียมไว้ใส่ในรูที่เจาะไว้ปิดด้วยพลาสติกบางเพื่อรักษาความชื้นให้เชื้อเห็ด ต่อจากนั้นนำท่อนไม้เหล่านี้ไปกองโดยวางตามแนวขวาง และแนวนอนสลับกันไป สูง ๓-๔ เมตร คลุมด้วยผ้าพลาสติก ถ้าแสงแดดจัดในตอนกลางวันคลุมด้วยหญ้าคาเพื่อรักษาอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง ๒๕-๒๘ องศาเซลเซียส ปล่อยไว้ ๕-๖ วัน กลับสลับไม้ครั้งหนึ่ง ในการกลับไม้ครั้งแรก ต้องคลุมพลาสติกให้มิดชิด หลังจากนั้นประมาณ ๑ เดือน เส้นใยเจริญชอนไชเข้าในเนื้อไม้แล้ว จึงนำไปฝังดินได้

(ค)  การฝังท่อนไม้ นำท่อนไม้ที่เส้นใยเจริญดีแล้วไปฝังทันที โดยขุดหลุมกว้าง ๔.๕ เมตร และขุดหน้าดินออก ๒ ถึง ๓ นิ้ว ภายในหลุมโรยด้วยสารเคมีชนิดหนึ่งแล้วโรยดินกลบผงเคมี จากนั้นวางท่อนไม้เพาะเชื้อลงไปให้ห่างกันท่อนละ ๑ นิ้ว ระหว่างกลางอุดด้วยดินละเอียดไม่ควรให้มีช่องว่าง จากนั้นกลบด้วยดินหนา ๑ นิ้ว ควรมีร่องระบายน้ำทั้งสองด้านข้างหลุม หลังกลบดินแล้วสร้างซุ้มสูง ๑ เมตร จากนั้นคลุมด้วยแผ่นพลาสติก คลุมหญ้าคาเพื่อกันแสงแดดและฝน พ่นน้ำวันละ ๑-๒ ครั้ง เพื่อรักษาหน้าดินให้ชื้นเสมอ แต่ไม่ควรให้ชุ่ม ถอนหญ้าหน้าดินอยู่เสมอ ในฤดูหนาวควรระวังเรื่องความชื้นโดยคลุมหน้าดินของหลุมด้วยหญ้าคา ไม่ต้องพ่นน้ำ

(ง)  การเก็บเกี่ยว ในตำราของจีนไม่ได้บอกว่าต้องฝังท่อนไม้นานเท่าไรจึงจะเก็บเกี่ยวได้ เมื่อดอกเห็ดโผล่ขึ้นมาจากดิน และเริ่มมีสีแดง ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ปีแรกผลผลิตจะต่ำ ปีที่สองได้ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์

ส่วนการเพาะเห็ดหลินจือบนท่อนไม้ของญี่ปุ่นซึ่งได้รับการบอกเล่ามาจาก นายชูโซ่ ฟูคาดะ นั้น ไม่มีรายละเอียดเหมือนกับที่แปลจากหนังสือจีน แต่ก็คล้ายคลึงกัน ดังนี้ ใช้ท่อนไม้ที่มีใบกว้าง ตัดให้ยาวประมาณ ๑๕-๒๐ ซม. มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕-๑๕ ซม. เจาะรูให้ลึกประมาณ ๒-๓ ซม.และกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. เจาะประมาณข้างละ ๓-๔ รู ต่อจากนั้นนำท่อนไม้นั้นไปนึ่งไอน้ำในถังที่ไม่มีความดันนาน ๒-๓ ชั่วโมง ทิ้งให้เย็น เติมหัวเชื้อลงไปในรูที่เจาะไว้ จึงนำท่อนไม้แต่ละท่อนมาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ รัดด้วยหนังยาง นำไปบ่มที่ ๓๐ องศาเซลเซียสไม่ได้บอกว่านานเท่าไร ต่อจากนั้น เอากระดาษหนังสือพิมพ์ออกจะสังเกตเห็นเป็นจุดสีเหลือง ที่รูที่เจาะไว้ซึ่งแสดงว่าพร้อมที่จะนำไปฝังดินได้ ขุดหลุมลึกประมาณ ๑-๒ ซม. วางท่อนไม้ลงไป กลบด้วยดินไม่หนานัก และทำซุ้มให้น้ำรักษาหน้าดินให้ชื้นเสมอ เมื่อฝังดินประมาณ ๓ เดือน ต้องระวังหอยทาก ในการเพาะเห็ดหลินจือนี้เริ่มทำจากมีนาคมถึงสิงหาคม ดอกเห็ดที่ได้จะใหญ่และก้านยาวมาก

การทำแห้ง

เมื่อเก็บเห็ดสดมาก็ทำการล้างและทิ้งให้สะเด็ดน้ำ จึงนำมาฝานให้เป็นชิ้นบาง ๆ ต่อจากนั้นนำไปตากแดดจัดประมาณ ๒-๓ วัน แล้วเก็บใส่ถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น หรือจะใส่ตู้อบอุณหภูมิประมาณ ๖๐ องศาเซลเซียสนาน ๒-๓ วันก็ได้

ประโยชน์ของเห็ดหลินจือ

ในวงการแพทย์ปัจจุบัน มีรายงานว่า เห็ดหลินจือเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นยาที่ใช้รักษาโรคหลายชนิด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคภูมิแพ้ โรคบวมน้ำ อาการหลังหมดระดูของผู้หญิง อาการทางประสาท และที่สำคัญคือมะเร็ง

เมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ฟูกูมิ  โมริชิเงะ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่นและคณะได้มาบรรยายที่มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวกับสารอาหารที่เหมาะสม ซึ่งช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกด้วย เราได้ทดลองใช้เห็ดชนิดต่าง ๆ และพบว่า เห็ดหลินจือ เป็นเห็ดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในการช่วยป้องกัน และรักษามะเร็ง ทั้งชนิดที่ช่วยให้อาการไข้ฟื้นคืนสู่สภาพปกติอย่างรวดเร็วหลังการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก และทั้งชนิดที่ไม่อาจผ่าตัดได้ แต่ใช้วิธีรักษาโดยการคุมสารอาหารเพียงอย่างเดียว ในการรักษาต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และให้ผงสกัดจากเห็ดหลินจือ ซึ่งมีราคาแพงเนื่องจากผงสกัดจากเห็ดหลินจือมีราคาแพง ผู้บริโภคสามารถนำเห็ดหลินจือมาบริโภคได้ โดยนำเห็ดหลินจือแห้งที่ฝานเป็นแผ่นบาง ๆ แล้ว ๕ กรัม มาต้มกับน้ำ ๑ ลิตร จนน้ำแห้งเหลือครึ่งลิตร และเอาเห็ดอีก ๕ กรัม มาต้มกับน้ำ ๑ ลิตร ให้น้ำแห้งเหลือครึ่งลิตร ต่อจากนั้นนำไปผสมกับครึ่งลิตรแรก แล้วต้มให้เหลือครึ่งลิตร นำเอาส่วนนี้ไปดื่มได้ ชิ้นของเห็ดที่เหลือจากการต้มนำไปตุ๋นกับอาหารได้ ส่วนน้ำต้มเห็ดจะมีสีเหลืองอ่อน ๆ รสขม ยิ่งขมมากยิ่งมีตัวยามาก ควรดื่มครึ่งลิตรถึงหนึ่งลิตรทุกวัน

เนื่องจากเห็ดหลินจือมีสรรพคุณในทางยาอย่างกว้างขวาง กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์รวมสวนเห็ดบ้านอรัญญิก จังหวัดนครปฐม จึงได้ร่วมกันทำการเร่งศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อมูลในหลาย ๆ ด้านเกี่ยวกับเห็ดนี้ เพื่อจะทำการเพาะเห็ด และใช้ประโยชน์ในประเทศไทยและเพื่อการส่งออกด้วย

โทษของเห็ดหลินจือ

ในขณะเดียวกัน ได้มีรายงานว่าเห็ดนี้เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรค ลำต้นเน่ากับต้นปาล์มและเกิดโรครากเน่ากับมะพร้าว ในประเทศมาเลเซีย

สำหรับในประเทศไทย กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคเหล่านี้ปรากฎว่ายังไม่พบในต้นปาล์ม แต่พบในต้นมะพร้าวและต้นหมาก ซึ่งจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเพาะเห็ดนี้ต่อไป