แมลงวันผลไม้และการป้องกันกำจัด

แมลงวันผลไม้

แมลงวันผลไม้และการป้องกันกำจัด

ชาคริต  จุลกะเสวี

สำหรับเรื่องการปราบแมลงวันผลไม้หรือแมลงวันทองศัตรูของผลไม้ตัวฉกาจนั้น นับว่ามีวิธีป้องกันและกำจัดได้หลายวิธี เช่น อาจใช้วิธีทำบริเวณสวนให้สะอาด อย่างให้รกรุงรังเป็นที่วางไข่ของเจ้าแมลงวันผลไม้นั้นได้เป็นประการแรก หรือทำได้โดยการใช้สาร เมธิลยูจินอล เอาสารกลิ่นหอมพิเศษที่แมลงวันทองเฉพาะตัวผู้มันไปดมพอแมลงวันทอง มันมาตอมสารพิษที่มีกลิ่นหอมพิเศษนี้เข้า ก็เป็นอันเสร็จสิ้นตามแผนการปราบปรามมันได้อีกวิธีหนึ่ง หรืออีกวิธีหนึ่ง ทำได้โดยการใช้ดอกเดหลีใบกล้วยปลูกล่อแมลงพวกนี้ก็ยังได้ พอว่านเดหลีใบกล้วยมันออกดอกที่เกสรของมันยังมีกลิ่นหอมคล้ายสารเมธิลยูจินอล นั้นแหละ กลิ่นหอมชวนให้แมลงวันทองตัวผู้ซึ่งหลงไหลกลิ่นนี้เป็นพิเศษที่เกสรดอกเดหลีใบกล้วยนั้น เราเอาสารพิษที่ใช้ปราบแมลงหยดเข้าไว้ด้วย ก็จะทำให้แมลงวันทองที่บินมาดูดสารพิษนี้ถึงแก่ความตายได้ง่ายมาก

เพราะในช่วงของการ ที่จะเร่งรัดพัฒนาการส่งผลไม้ไทยเราออกไปขายต่างประเทศให้มาก ๆ ขึ้นได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งหาทางป้องกัน และกำจัดทั้งโรคและแมลงมิให้เข้าทำลายผลไม้ของเราได้ จึงจะดำเนินการค้าส่งออกได้เป็นผลสำเร็จ คือมีผลไม้ที่มีคุณภาพ ส่งออกไปขายได้ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ประเภทมะม่วง พุทรา เงาะ ฝรั่ง ส้ม มะละกอ กระท้อน ลำไย หรือลิ้นจี่ หรืออะไรก็ตาม ผลไม้ทั้งหลายเหล่านี้ ก็มีศัตรูสำคัญร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งนั้นก็คือ “แมลงวันผลไม้” นั่นเอง

เมื่อพูดถึงชื่อ “แมลงวันผลไม้” หรือเจ้า “แมลงวันทอง” นี้แล้วก็ดูเหมือนว่าจะเป็นที่เกรงกลัวของพี่น้องชาวสวนผลไม้โดยทั่วไปอยู่ไม่น้อยเลย  จะมียกเว้นบ้างก็แต่พวกผลไม้ที่มีเปลือกหนา แข็ง หรือมียางอย่างเช่น ทุเรียนกับมังคุด ซึ่งดูเหมือนจะไม่สะทกสะท้านหวั่นเกรงเจ้าแมลงวันทองนี้เลย เพราะแมลงวันผลไม้นี้ ไม่สามารถจะเจาะกล้ำกลายให้เกิดความเสียหายขึ้นได้

แต่สำหรับชาวสวนส้ม สวนฝรั่งหรือสวนมะม่วง ซึ่งเคยได้รับความเสียหายกันมาแล้ว รวมทั้งชาวสวนส้มโอ ส้มเขียวหวาน ชมพู่ เงาะ กระท้อน พุทรา ลำไย และแม้แต่กล้วยเหล่านี้ ต่างก็ได้จัดให้เจ้าแมลงวันผลไม้นี้เป็นศัตรูที่สำคัญของเขาอย่างหนึ่งทีเดียว

แมลงวันทอง หรือแมลงวันผลไม้ (Oriental fruitfly) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “ดาคัส ดอซาลิส” (Dacusdosalis) จัดว่าเป็นศัตรูที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของการผลิตผลไม้เมืองไทยเรา และเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่ง ในการส่งผลไม้ของเราออกสู่ตลาดต่างประเทศด้วย

เนื่องจากประเทศผู้สั่งซื้อผลไม้จากเมืองไทยเรา ได้ถือเอาเรื่องแมลงวันทองหรือแมลงวันผลไม้นี้ มาเป็นข้ออ้างอุปสรรคที่สำคัญยิ่ง ในการไม่ยอมรับผลไม้ของเราเข้าไปจำหน่ายประเทศของเขา ดังนั้นจึงควรสนใจช่วยกันแก้ไข ในเรื่องนี้ให้ดีด้วยเป็นพิเศษ

การเข้าทำลายของแมลงวัยผลไม้ศัตรูตัวร้ายนี้ เกิดจากแมลงวันผลไม้ตัวเมียมาวางไข่ที่ผิวหรือในเนื้อผลไม้  โดยใช้อวัยวะวางไข่ที่เป็นปลายแหลม อยู่บริเวณก้นของมันแทงทะลุเปลือกเข้าไปในเนื้อผลไม้ แล้วก็ปล่อยไข่ของมันลงไปฝังไว้ในเนื้อผลไม้นั้นด้วย แมลงวันผลไม้ตัวเมียนี้ จะมาวางไข่ได้ในขณะที่ผลยังอ่อนอยู่ และในระยะจวนจะสุกแก่แล้วด้วย และเมื่อไข่ฟักตัวเป็นหนอนก็เกือบจะพอดีหรือพอดีกับระยะที่ผลไม้นั้นสุก เนื้อนิ่มพอดีตัวหนอนซึ่งฟักออกมาแล้ว ก็จะเริ่มกัดกินอยู่ภายในผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณรอบ ๆของขั้วผล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลร่วงหล่นเสียหายเป็นที่น่าเสียดายมาก

ฉะนั้น เราจึงควรหาทางป้องกันและกำจัดแมลงวันผลไม้ตัวแสบนี้ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเวลาที่ผลไม้ที่เราปลูกไว้ใกล้จะสุก จะได้ไม่มีเจ้าแมลงวันผลไม้มารบกวน

ก่อนที่เราจะหาทางป้องกันกำจัดเจ้าแมลงวันผลไม้นี้เราก็ควรจะมาหาความรู้เกี่ยวกับแมลงวันผลไม้นี้ไว้สักนิดก่อน

ลักษณะของแมลงวันผลไม้นี้ตัวเต็มวัยหรือตัวแก่ จะมีลักษณะคล้ายกับแมลงวันบ้าน แต่มีขนาดเล็กกว่าแมลงวันบ้านเล็กน้อย ลำตัวของมันจะมีสีน้ำตาลแดง ช่วงอกมีลายสีเหลืองสดเป็นแห่ง ๆ ขามีสีเหลืองทอง ปีกใส จากลักษณะเหล่านี้เอง ชาวสวนจึงนิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “แมลงวันทอง”

แมลงวันผลไม้ตัวเมีย หลังจากที่ได้ทำการผสมพันธุ์แล้ว ก็จะเริ่มวางไข่โดยใช้อวัยวะสำหรับวางไข่ซึ่งอยู่ส่วนปลายของลำตัวแทงเข้าไปในเนื้อผลไม้ แมลงวันทองตัวเมียตัวหนึ่ง ๆ จะวางไข่ได้ถึงประมาณ 1,200 ฟอง

ไข่นั้นจะใช้เวลาประมาณ 30-36 ชั่วโมง ก็จะฟักออกมาเป็นตัวหนอน ตัวหนอนนี้มีลักษณะสีขาวนวล ตัวเป็นปล้อง ๆ ไม่มีขา หัวมีสีดำแหลม ท้ายตัด ยาวประมาณ 1 ซม. สามารถดีดตัวไปได้ไกล ๆ

หลังจากที่ตัวหนอนฟักออกจากไข่แล้วใช้เวลาเจริญเติบโตกินอยู่ภายในผลไม้นาน 5-6 วัน  โดยเฉพาะบริเวณขั้วผลจะทำให้ผลร่วงง่าย หลังจากนั้นตัวหนอนก็จะเข้าสู่ระยะที่เป็นดักแด้นี้จะใช้เวลา 8-12 วัน

เมื่อพ้นระยะดักแด้นี้แล้ว ก็จะกลายเป็นตัวเต็มวัย ก็คือ เป็นตัวแมลงวันทอง หรือแมลงผลไม้ปีกใส ลำตัวสีน้ำตาล-แดง พาดแถบสีทองสวยงาม บินไปมาได้คล่องแคล่ว

หลังจากที่ออกมาจากดักแด้ได้ 5 วัน แมลงวันผลไม้ก็จะเริ่มผสมพันธุ์กันและหลังจากทำการผสมพันธุ์กันได้ 4-7 วัน ตัวเมียก็จะเริ่มวางไข่ ในปีหนึ่ง ๆ นี้แมลงวันผลไม้สามารถจะมีเกิดได้ 11-12 รุ่น

ช่วงฤดูกาล ที่จะมีแมลงชนิดนี้มากที่สุด ก็คือในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี

ทีนี้ก็มาถึงการป้องกันและกำจัดแมลงวันผลไม้ตัวร้ายนี้บ้าง การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ อาจจะทำได้ด้วยกันหลายวิธีด้วยกัน สุดแต่จะเลือกปฏิบัติได้ตามสะดวกคือ

การป้องกันวิธีแรก  ขอแนะนำให้เก็บผลไม้ที่ถูกแมลงวันผลไม้เข้ากัดทำลาย  ซึ่งมีหล่นอยู่ตามโคนต้น หรือติดค้างอยู่บนต้นก็ควรจะรีบเก็บกวาด รวบรวมนำไปฝังดินเสียโดยด่วน อย่าปล่อยให้เกลื่อนกลาดเรี่ยราดอยู่ในสวน จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันผลไม้นี้ไปอีกได้

วิธีป้องกันวิธีที่สอง  แนะนำให้ใช้วิธีการห่อหุ้มผลไม้ให้ตั้งแต่ผลมันยังไม่แก่ ห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาลที่หนา และเหนียวพอสมควรอย่างเช่น กระดาษถุงปูนที่สะอาดก็ใช้ได้หรือบางทีก็อาจใช้ห่อด้วยพลาสติกใสก็ยังได้ ส่วนกระดาษหนังสือพิมพ์ใช้ห่อได้ไม่ค่อยดี และถ้าจะให้ดี ทางส่วนล่างของก้นถุงที่หุ้มห่อผลไม้นั้น ควรเจาะเป็นรูเล็ก ๆ ไว้ให้ระบายอากาศ และให้ไอน้ำที่อาจมีเกิดขึ้นระเหยออกไปจากห่อได้สะดวกด้วย  ผลไม้จะได้ไม่เปียกชื้นไม่เกิดเป็นเชื้อราได้ง่าย

การป้องกันวิธีที่สาม  เป็นการปราบปรามก็ขอแนะนำให้ใช้เหยื่อพิษล่อ กำจัดตัวแก่เต็มวัยของเจ้าแมลงวันทองนี้โดยตรงโดยการใช้ผลไม้ที่ถูกแมลงวันทองเจาะทำลายเน่าเสียแล้วนี้ มากองสุมไว้เป็นจุด ๆ แล้วใช้สารฆ่าแมลง เช่น พวกสารไบกอน จำนวน 20 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ผลไม้ที่กองล่อไว้นั้น  พอแมลงวันทองมาถูกสารนี้เข้ามันก็จะถึงแก่ความตายได้ไม่ยากเลย แต่วิธีนี้ควรทำติต่อกันไปหลาย ๆ ครั้งตลอดช่วงระยะที่มีแมลงนี้ระบาดอยู่

