เห็ดเป๋าฮื้อ:การเพาะเห็ดเป๋าฮื้อสายพันธุ์ที่นิยม


เห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเพาะได้ทุกฤดูและทุกภาคของประเทศ แม้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง ราคาของเห็ดชนิดนี้ก็พุ่งสูงตามไปด้วย เห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดที่สามารถเก็บในตู้เย็นให้คงความสดได้นานเป็นสัปดาห์ และยังนิยมนำไปทำเห็ดกระป๋องได้อีกด้วย ลักษณะของดอกโดยทั่วไปจะคล้ายกับเห็ดนางรม เนื่องจากอยู่ในตระกูลเดียวกัน ต่างกันตรงที่สีและความหนาแน่นของเนื้อ เห็ดเป๋าฮื้อจะมีลักษณะดอกออกเป็นกลุ่มหรือออกดอกเดี่ยว หมวกดอกบุ๋มเล็กน้อยเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-15 ซม. ฝักสีครีมถึงเทาเข้ม ก้อนดอกใหญ่อวบแน่นแข็งแรง ผิวดอกแห้งไม่เปียกหรือมีเมือกเหมือนเห็ดชนิดอื่น

พันธุ์เห็ดเป๋าฮื้อที่นิยมเพาะมีอยู่ 4 สายพันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ที่เพาะสำหรับผลิตเห็ดกระป๋องได้แก่ พันธุ์เป๋าฮื้อดำ ซึ่งมีผิวดอกสีน้ำตาลแก่จนถึงดำ จะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 24-28 องศาเซลเซียส อีก 3 สายพันธุ์เป็นพันธุ์ที่เพาะสำหรับใช้บริโภคสดได้แก่ พันธุ์เป๋าฮื้อสีเหลือง เป็นพันธุ์ที่ทนความร้อนและให้ผลผลิตสูง พันธุ์เป๋าฮื้อญี่ปุ่น เติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 15-22 องศาเซลเซียส และสุดท้ายคือพันธุ์เป๋าฮื้ออินเดียผิวดอกสีเทาแก่เกือบดำ แต่เนื้อไม่แน่นเหมือนพันธุ์เป๋าฮื้อดำ เติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 16-24 องศาเซลเซียส ให้ผลผลิตสูง

วิธีการเพาะเห็ดเป๋าฮื้อมีขั้นตอนคล้ายการเพาะเห็ดในถุงพลาสติกทั่วไปโดยเริ่มจากการแยกเชื้อและเลี้ยงในอาหารวุ้น การเลี้ยงเชื้อในเมล็ดข้าวฟ่าง การทำก้อนเชื้อและการทำให้เกิดดอกเห็ด ในที่นี้จะกล่าวถึงตั้งแต่วิธีการทำก้อนเชื้อเป็นต้นไป

วิธีการทำก้อนเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อ

เห็ดเป๋าฮื้อเป็นเห็ดที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในวัสดุเพาะหลายชนิด เช่น ฟางสับ ขี้เลื่อยหรือซังข้าวโพด ซึ่งมีวิธีการผลิตก้อนเชื้อดังต่อไปนี้

การทำก้อนเชื้อจากฟางสับ

ฟางที่ใช้เพาะควรเป็นฟางที่แห้งสนิท ไม่มีเชื้อราปะปนหรือมีกลิ่นเหม็นสูตรอาหารที่ใช้คือ ใช้ฟางสับยาว 2-3 นิ้ว 100 กก. ปูนขาว 0.5-1 กก. รำละเอียด 3 กก. น้ำ 140-170 กก. โดยมีขั้นตอนการทำดังนี้

1.  นำฟางสับไปแช่น้ำหรือรดน้ำให้ทั่ว แล้วปล่อยให้สะเด็ดน้ำจึงผสมปุ๋ยลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วทำเป็นกองสูง คลุมด้วยพลาสติก หมักทิ้งไว้ 3 วัน

2.  หลังผ่านไป 3 วัน รอบกองหมักจะแห้งให้ใช้บัวรดน้ำรดรอบ ๆ กอง จากนั้นพลิกกองฟาง ใส่ปูนขาวคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วหมักต่ออีก 3 วัน

