แกลดิโอลัส

แกลดิโอลัส

นิยายกรีกเล่าว่าชายสองคนพี่น้องเกิดหลงรักผู้หญิงคนเดียวกัน ทั้งคู่ต้องการจะแต่งงานกับหญิงคนนั้น ต่างคนต่างไม่ยอมกัน ตกลงกันไม่ได้ จากความรักของพี่น้องได้กลายเป็นความเกลียดชัง ถึงขั้นเกิดการต่อสู้ให้ตายไปข้างหนึ่ง ผลปรากฏว่าทั้งสองได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนจะสิ้นใจต่างได้ปักดาบของตนลงบนดินเกิดเป็นแกลดิโอลัสสองต้นขึ้นทันใด แกลดิโอลัสสองต้นนั้นมีใบเหมือนดาบอันเล็ก ๆ มีดอกสีแดงเหมือนเลือดสด ๆ ใจกลางดอกมีแต้มสีขาวที่เกิดจากหยาดนํ้าตาของหญิงสาวด้วย

แกลดิโอลัสเป็นพืชในวงศ์ Iridaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่แถวแอฟริกาเขตร้อน เอเชียตะวันตก และประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ.1800 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีพันธุ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วมากมายพันธุ์เหล่านั้นได้มาจากบริษัทผลิตพันธุ์ใหม่เป็นการค้า และมีไม่น้อยที่เป็นผลงานของนักผสมพันธุ์สมัครเล่น แกลดิโอลัสเป็นที่นิยมปลูกเพราะปลูกง่าย ใช้ปลูกประดับสวนได้ดีและเป็นไม้ตัดดอกที่สำคัญด้วย คือช่อขนาดเล็กใช้ปักแจกันตามบ้านเรือน ช่อใหญ่ใช้ประดับตามห้องโถงในโรงแรม ในโบสถ์ ตามสถานที่ใหญ่โตหรูหราและทำเป็นช่อดอกไม้ขนาดใหญ่ได้สวยงาม

ชื่อของแกลดิโอลัสมาจากคำว่า Gladius ในภาษากรีกแปลว่า ดาบ เมื่อเอาหัวของแกลดิโอลัสลงปลูก ต้นจะงอกใบเรียวยาวคล้ายดาบแทงขึ้นเหนือดิน ใบมีเส้นใบขนานตามความยาวใบ ทำหน้าที่สร้างอาหารและเก็บสะสมไว้ที่โคนใบคือหัว เมื่อต้นมีใบได้ 3 ใบจะเริ่มมีจุดกำเนิดดอกและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อต้นมีใบ 7 ใบ ช่อดอกนั้นจะแทงขึ้นพ้นใบและยืดขึ้นให้ดอกบาน ในสภาพเมืองไทยใช้เวลาจากวันงอกจนถึงดอกบานตั้งแต่ 60-105 วันแล้วแต่พันธุ์ ฤดูกาลและสถานที่ปลูก ความสูงของต้นมีตั้งแต่ 18-48 นิ้ว

แกลดิโอลัสมีดอกเป็นช่อ และมีทุกสีนอกจากสีฟ้า แต่ละสีมีสีย่อยลงไปอีก บางพันธุ์มีสีปลอด บางพันธุ์มีสองสีคือมีสีอื่นเรื่อตรงคอดอกหรือปลายกลีบดอก จำนวนดอกย่อยในช่อและการจัดเรียงของดอกย่อยแตกต่างกันไป ขนาดของดอกย่อยมีตั้งแต่ 1 นิ้วถึง 7 นิ้ว กลีบดอกอาจเรียบเป็นคลื่น เป็นแฉกลึก เป็นเส้นเรียวยาวรูปเข็มหรือม้วนไปข้างหลังแล้วแต่ชนิดและพันธุ์ จำนวนดอกย่อยมีตั้งแต่ 10-30 ดอก พันธุ์ใหม่ๆ อาจมีมากกว่า 20 ดอก บนก้านที่ยาวตรงและแข็งแรงและสามารถบานพร้อมกันได้ถึง 10 ดอก โดยบานไล่จากดอกล่างขึ้นไป ก้านดอกยาว 0.8-1.2 เมตร และเป็นส่วนที่ให้ดอกเสีย 45-50 ซม. ลักษณะช่อดอกและสีหาดูได้จากแคตตาล็อกของต่างประเทศทั้งอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลีย

ดอกของแกลดิโอลัสจัดกลุ่มได้เป็น 5 กลุ่มที่สำค้ญดังนี้

1. พวกลูกผสมดอกใหญ่ (Large flowered hybrids) ความสูง 3-4 ฟุต ดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาด 4 1- 7 นิ้ว เช่น พันธุ์ที่นิยมปลูกกันเพื่อตัดดอกเป็นการค้าทั่วไป

2. ลูกผสมพริมูลินัส (Primulinus hybrids) ความสูง 1 ½ – 3 ฟุต กลีบบนของดอกงุ้มมาข้างหน้า ช่อดอกยาวประมาณ 15 นิ้ว มีดอกขนาด 3 นิ้ว และให้ดอกค่อนข้างห่าง การปลูกไม่ต้องคํ้าต้น เช่น พันธุ์ Columbine และ Rutherford เป็นต้น

3. ลูกผสมบัตเตอร์ฟลาย (Butterfly hybrids) ความสูง 2-4 ฟุต มีดอกย่อยค่อนข้างชิด คอดอกมีสีสะดุดตา เช่น พันธุ์ Melodie

4. พวกลูกผสมดอกเล็ก (Miniature hybrids) ลักษณะคล้ายลูกผสมพริมูลินัส ความสูง 1-2 ½  ฟุต ขนาดดอก 2 นิ้ว ปลายกลีบดอกมักย่นหรือเป็นคลื่น เช่น พันธุ์ Greenbird

5. พวกสปีชีส์อื่น (The Species) เช่น Gladiolus byzantinus ความสูง 2 ฟุต ดอกเล็ก สีม่วง ขาวและแดง เป็นพวกที่ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดีกว่าชนิดอื่นๆ สามารถปลูกกลางแจ้งได้ตลอดปีในต่างประเทศและ Gladiolus colvillii ความสูง 2 ฟุต ดอกเด็กสีขาว มีจำนวนดอกในช่อน้อย เป็นต้น

การปลูกแกลดิโอลัสใช้หัว (corm) ซึ่งเป็นลำต้นใต้ดินมีลักษณะเหมือนของกลมที่ถูกทับให้แบนจากด้านบน หัวมีเปลือกบางและแห้งห่อหุ้มเพื่อป้องกันการสูญเสียนํ้าด้านล่างของหัวมีปุ่มรากเรียงรายอยู่โดยรอบซึ่งต่อไปจะเจริญเป็นราก ด้านบนของหัวมีตา ปกติตายอดเท่านั้นจะเจริญเป็นต้น แต่ถ้าหัวมีขนาดสมบูรณ์เต็มที่ ตาข้างอีกหนึ่งหรือสองตาจะเจริญเป็นต้นด้วย แต่ละต้นจะสร้างหัวใหม่ขึ้นที่ฐานของต้นซ้อนบนหัวเดิมและมีหัวย่อย(cormel) เป็นจำนวนมากน้อยแล้วแต่พันธุ์ และความลึกของการเอาหัวลงปลูก ถ้าปลูกตื้นจะได้หัวย่อยจำนวนมาก หัวย่อยเหล่านี้เมื่อนำไปปลูกจะเจริญเป็นหัวใหญ่ได้ในเวลา 5-7 เดือน

รากของแกลดิโอลัสมีสองแบบคือ รากที่เกิดจากหัวเดิมมีลักษณะเป็นรากฝอย มีขนาดเล็ก บางและสั้น ทำหน้าที่ดูดอาหารในระยะแรกเรียกว่า filiform roots’ เมื่อหัวใหม่เกิดซ้อนบนหัวเก่า รากที่เกิดจากหัวใหม่มีขนาดใหญ่กว่าและอวบน้ำ ทำหน้าที่ยึดลำต้นและหัวให้อยู่ในดิน ช่วยหาน้ำและแร่ธาตุเพื่อให้ต้นเติบโต เรียกว่า contractile roots ที่ปลายรากมีหัวย่อยติดอยู่

แต่ละหัวมีตาอยู่หลายตา ถ้าอยากได้ช่อใหญ่และมีคุณภาพดอกดี ให้ใช้มีดคมๆ คว้านตาข้างออกให้หมด หรือรอให้งอกเป็นหน่อเล็ก ๆ ก็หักทิ้งเหลือไว้แต่ตาใหญ่และแข็งแรงตรงกลางหัวไว้เพียงตาเดียว ถ้าปล่อยให้ตาข้างเจริญขึ้นเป็น 2-3 ต้นจะได้ช่อดอกหลายช่อด้วย แต่มีคุณภาพลดลงคือ ช่อดอกสั้นลงและมีจำนวนดอกในช่อน้อย