การป้องกันวิธีที่สี่  แนะไว้ว่า ในพื้นที่มีการระบาดของแมลงวันทองเป็นประจำให้ใช้ยาฆ่าแมลงพวกมาลาไธออน หรือพวกไดเมทโธ-เอท หรือยาอื่น ๆ ที่เหมาะสมก็ได้ เอาผสมฉีดพ่นให้ทุก 4-5 วันต่อครั้ง ในช่วงที่แมลงชุกชุมจะให้ผลได้ดีมาก

ส่วนวิธีที่ห้านั้น แนะนำให้ใช้กรงหรือกับดัก อย่างกรงเล็ก ๆ ที่ใช้สารเมทธิลยูจินอลผสมยาฆ่าแมลง เป็นสารล่อให้แมลงวันทองตัวผู้บินเข้ามาติดกรง ถูกยาก็จะตายไปได้โดยง่าย  ซึ่งชาวสวนปัจจุบันก็มีใช้วิธีนี้กันอยู่มาก การใช้กรงดักอย่างว่านี้มุ่งทำลายแต่เฉพาะแมลงตัวผู้เท่านั้น พอตัวผู้ตายไป แมลงตัวเมียไม่ได้รับการผสมพันธุ์ก็จะสูญสิ้นพันธุ์ ลดจำนวนลงได้ในที่สุด

แต่การใช้วิธีที่ห้านี้ ออกจะสิ้นเปลืองสารล่อซึ่งต้องซื้อหาในราคาแพง ๆ อยู่สักหน่อย และการดักก็ต้องวางกรงดักนี้บริเวณกึ่งกลางของทรงพุ่มไม้ผลนั้น และวางห่างกันประมาณ 10-20 เมตร ต่อกรงจึงจะดี

วิธีนี้ใน 1 ไร่ จะต้องใช้กรงดักล่อนี้ประมาณ 5-10 จุด และจะต้องทำการเติมสารล่อและฆ่าแมลงให้ด้วยสัก 3-4 อาทิตย์ สำหรับยาฆ่าแมลงที่ใช้ในกรงนี้ จะใช้สารพวกเฟนนิโตรไธออน หรือนาเลท หรือมาลาไธออน ก็แล้วแต่จะเลือกใช้เอา ได้ผลดีทั้งนั้น ซึ่งก็จะต้องสิ้นเปลืองค่าสารล่อและค่ายาปราบนี้มากโขอยู่ แต่ผลที่ได้รับก็จะคุ้มเกินค่า

การป้องกันปราบปรามวิธีที่หก  ขอแนะนำให้ใช้ยีสต์โปรตีนไฮโดรไลซิส 20 กรัม ผสมกับสารมาลาไธออนชนิด 83% ในอัตรา12 ซี.ซี. ผสมกับน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นไว้เป็นจุดๆ ไร่ละประมาณ 8 จุด ๆ ละประมาณ 100 ซี.ซี. ทุก ๆ 7 วันต่อครั้ง ก็จะได้ผลดีมากเช่นกัน

การป้องกันวิธีที่เจ็ด  คือการเอาตัวดักแด้ของแมลงวันทอง ไปฉายรังสีแกมม่าทำให้มันเป็นหมัน ไม่ผสมกันได้อีกต่อไปนั้น ซึ่งก็ไม่สู้จะง่ายนัก

ดังนั้น จึงได้มีการแนะนำให้ใช้วิธีที่แปด คือการใช้ดอกเดหลีใบกล้วยปลูกล่อแมลงตัวผู้เพื่อฉีดยาทำลายได้ง่ายเข้าด้วย