3.  เมื่อครบ 3 วันให้พลิกกองฟางแล้วกองหลวม ๆ เป็นรูปเจดีย์ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกที่สุด หมักทิ้งไว้ 1 วัน

4.  วันรุ่งขึ้นให้นำไปผสมกับรำข้าว แล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกที่ใช้เพาะเห็ดซึ่งควรบรรจุให้หมดภายในวันเดียว ถุงก้อนเชื้อควรมีขนาด 8 ขีด ถึง 1 กก. เมื่ออัดก้อนเชื้อแน่นดีแล้ว ใส่คอขวดพลาสติกอุดด้วยสำลีและปิดด้วยกระดาษ แล้วรัดยางให้แน่น

5.  นำก้อนเชื้อที่ได้ไปนึ่งฆ่าเชื้อทันที ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. นับจากน้ำเดือดแล้วทิ้งไว้ให้เย็น (หากไม่นำก้อนเพาะไปนึ่งทันทีอาจทำให้เกิดการปะปนของจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆได้)

6.  นำหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงไว้ในเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้ประมาณ 10-20 เมล็ดต่อก้อน เขี่ยลงในก้อนเชื้อที่เย็นดีแล้ว แล้วรีบปิดปากถุงด้วยสำลีและกระดาทันที สถานที่ที่ใช้ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงก้อนเชื้อควรสะอาด ลมสงบ วัสดุที่ใช้เขี่ยหัวเชื้อควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนทุกครั้ง

7.  นำก้อนเชื้อที่ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงเรียบร้อยแล้วไปบ่มไว้ในโรงบ่มก้อนเชื้อต่อไป

การทำก้อนเชื้อจากขี้เลื่อย

ขี้เลื่อยที่ใช้เป็นวัสดุเพาะควรเป็นขี้เลื่อยจากไม้เลือดคลาย เช่น ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ไม้นุ่น ไม้ฉำฉา หรือขี้เลื่อยไม้เนื้ออ่อนชนิดอื่น การทำก้อนเชื้อจากขี้เลื่อยนี้ไม่ต้องหมักแต่ผลผลิตที่ได้จะต่ำกว่าใช้ฟางหมัก และการเลือกหัวเชื้อควรให้แน่ใจว่เป็นหัวเชื้อที่สามารถย่อยขี้เลื่อยเป็นอาหารได้ สำหรับสูตรที่ใช้ เช่น ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กก. รำละเอียด 5-10 กก. (แม้การผสมรำในอัตราสูงจะให้ผลผลิตสูง แต่ก็เสี่ยงต่อการปะปนของเชื้อชนิดอื่นสูงตามไปด้วย) ข้าวโพดป่น 3-5 กก. ดีเกลือ 0.3-0.4 กก. น้ำพอประมาณ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

1.  นำส่วนผสมทั้งหมดไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกที่ใช้เพาะเห็ด ซึ่งควรบรรจุให้หมดภายในวันเดียว ถุงก้อนเชื้อควรมีขนาด 8 ขีด ถึง 1 กก. เมื่ออัดก้อนเชื้อแน่นดีแล้ว ใส่คอขวดพลาสติก อุดด้วยสำลีและปิดด้วยกระดาษแล้วรัดยางให้แน่น

2.  นำก้อนเชื้อที่ได้ไปนึ่งฆ่าเชื้อทันที ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. นับจากน้ำเดือด แล้วทิ้งไว้ให้เย็น(หากไม่นำก้อนเพาะไปนึ่งทันทีอาจทำให้เกิดการปะปนของจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ได้)

3.  นำหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงไว้ในเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้ประมาณ 10-20 เมล็ดต่อก้อนเขี่ยลงในก้อนเชื้อที่เย็นดีแล้ว แล้วรีบปิดปากถุงด้วยสำลีและกระดาษทันที สถานที่ที่ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงก้อนเชื้อควรสะอาดลมสงบ วัสดุที่ใช้เขี่ยหัวเชื้อควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนทุกครั้ง

4.  นำก้อนเชื้อที่ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงเรียบร้อยแล้วไปบ่มไว้ในโรงบ่มก้อนเชื้อต่อไป