หัวขนาดใหญ่มีอาหารสะสมมากและเติบโตได้ดีทำให้ช่อดอกใหญ่และสมบูรณ์ แต่หัวขนาดใหญ่ควรมีอายุอย่างมากแค่ 2 ปีเพราะหัวที่มีอายุมากจะเสื่อมตัว การสังเกตให้ดูจากหัวใหญ่ที่แก่แล้วมัก

มีหัวแบนและรอยแผลจากการเอาหัวเก่าออกมีขนาดใหญ่ บางครั้งจะมีแผลกลวงตรงกลางหัวคือ ตายอดถูกทำลายไป ถ้าเอาไปปลูกตาข้างจะเจริญขึ้นแทน ดังนั้นหัวใหญ่ที่สุดไม่จำเป็นต้องดีที่สุด ให้เลือกหัวสดเต่ง มีอายุไม่เกิน 2 ปี ลักษณะไม่แบนนักและแผลจากการเอาหัวเก่าออกมีขนาดเล็กจะดีกว่า

หัวขนาดกลางจะให้ช่อดอกขนาดเล็กกว่าจากหัวขนาดใหญ่ จำนวนดอกอาจจะน้อยลงบ้าง เเละออกดอกช้ากว่า แต่หัวขนาดกลางมีราคาย่อมเยากว่า ถ้าไม่ได้ปลูกเพื่อประกวดการใช้หัว ขนาดกลางจะเสียต้นทุนน้อยกว่า ถ้าเลี้ยงดูอย่างดีก็จะได้ดอกที่มีคุณภาพดี

หัวขนาดเล็ก อาจใหั่ช่อดอกที่มีขนาดเล็กมากไม่ได้มาตรฐานแต่จะได้หัวใหญ่เกิดซ้อนบนหัวเก่าเก็บไว้ปลูกต่อไปจึงจะให้ดอกมีคุณภาพดี สำหรับหัวย่อยมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหัวใหญ่ เหมาะ สำหรับปลูกเอาหัวใหญ่ แม้จะใช้เวลาแต่เสียต้นทุนต่ำ แต่หัวย่อยที่มีขนาดเล็กมากมักงอกน้อยและงอกไม่สม่ำเสมอ

การเลือกซื้อหัวขนาดใดจึงขึ้นกับจุดประสงค์ เงินทุนและระยะเวลาการรอดูดอกคือ หัวใหญ่เหมาะสำหรับปลูกเพื่อส่งประกวด หัวขนาดกลางเหมาะสำหรับปลูกเพื่อตัดดอกจำหน่าย และหัวขนาดเล็กกับหัวย่อยเอาไว้ปลูกเพื่อทำพันธุ์เตี้ยใช้ต้นทุนต่ำ

วิธีการปลูกและเลี้ยงดู

ดิน แกลดิโอลัสชอบดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายยิ่งดี ควรขุดดินลึก 2 หน้าจอบ ตากแดดไว้แล้วใส่อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วหรือเศษใบไม้ผุคลุกกับดินแล้วย่อยดินให้ละเอียด

อุณหภูมิและแสงแดด แกลดิโอลัสที่ปลูกในสภาพอากาศเย็นและมีแสงแดดเต็มที่จะให้ช่อดอกยาว มีจำนวนดอกในช่อมากและมีสีเข้มสวยกว่าเมื่อปลูกในสภาพอากาศร้อน ถ้าไม่ได้แดดเต็มที่ ก้านจะคด ช่อดอกสั้นและได้หัวที่ไม่แข็งแรง ถ้าอุณหภูมิสูงหรืออากาศร้อนดอกจะบานเร็วและเหี่ยวง่าย มีเพลี้ยไฟรบกวนด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกแกลดิโอลัสคือ อุณหภูมิกลางวันประมาณ 20-25°ซ และอุณหภูมิกลางคืนประมาณ 10-15°ซ

ความลึกในการปลูกหัว มีคำแนะนำให้ปลูกลึก 4 เท่าของความหนาของหัว ถ้าเป็นดินเหนียวควรปลูกลึก 3-4 นิ้ว และถ้าเป็นดินทรายควรปลูกลึก 4-6 นิ้ว ถ้าเป็นหัวย่อยปลูกลึก 2 นิ้วก็พอ แกลดิโอลัสต้องการความชื้นในดินสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงความลึก 6-8 นิ้ว รากของแกลดิโอลัส หยั่งลงในดินได้ลึกไม่เกิน 8-10 นิ้ว