ซึ่งวิธีการเหล่านี้ ก็ยังต้องมีความยุ่งยากและสิ้นเปลืองเวลาอยู่ไม่น้อย

และที่สำคัญก็คือว่าในการใช้กลิ่นหรือเหยื่อล่อมาทำลายนั้น มันก็ยังอาจทำให้แมลงวันทองตัวเมีย ติดตามตัวผู้เข้ามาสู่บริเวณสวนผลไม้นั้นได้ง่ายขึ้นด้วยเหมือนกัน ตัวที่ได้รับการผสมพันธุ์ไว้ก่อนแล้ว จึงอาจมีโอกาสมาทำความเสียหายแก่ผลไม้ในสวนนั้น ได้เหมือนกัน

เพราะกลิ่นเมธิลยูจีนอล  หรือกลิ่นดอกเดหลีใบกล้วยที่ใช้ล่อนั้น มันไม่ได้มีผลล่อตัวเมียโดยตรง ดังนั้นตัวเมียจึงอาจไม่เข้าไปในกรงกับดักนั้น คือถ้ามันตามตัวผู้ไปที่ต้นไม้ข้างเคียงเข้าได้ละมันก็จะยุ่ง อาจกลับทำให้เกิดผลเสีย ถ้าตัวเยไปวางไข่ตามผลไม้อ่อนที่มีอยู่ในบริเวณนั้นเข้าให้ได้

จากเหตุผลดังกล่าวนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เผดิม  ระติสุนทร  จึงมีความคิดว่าถ้าเราสามารถหาสารล่อแมลงที่มีราคาถูกกว่าเมธิลยูจินอลได้แล้ว รีบกำจัดแมลงโดยเร็ว ก็น่าจะเป็นวิธีที่น่าจะกระทำโดยเฉพาะขอเน้นว่าต้องเป็นวิธีที่น่าจะกระทำโดยเฉพาะขอเน้นว่าต้องการใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการอย่างง่ายที่สุดลงทุนน้อยที่สุด และอยู่ในวิสัยที่ชาวสวนผลไม้จะปฏิบัติได้โดยง่าย และพร้อมเพรียงกันได้ด้วย นั่นก็คือใช้ใบและดอกของต้นกะเพราชนิดต้นที่มีใบเล็ก ๆ เมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นที่สามารถล่อแมลงวันผลไม้ได้ผลดี ไม้แพ้สารเมธิลยูจินอล ต้นกะเพราที่ใช้เป็นพันธุ์ใบเล็ก เมื่อเด็ดจากต้นสด ๆ ก็นำมาขยี้ล่อแมลงทันทีอย่าทิ้งไว้นานกลิ่นจะจางไป

พวกแมลงวันผลไม้ ที่มาตอมกลิ่นกะเพรานั้น เมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่า เป็นแมลงตัวผู้ทั้งหมด ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาการที่แมลงตัวผู้มาร่วมกลุ่มกันอยู่อันอาจเป็นสาเหตุ ให้ชักนำพาแมลงตัวเมียเข้ามาด้วย อย่างที่เกรงกันอยู่นั้น จึงได้หาวิธีทำลายโดยไม่ใช้กรง ไม่ใช้ย่าฆ่าแมลง  แต่ใช้วิธีการดั้งเดิมอย่างง่ายที่สุด คือการใช้ไม้หรือพลาสติกแบน ๆ ที่ใช้ตีแมลงวันที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปนั้นเอามาตีแมลงวันผลไม้ที่มาตอมกลิ่นกะเพราดังกล่าวนี้ ถ้าทำได้สักวันละ 1 ชม. สัปดาห์ละเพียง 3-4 ครั้ง ก็จะสามารถทำลายแมลงวันทองเหล่านั้นได้มากมาย  เป็นการปราบอย่างประหยัดและให้ผลทันตา

ถ้าป้องกัน และปราบแมลงวันผลไม้นี้ให้ดีก็จะมีผลไม้คุณภาพเด่นส่งออกขายหากำไรเข้าส่วนของเราได้ดีขึ้นแน่ ๆ