การทำก้อนเชื้อเห็ดจากซังข้าวโพดหรือละอองข้าวโพด

นำซังข้าวโพดไปบดให้ออกมาหยาบเล็กน้อย อัตราส่วนที่ใช้ซังข้าวโพด 100 กก. ผสมน้ำ 100 กก. คลุกให้เข้ากัน กองเป็นรูปสามเหลี่ยม คลุมด้วยถุงพลาสติก หมักทิ้งไว้ 3 วัน เพื่อให้ซังข้าวโพดนิ่ม หากใช้ละอองข้าวโพดที่ได้จากการสีข้าวโพดให้นำไปผสมน้ำได้เลยไม่ต้องหมัก

1.  หลังจากคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้ว แล้วบรรจุใส่ถุงพลาสติกที่ใช้เพาะเห็ด ซึ่งควรบรรจุให้หมดภายในวันเดียว ถุงก้อนเชื้อควรมีขนาด 8 ขีด ถึง 1 กก. เมื่ออัดก้อนเชื้อแน่นดีแล้ว ใส่คอขวดพลาสติก อุดด้วยสำลีและปิดด้วยกระดาแล้วรัดยางให้แน่น

2.  นำก้อนเชื้อที่ได้ไปนึ่งฆ่าเชื้อทันที ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. นับจากน้ำเดือด แล้วทิ้งไว้ให้เย็น (หากไม่นำก้อนเพาะไปนึ่งทันทีอาจทำให้เกิดการปะปนของจุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ ได้)

3.  นำหัวเชื้อเห็ดที่เลี้ยงไว้ในเมล็ดข้าวฟ่าง ใช้ประมาณ 10-20 เมล็ดต่อก้อนเขี่ยลงในก้อนเชื้อที่เย็นดีแล้ว แล้วรีบปิดปากถุงด้วยสำลีและกระดาษทันที สถานที่ที่ใช้ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงก้อนเชื้อควรสะอาด ลมสงบ วัสดุที่ใช้เขี่ยหัวเชื้อควรทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ก่อนทุกครั้ง

4.  นำก้อนเชื้อที่ถ่ายหัวเชื้อเห็ดลงเรียบร้อยแล้วไปบ่มในโรงบ่มก้อนเชื้อต่อไป

การบ่มก้อนเชื้อ

หลังจากใส่เชื้อเห็ดลงในถุงก้อนเชื้อแล้ว ให้นำไปบ่มในโรงบ่มเชื้อเพื่อให้เส้นใยเจริญในก้อนเชื้อ ในการจัดวาง หากวางในแนวตั้งไม่ควรให้ถุงทับซ้อนกัน ถ้าจัดวางในแนวนอนสามารถจัดวางซ้อนกันได้แต่ต้องหมั่นกลับก้อนเชื้อด้านล่างขึ้นด้านบนเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวกอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับบ่มก้อนเชื้อคือ 28-32 องศาเซลเซียส ซึ่งก้อนเชื้อจะใช้ระยะเวลาประมาณ 30-45 วันก่อนที่เส้นใยจะเดินเต็มถุง ระยะนี้ต้องหมั่นตรวจดูโรคแมลง มด มอด แมลงสาบ ปลวกหรือไร หากพบอาจฉีดพ่นด้วยสารสกัดตะไคร้หอม หรือหากพบเชื้อราชนิดอื่น คือมีเส้นใยสีเขียวเหลือง หรือดำให้รีบนำไปกำจัดนอกโรงบ่มทันที

การทำให้เกิดดอก

ในการทำให้เห็ดเกิดดอกต้องย้ายก้อนเชื้อจากโรงบ่มไปไว้โรงเพาะ โรงเรือนที่เหมาะสำหรับการเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ ควรเป็นโรงเรือนที่สามารถเก็บความชื้นได้ดีมีระบบถ่ายเทอากาศดีและสะดวกต่อการทำความสะอาด การคัดแยกก้อนเชื้อจากโรงบ่มให้สังเกตดูว่าก้อนเชื้อนั้นมีเส้นใยเดินเต็มถุงแล้ว และให้คัดแยกถุงที่มีการออกดอกไปวางไว้ในโรงเพาะเป็นรุ่นแรก ส่วนถุงที่ยังไม่มีการออกดอกให้เก็บที่โรงบ่มเชื้อต่อไป เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษา สำหรับวิธีการจัดวางก้อนเชื้อในโรงเพาะอาจทำได้ 2 วิธีคือ