ระยะปลูก ถ้าเป็นพันธุ์ที่ดอกใหญ่มาก ปลูกห่าง   9 นิ้ว

ดอกขนาดกลาง                 ปลูกห่าง 7-8 นิ้ว

ดอกเล็ก                            ปลูกห่าง 5-6 นิ้ว

การให้ปุ๋ย

เนื่องจากหัวแกลดิโอลัสมีอาหารสะสมไว้พอเพียงที่จะเติบโตใน 2-3 อาทิตย์แรก จึงควรให้ปุ๋ยครั้งแรกหลังจากต้นมีใบได้ 3-4 ใบโดยให้แคลเซียมไนเตรต 2-3 กก.ต่อพื้นที่ 100 ตรม. ต่อมาให้ปุ๋ย NPK เพื่อเร่งดอกเช่นสูตร 15-15-15 ต้นละประมาณหนึ่งช้อนชา อาทิตย์ละครั้ง

เมื่อตัดดอกแล้วถ้าต้องการเก็บหัวควรให้ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง เพื่อช่วยในการสร้างหัว เช่น สูตร 13-13-21 ต้นละหนึ่งช้อนชา อาทิตย์ละครั้ง

การกะเวลาในการให้ปุ๋ยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่อดอกและหัวใหม่เริ่มพัฒนาเมื่อต้นงอกได้ 3- 4 อาทิตย์ จึงต้องให้ปุ๋ยก่อนเริ่มมีดอกและมีหัวใหม่

การให้น้ำ

แกลดิโอลัสต้องการความชื้นในดินสม่ำเสมอ แต่ดินต้องระบายนํ้าดีด้วย ดินที่ปลูกควรชื้นอยู่เสมอแต่ไม่ใช่แฉะ เมื่อปลูกแล้วควรให้นํ้าให้ชุ่มและรักษาดินให้ชื้นไว้จนกว่าจะงอก ระยะที่ขาดนํ้าไม่ได้เลยคือระยะที่ต้นมีใบที่ 3 ถึงใบที่ 7 เพราะเป็นช่วงที่ช่อดอกกำลังพัฒนาอยู่ในกาบใบ หลังจากต้นมีใบที่ 7 ช่อดอกจะโผล่พ้นกาบใบ การให้นํ้าสม่ำเสมอตั้งแต่ปลูกจนออกดอกจะทำให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดี ถ้า อากาศร้อนและแห้งจำเป็นต้องให้น้ำบ่อย ๆ ถ้าขาดนํ้าก้านดอกจะสั้น จำนวนดอกในช่อจะลดลง

เวลารดนํ้า รดนํ้าให้ชุ่มลึกลงไปประมาณ 6-8 นิ้ว แล้วให้มากขึ้นและสม่ำเสมอเมื่อเริ่มตั้งช่อดอกจนถึงวันตัดดอก

การค้ำต้น

ระบบรากของแกลดิโอลัสค่อนข้างตื้น แต่ต้นสูงและมีก้านดอกยาวผิดกับพืชอื่น คือรากจะหยั่งลงในดินลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ถ้าปลูกในที่มีลมแรงควรคํ้าต้นและช่อดอกไว้ ถ้าปลูกเป็นจำนวนน้อยต้นอาจใช้ไม้คํ้ารอไว้ตั้งแต่ยังไม่ตั้งช่อดอก เมื่อช่อดอกยืดขึ้นจึงใช้เชือกผูกเป็นเปลาะสัก 1 – 2 เปลาะไล่ขึ้นไปตามความยาวของช่อดอก หรือถ้าปลูกเป็นแปลงเพื่อตัดดอก อาจใช้ตาข่ายทำด้วยเชือกไนลอน สานเป็นตารางขนาด 5 X 5 นิ้ว สัก 2 ชั้นช่วยประคองช่อดอกให้ตั้งตรงได้จะทำให้ก้านดอกตรงและมีคุณภาพดี

การตัดดอก

แกลดิโอลัสใช้เวลาจากเริ่มงอกจนถึงออกดอกเป็นเวลา 60-105 วันแล้วแต่ฤดูกาลที่ปลูก ถ้าอากาศเย็นจะให้ดอกช้ากว่าเมื่อปลูกในฤดูร้อน ถ้าจะตัดดอกเพื่อปักแจกันควรตัดเมื่อหนึ่งหรือสองดอกล่างเริ่มแย้ม ถ้าจะตัดเพื่อส่งไปจำหน่ายควรตัดเมื่อดอกล่างเริ่มเห็นสี ดอกจะทยอยบาน จากดอกล่างสุดขึ้นมา การตัดดอกให้ใช้มีดหรือกรรไกรที่คมมากแทรกลงไปในซอกใบและตัดก้านดอกให้ยาวตามต้องการ ถ้าจะเก็บหัวด้วยควรเหลือใบติดไว้กับต้นอย่างน้อย 4 ใบเพื่อให้ช่วยปรุงอาหาร เก็บสะสมไว้ที่หัว ถ้าเหลือใบไว้น้อยขนาดหัวจะเล็กลง ผู้ผลิตดอกในประเทศในยุโรปไม่นิยมเก็บหัวไว้ใช้ มักตัดหัวติดโคนก้านดอกมาด้วยเพื่อเป็นที่ให้อาหารแก่ช่อดอก

