แฝกหอมมีประโยชน์อย่างไร


ชื่อวิทยาศาสตร์ Vetiveria zizanioides Nash
Syn.    Andropogon zizanioides Urban : A. muricatus Retz.
ชื่ออื่นๆ แกงหอม แคมหอม (ตะวันออกเฉียงเหนือ) แฝก (ทั่วไป) หญ้าแฝกหอม (ภาคกลาง นครราชสีมา) ตะไคร้จีน (อีสาน)
ชื่ออังกฤษ Vetiver
ลักษณะ แฝกเป็นวัชพืชชอบขึ้นตามคันนาหรือตามริมฝั่งแม่นํ้า จะช่วยป้องกันตลิ่งพัง เนื่องจากถูกนํ้าเซาะ ลักษณะเป็นต้นหญ้าที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ ลำต้นตรงแบน สูง 1-2 เมตร เป็นข้อมีปล้องเห็นชัด มีรากชนิดรากฝอยเล็กๆ สีนวล แข็ง เหนียวและยาวมาก ยาว 1.5-3 เมตร และมีรากย่อย แตกออกสานกันเป็นตาข่าย ออกเป็นกระจุกใหญ่ มีกลิ่นหอม ใบเดี่ยวจัดเป็นสองแถว ใบกว้างประมาณ 1 ซ.ม. ยาวประมาณ 1 เมตร ใบงอเข้าพับเป็นสามเหลี่ยมท้องใบสีเงิน หลังใบสีเขียวเป็นมันขอบใบแกนกลางใบมีหยักเล็กๆ แข็งคมใช้มือรูดจากปลายใบไปโคนจะบาดมือ ดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ออกที่ปลายยอดและชูสูงขึ้นไปประมาณ 20 ซ.ม. แตกช่อดอกย่อย ดอกมีสีม่วงหรือ สีเขียวอ่อน
ส่วนที่ใช้ ใบ ราก ทั้งต้น
สารสำคัญ รากมีนํ้ามันหอมระเหยเรียก vetiver oil ประกอบด้วย vetivenes, vetivenol, vetivenic acid, vetivenyl acetate และอื่นๆ

ประโยชน์ทางยา ใช้รากต้มนํ้าอาบทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น
ใช้รับประทานช่วยละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รากเป็นยาเย็น แก้อาการกระหายนํ้า และทำให้ธาตุปกติ ยาชงของรากแก้ไข้ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ
ประโยชน์อื่นๆ ในฟิลิปปินส์ปลูกต้นแฝกนี้ไว้ช่วยป้องกันตลิ่งพังเนื่องจากถูกนํ้าเซาะ
ใบ ใช้มุงกันแดด หรือทำเป็นผ้าใบกันแดด โดยเย็บเป็นตับ เช่น ตับจาก
ก้านช่อดอกใช้ทอเสื่อ และทำไม้กวาด
ราก – ใช้ทำพัดที่มีกลิ่นหอม มีชื่อเรียก “sandal – root fan”
-ใช้อบเสื้อผ้าให้หอม
-ใช้ทอเสื่อพิเศษที่มีกลิ่นหอม ทำเป็นเครื่องแขวนเมื่อลมพัดจะมีกลิ่นหอม
-ใช้ทำบุหงา
-ทำไม้แขวนเสื้อ ที่มีกลิ่นหอม
-ใช้สกัดทำนํ้ามันหอมระเหย
Vetiver oil ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง สบู่ และนํ้าหอม ในฝรั่งเศสมีบริษัทผลิตนํ้ามันนี้
ใช้แต่งกลิ่นเครื่องดื่มที่มีนํ้าผลไม้
ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ พระองค์ทรงสนพระทัยต้นแฝกหอมนี้มาก ทรงมีพระราชดำริว่าต้นแฝกน่าจะเป็นพืชที่สามารถช่วยป้องกันการสูญเสียหน้าดินและป้องกันดินทลายได้ เนื่องจากแฝกมีรากเส้นเล็กๆ และยาวเป็นจำนวนมากจะช่วยยึดหน้าดินไว้ ทั้งยังช่วยอุ้มน้ำและดูดสิ่งต่างๆ ที่ไหลมากับนํ้าไว้ได้ด้วย จะช่วยทำให้หน้าดินอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเป็นพืชที่โตเร็ว พระองค์จึงทรงรับสั่งให้ทำการทดลองปลูกต้นแฝกหอมนี้ไว้ในหลายๆ พื้นที่ เพื่อดูผลว่าแฝกจะช่วยลดการสูญเสียหน้าดินได้มากน้อยแค่ไหน ปรากฎว่าต้นแฝกที่ได้ทำการทดลองปลูกในที่ต่างๆ นั้น รากสามารถดูดนํ้าและดูดสารต่างๆ เก็บกักไว้ได้จึงช่วยปรับสภาพดินที่เสื่อมโทรมให้ดีขึ้น ช่วยป้องกันการสูญเสียหน้าดินและป้องกันดินพังทลาย เป็นการอนุรักษ์ดินและนํ้า และทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
ที่มา:ศาสตราจารย์พเยาว์  เหมือนวงษ์ญาติ