แมลงศัตรูชมพู่

ชมพู่จัดเป็นผลไม้ที่มีรสชาติดี เป็นที่นิยมรับประทานในหมู่คนไทยตลอดจนชาวต่างชาติที่คุ้นเคย  เนื่องจากรับประทานแล้วมีความรู้สึกสดชื่น  เพราะว่าผลชมพู่มีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่มากนั่นเอง  การปลูกชมพู่ในประเทศไทยนิยมปลูกเป็นการค้ากันมากอยู่ 2 พันธุ์นั่นคือ พันธุ์ทูลเกล้า และพันธุ์สายรุ้ง (หรือพันธุ์ชมพู่เพชร) โดยมีระบบการปลูกที่แตกต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ พันธุ์ทูลเกล้ามักปลูกกันแบบยกร่อง  โดยมีอายุชมพู่ให้ผลผลิตเพียง 6-7 ปีก็จะโค่นทิ้งแล้วปลูกใหม่ จึงเป็นการปลูกไม้ผลแบบล้มลุก เกษตรกรมีการปลูกเฉลี่ยรายละประมาณ 5-6 ไร่ โดยชมพู่จะให้ผลผลิตตั้งแต่ปีทีสองเป็นต้นไป  และจะให้ผลผลิตดีในปีที่ 4 มักนิยมปลูกกันในแถบจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และสมุทรสาคร  นอกจากนั้นก็มีการปลูกกันประปรายในจังหวัดอื่น ๆ เช่น ปทุมธานี นนทบุรี บางจังหวัดในภาคใต้และภาคเหนือ เป็นต้น ส่วนพันธุ์สายรุ้งเป็นชมพู่ที่ปลูกกันแบบไร่ไม่ยกร่อง  มักนิยมปลูกกันมากในเขตจังหวัดเพชรบุรีแถบอำเภอเมืองเป็นชมพู่ที่มีอายุมากตั้งแต่ 8-30 ปี จัดเป็นไม้ผลยืนต้น  เกษตรกรนิยมปลูกกันไม่มากเพียง 1-2 ไร่เท่านั้น เนื่องจากต้นชมพู่มีอายุมากและมีขนาดสูงต้องทำนั่งร้านไม้ไผ่สูงขึ้นไปเท่าต้นชมพู่ ซึ่งอาจมีขนาดสูงมากกว่า 10 เมตร เพื่อทำการห่อผลชมพู่ด้วยถุงกระดาษเพื่อป้องกันแมลงทำลาย

การปลูกชมพู่แบบยกร่องพันธุ์ทูลเกล้า  เกษตรกรมักมีการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันกำจัดแมลงบ่อยครั้งโดยใช้มากเฉลี่ยถึงปีละ 34 ครั้ง  โดยพ่นสารกำจัดแมลงเฉลี่ย 7-15 วันต่อครั้ง  สารกำจัดแมลงที่เกษตรกรนิยมใช้มาก 6 อันดับแรกได้แก่ เมทโธมิล (methomyl), เมทธิลพาราไธออน (methyl parathion), เมธามิโดฟอส (methamidophos), ไดเมทโธเอท (dimethoate), ไซเปอร์เมทริน (cypermethrin) และมาลาไธออน (malathion) แต่ละรายนิยมใช้สารกำจัดแมลงเฉลี่ยรวม 3 ชนิด  ส่วนการปลูกชมพู่สายรุ้งแถบจังหวัดเพชรบุรี  มีการใช้สารกำจัดแมลงน้อยครั้ง  เกษตรกรนิยมห่อผลด้วยกระดาษสีน้ำตาลเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลาย

แมลงศัตรูของชมพู่แต่ละพันธุ์จะคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันจนเกือบเหมือนกัน จะต่างกันเนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญที่ทำให้แมลงแต่ละชนิดระบาดหรือไม่ระบาด ตลอดจนความรุนแรงจะแตกต่างกันในแต่ละถิ่นด้วย  แมลงศัตรูชมพู่ที่สำคัญและวิธีการป้องกันกำจัดมีดังนี้

แมลงวันผลไม้ (Bactrocera correcta, Bactrocera dorsalis)

แมลงชนิดนี้ ตัวหนอนจะเจาะกินผลชมพู่ตั้งแต่เริ่มติดผลเป็นต้นไป ทำให้ผลชมพู่ร่วงและเน่า การทำลายเกิดจากแมลงวันผลไม้ 2 ชนิด ซึ่งแตกต่างกัน แมลงวันผลไม้ชนิดแรก (B. correcta) มีตัวสีดำ ขาสีดำ ขนาดประมาณ 1 ซม. ขอบปีกมีสีดำตลอดไปจนถึงปลายปีกทั้งสองข้าง ส่วนแมลงวันผลไม้ชนิดที่สอง (B. dorsalis) มีขนาดเล็กกว่าชนิดแรกเล็กน้อย แต่ว่องไวกว่า มีสีน้ำตาลแดงทั้งลำตัวและเขา  ปลายปีกมีจุดเล็ก ๆ สีดำ  การทำลายของแมลงวันผลไม้ทั้งสองชนิดจะเหมือนกัน แต่แมลงวันผลไม้ชนิดที่สองจะป้องกันกำจัดได้ยากกว่า  เนื่องจากสามารถทำลายผลไม้ได้ตั้งแต่ผลไม้ติดผลเล็ก ๆ และยังแข็งอยู่ การทำลายที่เกิดจากแมลงวันผลไม้ อาจรุนแรงมากจนถึง 100 เปอร์เซ็นต์ได้ หากไม่มีการป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัด

พ่นด้วยเหยื่อโปรตีน (อินไวท์ ดีโอเบท หรือออโตฟลาย) ผสมสารกำจัดแมลงมาลาไธออน 83℅ อีซี โดยใช้อัตราเหยื่อ 200-300 ซีซี กับสารกำจัดแมลงมาลาไธออน 10 ซีซี  ผสมในน้ำ 5 ลิตร คนให้เข้ากันพ่นแบบเป็นจุดต้นละ 2-4 จุด ทุก 5-7 วันต่อครั้ง  โดยเริ่มพ่นครั้งแรกก่อนชมพู่ติดผล 1 เดือน และพ่นเหยื่อพิษดังกล่าวไปจนห่อผลหมดทั้งแปลง หรือจนเก็บเกี่ยวผลผลิตหมด การห่อผลอาจใช้ถุงพลาสติกแบบถุงหิ้วหรือถุงกระดาษสีน้ำตาลที่ทำจากถุงปูนก็ได้

หนอนแดง (Meridarchis sp.)

ตัวหนอนเจาะกินผลชมพู่ทำให้ร่วงก่อนที่จะเก็บเกี่ยวได้  ตัวหนอนกัดกินเนื้อภายในผลแล้วขับถ่ายไว้เป็นเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ ทำให้สกปรกและผลเน่าได้ ตัวหนอนโตเต็มที่มีสีแดง เข้าดักแด้ในดิน การทำลายอาจรุนแรง 80-100 เปอร์เซ็นต์ แมลงชนิดนี้สามารถจะเข้าทำลายตั้งแต่ชมพู่ยังเป็นดอกตูม ๆ อยู่

การป้องกันกำจัด

พ่นด้วยสารกำจัดแมลงเมธามิโดฟอส 60℅SL. อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นช่วงเริ่มแทงดอก 1 ครั้ง และช่วงดอกตูม 1 ครั้ง และพ่นหลังติดผล 2-3 ครั้ง จนห่อผลหมด

เพลี้ยไฟ (Scirtothrips dorsalis)

ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอดอ่อน และช่อดอก ตลอดจนผลอ่อนของชมพู่ ทำให้ใบไหม้หงิกงอเสียรูปทรง ทำให้ดอกร่วงไม่ติดผล ผลอ่อนร่วงและเสียรูปทรง

การป้องกันกำจัด

พ่นด้วยสารกำจัดแมลงไซฮาโลทริน แอล 2.5℅ EC. ในอัตรา 10 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟอร์เมทธาเนท 25℅ SP. อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

หนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua)

ตัวหนอนกัดกินใบและยอดอ่อนของต้นชมพู่ ทำความเสียหายให้มากกับชมพู่ที่มีอายุ 1-2 ปี แต่มักไม่รุนแรงในชมพู่ที่มีอายุมากขึ้น การทำลายใบและยอดมาก ๆ จะมีผลต่อการออกดอกของชมพู่ด้วย แมลงชนิดนี้เป็นปัญหากับชมพู่พันธุ์ทูลเกล่ามากกว่าพันธุ์สายรุ้ง

การป้องกันกำจัด

พ่นด้วยสารกำจัดแมลงไดฟลูเบนซูรอน (diflubenzuron)30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไตรฟลูมูรอน (triflumuron), เทฟลูเบนซูรอน (teflubenzuron), คลอฟลูอะซูรอน (chlorfluazuron), ฟลูเฟนโนซูรอน (flufenoxuron) ในอัตรา 20-30, 15-30, 15-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และ 20-40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ หรือเชื้อไวรัส เอ็น พี วี 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วันต่อครั้งเมื่อมีการระบาด

ด้วงม้วนใบ (Apoderus sp.)

ตัวเต็มวัยกัดปลายใบชมพู่ม้วนเป็นหลอดเล็ก ๆ วางไข่ไว้ภายใน ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะกัดกินใบชมพู่อยู่ภายในหลอดนั้น การทำลายไม่รุนแรง  เนื่องจากมีวงจรชีวิตยาวมักเกิดกับชมพู่ที่ขาดการดูแลรักษา

การป้องกันกำจัด

พ่นด้วยคาร์บาริล 85℅ WP. ในอัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5-7 วันครั้ง  ในช่วงชมพู่ใบเพสลาดและเมื่อพบเห็นตัวเต็มวัยระบาด

หนอนร่าน (Parasa lepida)

ตัวหนอนกัดกินใบชมพู่ในระยะใบแก่  มีระบาดเป็นครั้งคราวเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม แต่ไม่พบระบาดบ่อยนัก ตัวหนอนมีสีเขียวลำต้นแบน

การป้องกันกำจัด

หากจำเป็นพ่นด้วยไดอะซินอน 60℅EC. อัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

หนอนบุ้ง(Dasychira horsfieldli)

ตัวหนอนกัดกินใบชมพู่ มักพบในปริมาณน้อยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด  ตัวหนอนมีขนสีเหลืองเป็นกระจุกเห็นชัดเจน หากพบเห็นให้จับทำลาย

หนอนเจาะกิ่ง (Zeuzera coffene)

ตัวหนอนกัดกินอยู่ในกิ่งชมพู่แล้วขับถ่ายออกมาทางปากรูเห็นเป็นขี้เลื่อยเม็ดกลมรีร่วงตามพื้น แล้วเข้าดักแด้ที่ปากรุนั้น  การทำลายทำให้กิ่งแห้งตาย  หากพบอาการเหี่ยวเฉาหรือขี้ขุยตามพื้นดิน  ให้ตรวจหาหอนที่กิ่งชมพู่  หากพบรูออกใช้สำลีชุบสรกำจัดแมลงอุดรู หรือหากกิ่งใกล้แห้งตายก็ให้ตัดกิ่งนั้นเผาทำลายเสีย

ไรแดง (Oligonychus biharensis)

ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบชมพู่  การทำลายจะเกิดกับใบแก่เท่านั้น  การทำลายทำให้ใบกร้านและแห้งตายได้  การระบาดจะเกิดในช่วงแล้งฝนทิ้งช่วง  ซึ่งในช่วงแล้งฝนทิ้งช่วงควรพ่นต้นชมพู่ทั้งต้นด้วยน้ำจนโชกเป็นครั้งคราว จะช่วยป้องกันการระบาดของไรได้  หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีให้พ่นด้วยสารกำจัดไร

เรื่อง  มนตรี  จิรสุรัตน์