เมื่อตัดดอกแล้วควรวางช่อดอกในแนวตั้งโดยตลอดจากมือผู้ปลูกจนถึงมือผู้ใช้ดอกแกลดิโอลัส ถ้าวางตามแนวนอนปลายช่อจะโค้งขึ้นและไม่คืน ในอเมริกา ประเทศในยุโรปและอิสราเอลจะแช่โคนก้านดอกลงในนํ้าทันทีหลังจากตัดดอกแล้วนำมาเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิเย็น 6-10° ซ ก่อนนำไปคัดขนาดดอก

การคัดขนาดดอก

พิจารณาตามความยาวของช่อดอกและจำนวนดอกย่อยในช่อที่จะสามารถบานได้ โครงการ­หลวงมีมาตรฐานการคัดขนาดดอกดังนี้

เกรด      ความยาวก้าน (ซม.)         จำนวนดอกที่จะบานได้

A                      100                                          12

B                         80                                         8-10

C                         60                                         6

เมื่อคัดขนาดแล้ว จะมัดเป็นกำ กำละ 10, 12 หรือ 15 ช่อ แล้วห่อด้วยกระดาษแล้วบรรจุกล่อง

การขุดหัวขึ้น

หลังจากตัดดอกแล้ว 4-6 อาทิตย์ หัวใหม่จะเติบโตบนหัวเก่า ให้ลองขุดขึ้นมาแล้วลองบีบหัวย่อยดู ถ้าหัวย่อยยังเละมีนํ้าขาวๆ คล้ายนํ้านมแสดงว่าหัวยังไม่แก่ ถ้าหัวย่อยมีเนื้อแข็งและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก็ใช้ได้ การขุดหัวต้องขุดในช่วงที่ไม่มีฝนเพื่อหลีกเลี่ยงโรคและมีโอกาสผึ่งหัวก่อนทำความสะอาด แยกหัวและนำไปเก็บรักษา

การขุดหัวต้องระมัดระวังมิให้หัวเป็นแผล ขุดต้นและหัวขึ้น แล้วพยายามเก็บหัวย่อยทั้งหมดที่มีเพื่อกันไม่ให้ตกค้างอยู่ในดินและจะงอกปะปนกับหัวที่ปลูกใหมในฤดูต่อไป หลังจากขุดขึ้นแล้ว ให้ตัดต้นและใบออกเหลือโคนต้นไว้ประมาณ 1-2 นิ้ว ใช้นํ้าจากสายยางฉีดล้างดินจากหัวให้หมด แล้วนำไปคลุกยาหรือจุ่มหัวลงในสารละลายยากันราแล้วผึ่งไว้ไม่ควรตากแดดโดยตรง

การผึ่งหัวให้แห้ง

ผึ่งหัวไว้ไนที่มีอุณหภูมิ 30°ซ และมีความชื้นสัมพัทธ์ 80-90% อุณหภูมิ 30°ซ จะลดความชื้นในหัวได้เร็วกว่าอุณหภูมิที่ต่ำกว่านี้ ถ้าใช้อุณหภูมิสูงกว่า 30°ซ หรืออากาศแห้งกว่าที่กล่าวแล้ว บริเวณข้างนอกหัวจะแห้งเร็วมาก หัวอาจปริหรือแตก

ผึ่งหัวไว้ปร ะมาณ 1-2 อาทิตย์แล้วลองแกะหัวเก่าออกจากหัวใหม่ ถ้ารู้สึกว่าหลุดจากกันง่ายก็แยกหัวเก่าทิ้งไป เก็บหัวใหม่ทับหัวย่อยไว้ทีละพันธ์พร้อมตั้งติดป้ายชื่อพันธุ์ไว้ใส่ตะแกรงโปร่งๆ หรือถุงกระดาษสีนํ้าตาลหรือกระสอบป่านนำไปเก็บไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิ 2-10° ซ ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ในห้องเย็นควรมีการถ่ายเทอากาศดีเพื่อกันการสะสมของก๊าซเอทธีลีนที่เกิดขึ้น

การคัดขนาดหัว (corn)


การคัดขนาดหัวย่อย (cormel)

เบอร์ 1      10 มม.

เบอร์ 2      7 มม.

เบอร์ 3      3 มม.

บางพันธุ์มีหัวย่อยเป็นจำนวนน้อย บางพันธุ์มีมากกว่าร้อยหัว ขนาดของหัวย่อยมีตั้งแต่เล็กกว่า 3 มม.ขึ้นไปจนถึงมากกว่า 1 ซม. หัวย่อยขนาดใหญ่กว่า 1 ซม.ขึ้นไปจะสามารถให้ช่อดอก แต่จำนวนดอกในช่อจะน้อย ให้ดอกขนาดเล็กลงด้วยและก้านสั้นกว่าด้วย

จุดประสงค์ของการเก็บหัวในห้องเย็น

การเก็บหัวไว้ในห้องเย็นจะทำลายการพักตัวของหัวพันธุ์ทำให้สามารถงอกได้สม่ำเสมอขึ้น ควรวางหัวพันธุ์ในวัสดุที่อากาศผ่านได้ อย่าเก็บหัวในภาชนะทึบที่มีขนาดใหญ่และลึก เพราะจะไม่มีลมผ่าน ถ้าหัวพ้นระยะพักตัวแล้วยังไม่เอาออกจากห้องเย็น อุณหภูมิต่ำจะช่วยทำให้หัวพักตัวอยู่ไม่งอกทันที

หัวขนาดใหญ่และหัวขนาดกลาง ควรเก็บไว้ในห้องเย็น 1-2 เดือน หัวขนาดเล็กและหัวย่อยควรเก็บไว้นาน 2-3 เดือนแล้วแต่พันธุ์ ถ้าต้องการปลูกให้นำออกมาไว้ในอุณหภูมิห้องสัก 1-2 อาทิตย์ หัวจะพ้นระยะพักตัว เห็นตุ่มรากสีขาวที่ด้านล่างของหัวชัดเจน ให้นำไปปลูกได้ บางครั้งตาจะเจริญขึ้นเป็นหน่อเล็ก ๆ ให้รีบปลูกอย่างระมัดระวังอย่าให้หน่อหัก

สำหรับหัวย่อยก็เช่นเดียวกัน ควรแกะเปลือกนอกออกดูถ้าเห็นปมรากก็นำไปปลูกได้ ถ้าต้องการให้งอกสม่ำเสมอควรแช่นํ้า 1 คืนแล้วนำมากองไว้บนกระสอบชื้น ๆ ปิดทับด้วยกระสอบอีกชั้นหนึ่ง ตั้งไว้กลางแดด รดนํ้าให้ชื้นอยู่โดยตลอดจะช่วยให้งอกได้เร็วและสม่ำเสมอ

การปลูกโดยใช้หัวย่อย

หัวย่อยที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ซม.จะงอกเป็นต้นและใบแต่ไม่ให้ดอก อาจเป็นเพราะไม่มีอาหารในลำด้นเพียงพอจึงเติบโต แต่ทางต้นและใบและได้หัวใหญ่เกิดขึ้นบนหัวเดิมเท่านั้น

หัวที่มีฃนาด 1-1.5 ซม. สามารถให้ช่อดอกได้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่อดอกที่ได้จากหัวใหญ่ ขนาดดอกจะเล็กกว่าความยาวช่อสั้นกว่า จำนวนดอกในช่อก็น้อยกว่า ใช้ประดับตามบ้านเรือนได้ แต่ไม่ได้มาตรฐาน ในการปลูกเป็นการค้าจะแนะนำให้ตัดช่อดอกทิ้งเพื่อมิให้เปลืองอาหารไปเลี้ยงช่อดอก ให้เก็บสะสมไว้ในหัวเพียงอย่างเดียว

1. โรคต้นเน่าจากเชื้อราฟิวซาเรียม อาการคือ ตรงโคนต้นเป็นแผลสีนํ้าตาล แต่ใบยังเขียวอยู่ ถ้าถอนต้นขึ้นมาจะขาดตรงโคนต้น เมื่อขุดดูจะเห็นหัวเป็นราสีขาวฟู

2. โรคหัวเน่าจากเชื้อฟิวซาเรียม ทำให้ต้นแกร็น ต้นอาจจะตายไปก่อนการเก็บเกี่ยว ถ้าขุดดูจะเห็นจุดช้ำนํ้าแล้วขยายลุกลามเป็นวงกลมขนาด 1-2 ซม.แล้วเชื่อมติดกันเป็นแผลใหญ่

3. โรคใบจุดเกิดจากเชื้อโบทรัยทิส อาการมีจุดกลมสีนํ้าตาล ขอบแผลสีเหลืองขยายใหญ่ เป็นแผลรูปไข่ บางแผลมีขนาดใหญ่จนทำให้เกิดอาการใบแห้ง แผลนี้จะเกิดที่ก้านช่อและลำต้นด้วยทำให้ต้นโทรม ช่อดอกสั้นและเล็กลง ดอกไม่ยอมบาน

แมลง

เพลี้ยไฟ

อาการคือ ใบมีจุดสีขาวเงินกระจายอยู่ทั่วไป ถ้าทำลายดอกจะเห็นเป็นขีดด่างและบานไม่เต็มที่ ใช้ Temic 300 กรัมต่อ พ.ท. 100 ตารางเมตรฝังและกลบในดิน

ไวรัส

อาการคือ ใบด่าง ดอกด่าง บางดอกไม่ยอมบาน ดอกที่บานแล้วเหี่ยวเร็ว บางพันธุ์มีติ่งที่ดอก ถ้าติดเชื้อรุนแรงต้นจะตายก่อนออกดอก

ความเสียหายจากไวรัสคือ ผลผลิตของดอก หัว และหัวย่อยลดลง เมื่อนำหัวที่ติดเชื้อไปปลูกจะอ่อนแอต่อเชื้อรา

ถ้าแกลดิโอลัสติดเชื้อไวรัสไม่มีทางรักษาได้ ทางที่ดีคือ ใช้หัวจากต้นแม่ที่ไม่เป็นโรคนี้และป้องกันแมลงพาหะคือเพลี้ยอ่อน

AAGS

AAGS ย่อมาจาก All American Gladiolus Selection ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1954 เพื่อคัดเลือกพันธุ์แกลดิโอลัสที่มีลักษณะดีและสามารถปลูกได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ ใน 22 รัฐตั้งแต่ตอนเหนือจดตอนใต้และตะวันตกจดตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเนื้อที่กว้างใหญ่มาก ผู้ที่ส่งแกลดิโอลัสเข้าประกวดจะใช้ชื่อเป็นรหัส คณะกรรมการจะนำไปปลูกในแปลงทดลองของรัฐต่างๆ แต่ละพันธุ์จะถูกพิจารณาคุณสมบัติมากถึง 40 ข้อ ในแง่ความแข็งแรง ความสวยงามและความทนทานต่อโรคและแมลง การตัดสินมีเป็นประจำทุกปี พันธุ์ที่ดีที่สุดจะได้รับรางวัล AAGS

การให้รางวัล AAGS ครั้งแรก มีในปี 1956 ขณะนี้มีแกลดิโอลัสที่ได้รับรางวัลนี้แล้วมากกว่าร้อยพันธุ์ โครงการนี้สนับสนุนงานผสมพันธุ์แกลดิโอลัสของผู้ปลูกสมัครเล่นด้วย พันธุ์ใดที่ได้รับรางวัล AAGS จะสามารถเพิ่มจำนวนออกจำหน่ายได้เต็มที่โดยไม่คำนึงว่าเจ้าของพันธุ์เป็นผู้ปลูกคนหนึ่งไม่ใช่บริษัทใหญ่

พันธุ์ที่ได้รับรางวัล AAGS ต้องมีรูปทรงสวย สีสวยและได้ขนาดตามชนิดของแกลดิโอลัส เช่นกลุ่มดอกเล็ก Miniature ที่ได้รับรางวัลได้แก่พันธุ์ Funny Face, Majorette, Little Sweetheart และ Rudolph เป็นต้น กลุ่มดอกใหญ่ (Large flowered) ได้แก่ Valentine, The Queen, Startler และ Highstyle เป็นต้น พวกนี้ปลูกเพื่อตัดดอกหรือปลูกประดับสวน

กลุ่มสีแปลกๆ (Novelty colors) ได้แก่ Red Freckles, Green Isle และ Navy Blue พันธุ์ต้นใหญ่และสูงที่สุดคือ 7 ฟุต ชื่อ Big Daddy และพันธุ์ต้นเล็กที่สุดคือ 2 ฟุตชื่อ Tom Thumb

การให้คะแนนช่อดอกพิจารณาจาก

1. สีสดใสและเป็นเนื้อเดียวตลอด มีสีเฉพาะของแต่ละพันธุ์

2. รูปทรง คิดทั้งดอกย่อยและการเรียงบนช่อดอก

-ขนาดและการเรียงของดอกย่อยบนก้าน

-ระยะจากดอกล่างถึงดินควรเป็น 60℅ ของความยาวของช่อดอกและก้าน

-ดอกเรียงกันได้จังหวะไม่ห่างหรือชิดกันเกินไป

3. เนื้อกลีบหนา ถ้าบางจะทำให้ดอกเหี่ยวเร็ว

4. กลีบเลี้ยงรองดอกต้องแข็งแรงพอควร ถ้าอ่อนบางจะทำให้ดอกโค้งลง

GLADIOLUS All American Gladiolus selection (AAGS)


คำอธิบายรหัสหลังชื่อพันธุ์

รหัสของการจำแนกขนาดดอก รหัสตัวเลขแรกแสดงชนิดของดอกว่าเป็นดอกขนาดใดดังนี้

ดอกจิ๋ว (Miniature)                  1  คือพวกดอกย่อยมีขนาดเล็กกว่า 2 ½ นิ้ว

ดอกเล็ก (Small)                       2  คือพวกดอกย่อยมีขนาด 2 ½ นิ้ว ขึ้นไปแต่เล็กกว่า 2 ½ นิ้ว

ดอกขนาดกลาง (Medium)        3  คือพวกดอกย่อยมีขนาด 3 ½ นิ้วขึ้นไปแต่เล็กกว่า 5 ½ นิ้ว

ดอกขนาดใหญ่ (Large)            4  คือพวกดอกย่อยมีขนาด 4 ½ นิ้วขึ้นไปแต่เล็กกว่า 5 ½ นิ้ว

ดอกใหญ่มาก (Giant)               5  คือพวกดอกย่อยมีขนาด 5 ½ นิ้วขึ้นไป

ตัวอย่างเช่นพันธุ์ Funny Face (AAGS ปี 1982) มีรหัสว่า 256 แสดงว่าเป็นแกลดิโอลัส ชนิดดอกเล็กเพราะตัวเลขแรก 2 ใน 256 บอกชนิดว่าเป็นชนิด small เลข 56 สองตัวหลังบอกว่ามีสีแดงเข้ม (ดูตารางประกอบด้วย)

พันธุ์ Apollo (AAGS 1970) มีรหัส 333 แสดงว่าเป็นชนิดดอกขนาดกลาง สีส้มอมชมพู

(salmon)

พันธุ์ May Day (AAGS 1991) มีรหัส 444 แสดงว่าเป็นชนิดดอกใหญ่ ดอกสีชมพูกลาง ๆ ไม่อ่อนไม่เข้ม

————————————————————————————

ที่มา : North American Gladiolus Council bulletin no.182 Summer 1990 รายชื่อบริษัทที่ส่งหัวพันธุ์แกลดิโอลัสจำหน่ายให้ต่างประเทศ ผู้สั่งซื้อควรเขียนจดหมายไปขอแคตตาล็อกประมาณสิ้นปีจนถึงช่วงปีใหม่ บริษัทเหล่านี้จะส่งหัวออกจำหน่ายตั้งแต่เดือนมีนาคม- พฤษภาคม บางบริษัทก็มีหัวพันธุ์จำหน่ายตลอดปี

แคนาดา

1. Leonard W. Butt

Huttonville, ONTARIO,

Canada LOJ.lBO

อเมริกา

2. Stan Skolaski

Flad’s Glads

2109 Cliff Court, Madison

Wisconsin 53713

3. Carl Fischer

Noweta Gardens

900 Whitewater Avenue

St.Charles, Minnesota 55972

4. Edward L. Squires

Squires Bulb Farm

3419 Eccles Avenue

Ogden, Utah 84403

5. Alex Summerville

Rt.l Box 449

Glassboro, NJ 08028

6. Henry W. Turk

Turk bulb Farms

P.O. Box 694, Grants Pass

Oregon 97526

ออสเตรเลีย

1. Rowse Bros. Pty. Ltd

“Ellinbank Gardens” Hunters Rd.

R.M.B.2420, Warragul, Victoria 3820

อังกฤษ

1. Jacques Amand Ltd

Clamp Hill, Stanmore

Middlesex HA7 3JS

2. Lindgarden

Holbeach, UK

Fax 44 406 370115

ฮอลแลนด์

1. Johan Meyles

Geerlins Bergamo B.V.

Holland

Fax 31 2522 16039

2. Walter Blom & Zoon B.V.

Hyacinthenlaan 2

218 De Hillegom, Holland