แมลงศัตรูพืช:มอดเจาะลำต้นทุเรียน

ศรุต  สุทธิอารมณ์

อาจจะช้าไปสักหน่อยถ้าจะมาพูดเรื่องโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน ซึ่งเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา (Phytophthora palmivora (Butler))ที่ระบาดอย่างหนักเมื่อปลายปีที่แล้วในเขตภาคตะวันออก ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะความชื้นสูง เนื่องจากฝนตกชุกและมีน้ำท่วมขังบางพื้นที่ อันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคนี้อย่างสูง และสิ่งที่มักปรากฎควบคู่ไปกับโรครากเน่าโคนเน่าคือ รูพรุนบนกิ่งและลำต้นทุเรียนที่เป็นโรคนี้ รูพรุนขนาดจิ๋วเหล่านี้ก็คือ ร่องรอยการทำลายของมอดตัวเล็กๆ ที่ชื่อ “มอดเจาะลำต้นทุเรียน” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Xyleborus fornicates (Eichhoff) มอดเจาะลำต้น จะเจาะเข้าไปกินในลำต้นและกิ่งของทุเรียน

โดยทั่วไปจะพบมอดทำลายเฉพาะต้นที่ถูกโรครากเน่าโคนเน่าทำลายและเจาะเข้าไปบริเวณที่มีแผลเน่า ซึ่งบางครั้งจะไม่พบรอยเน่าบนผิวไม้ แต่เมื่อใช้มีดเฉือนเนื้อไม้บริเวณนั้น มักจะพบแผลเน่าอยู่ภายในอย่างไรก็ตามยังมีคำบอกเล่าว่าพบมอดทำลายไม้สดเหมือนกัน ข้อมูลนี้คงต้องทำการศึกษาต่อไป ส่วนมากมอดเจาะลำต้นจะทำลายบริเวณโคนต้นและกิ่งที่อยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2.5 เมตร (แสวง,2515) ต้นทุเรียนที่ถูกแมลงชนิดนี้ทำลายสังเกตได้ง่ายคือ มีรอยรูพรุนขนาดเล็กกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ตามโคนต้นและกิ่ง บางครั้งรูที่เพิ่งถูกเจาะจะมีขุยละเอียดสีขาวหรือสีน้ำตาลอยู่บริเวณปากรู ซึ่งก็คือมูลของมอดนั่นเอง โดยทั่วไปพบรูที่มอดเจาะลึกประมาณ 2-4 ซม.และมีลักษณะเฉียงไปเฉียงมา แต่ในต้นทุเรียนที่เป็นดรครากเน่าโคนเน่าอย่างรุนแรงหรือแผลเน่าลึกเข้าไปในเนื้อไม้ จะพบรูที่มอดเจาะลึกเข้าไปถึงแกนกลางของต้นเลยทีเดียว

ลักษณะการทำลาย

การทำลายของมอดเจาะลำต้นทุเรียนนี้ ถ้าหากเป็นทุเรียนต้นเล็กก็จะทำให้ต้นตายได้ สำหรับทุเรียนต้นใหญ่ มีรายงานว่าไม่เป็นอันตรายมากนัก แต่รอยเจาะของตัวมอดจะเป็นทางให้เชื้อโรครากเน่าโคนเน่าเข้าทำลาย และทำให้ทุเรียนต้นใหญ่ตายได้ (ชาญชัยและคณะ,2523) ซึ่งตรงกับรายงานของต่างประเทศ (Hill,1975) ซึ่งกล่าวไว้ว่าแมลงชนิดนี้จะเข้าทำลายพืชที่ไม่เห็นโรค และขณะเดียวกันก็เป็นพาหะนำโรค ทำให้พืชที่ถูกทำลายเป็นโรคในที่สุด อย่างไรก็ตามจนถึงบัดนี้ยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่เกษตรกร และนักวิชาการว่าระหว่างมอดเจาะลำต้นกับโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน สิ่งไหนเข้าทำลายทุเรียนก่อนกัน ทางด้านนักโรคพืชที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคของทุเรียน ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโรครากเน่าโคนเน่ากับมอดเจาะลำต้นทุเรียน พบว่ามอดจะบินมาเจาะที่แผลเน่า ภายหลังจากที่ต้นทุเรียนเป็นโรครากเน่าโคนเน่า เนื่องจากเชื้อราไฟทอปธอราแล้วเท่านั้น และไม่ได้เป็นพานะหรือตัวนำเชื้อราไฟทอปธอราให้ไปเกิดกับทุเรียน (ชัยวัฒน์, ติดต่อส่วนตัว 2538) ตัวมอดจะเจาะเข้าไปในส่วนของลำต้น หรือกิ่งที่มีแผลเป็นรูเล็กๆ และวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนก็จะหากินอยู่ภายในเนื้อไม้ที่เน่าเสีย จนกระทั่งเข้าดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยต่อไป

ชีวและนิเวศวิทยา

ตัวเต็มวัยมอดเจาะลำต้นทุเรียนมีสีดำปนน้ำตาลเป็นมัน รูปร่างทรงกระบอก หัวและท้ายตัด ขนาดลำตัวยาว 2-4 มิลลิเมตร เมื่อส่องด้วยแว่นขยายจะเห็นขนสั้นๆ บนด้านหลังของส่วนอกและปีก ตัวเต็มวัยจะเจาะรูเข้าไปในกิ่งหรือลำต้น หลังจากผสมพันธุ์ตัวเมียจะวางไข่รูปร่างยาวรีเป็นกลุ่มๆ ละ 4-5 ฟอง เรียงกันเป็นแถวในรูที่มอดอาศัย หลังจากไข่ฟักตัวหนอนจะกัดกินชอนไชลึกเข้าไปในกิ่งและลำต้น และจะเข้าดักแด้ภายในรูที่มอดอาศัยนั่นเอง มักจะพบว่ามีเพศเมียมากกว่าเพศผู้ถึง 10 เท่า เมื่อผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะบินไปยังต้นอื่น แต่ตัวผู้จะยังคงอาศัยอยู่ต้นเดิม วงจรชีวิตประมาณ 30-35 วัน และเพศเมียตัวหนึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้ 30-50 ตัว(สาทร และคณะ 2535)

แมลงชนิดนี้มีผู้รายงานว่า พบในมาดากัสการ์ อินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และปาปัวนิวกินี ในประเทศไทยพบระบาดตลอดปีในบริเวณที่ปลูกทุเรียน แล้วยังพบในพืชอื่นคือ ชา พืชตระกูลส้ม และโกโก้

การป้องกันกำจัด

1.  หมั่นตรวจสวนทุเรียน ถ้าพบกิ่งแห้งของทุเรียนที่ถูกมอดทำลาย ควรตัดและเผาทิ้งเสีย อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้แมลงแพร่ขยายการทำลายออกไป

2.  ในส่วนที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้เช่น เจาะเข้าในลำต้น อาจจะต้องใช้สารกำจัดแมลง หรือสารรมซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาต่อไป