1.  วางก้อนเชื้อในแนวนอนบนชั้นวางซ้อน ๆ กันหรือใช้เชือกแขวนแล้วปิดจุกสำลีให้เห็ดออกมาทางคอขวด วิธีนี้เหมาะสำหรับวัสดุเพาะที่ทำจากขี้เลื่อยและซังข้าวโพด

2.  วางก้อนเชื้อในแนวตั้ง แล้วเปิดจุกสำลีให้เห็ดออกมาทางคอขวด หลังจากเก็บดอกเห็ดรุ่นแรกแล้วให้นำคอขวดออก พับปากถุงให้สูงจากก้อนเชื้อ 1 นิ้ว แล้วคลุมด้วยดินสะอาด หนา 1 ซม.(ดินที่ใช้ต้องไม่มีอินทรีย์วัตถุ ไม่มีจุลินทรีย์ โรคแมลงปะปน หากเป็นดินร่วนปนทรายที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อได้ยิ่งดี โดยก่อนใช้ควรผสมหินปูน 2-3 % หรือปูนขาว 1%ของน้ำหนักดินแห้งเพื่อปรับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน) หลังจากคลุมดินแล้วให้รดน้ำพอหมาด ๆ รักษาระดับความชื้นให้คงที่ประมาณ 1 สัปดาห์จะสามารถเก็บเห็ดรุ่นต่อไปได้

วิธีการเก็บเห็ดเป๋าฮื้อ

การเก็บเห็ดเป๋าฮื้อควรเก็บในขณะที่ขอบดอกเห็ดโค้งลง หากลักษณะขอบดอกโค้งงอขึ้นแสดงว่าเห็ดดอกนั้นแก่เกินไปแล้ว วิธีการเก็บให้ใช้มือจับที่โคนของดอกแล้วดึงเบา ๆ จากนั้นจึงใช้มีดคม ๆ ตัดสิ่งสกปรกที่ติดมากับโคนดอกทิ้งไป จัดวางเรียงในตะกร้าหรือกระจาดแต่ควรระวังอย่าวางซ้อนกันมากเกินไปจะทำให้ดอกช้ำได้ วิธีเก็บก่อนนำไปจำหน่ายหากเก็บไว้ในถุงพลาสติกควรเจาะรูแล้ววางไว้ในที่ร่ม หากต้องการเก็บไว้ในตู้เย็นควรปิดปากถุงให้สนิท

ปัญหาที่พบมากในการเพาะเห็ดเป๋าฮื้อ

1.  มีเชื้อราชนิดอื่นเกิดขึ้นในก้อนเชื้อ ซึ่งป้องกันโดยเลือกซื้อหัวเชื้อบริสุทธิ์จากแหล่งที่ไว้ใจได้ และพยายามตรวจดูว่ามีถุงก้อนเชื้อฉีกขาดหรือไม่ หากพบต้องรีบนำออกไปจากโรงเรือนเพาะเห็ดโดยเร็ว

2.  เส้นใยเดินไม่เต็มถุง ซึ่งเกิดจากถุงก้อนเชื้อชื้นมากไปหรือมีเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้น ป้องกันโดยพยายามอย่าให้วัสดุเพาะมีความชื้นมากเกินไป และควรใช้เวลาในการนึ่งฆ่าเชื้อให้นานขึ้นโดยเพิ่มเวลานึ่งอีก 0.5-1 ชม.

3. เส้นใยเดินเต็มก้อนแต่เกิดดอกเพียงเล็กน้อยหรือไม่เกิดดอกเลย เกิดจากเชื้อไม่แข็งแรงหรือมีแมลงศัตรูอื่นเข้าไปรบกวน ซึ่งต้องแก้ไขที่การเลือกซื้อเชื้อจากร้านที่มีคุณภาพและหมั่นตรวจดูก้อนเชื้ออย่างสม่ำเสมอ หากพบต้องรีบกำจัดออกไป

4.  ดอกเห็ดแห้งฝ่อ เกิดจากมีความชื้นไม่พอ ควรรดน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง