แมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่งและวิธีการป้องกันกำจัด

แมลงศัตรูหน่อไม้ฝรั่ง

สุดาวรรณ  เชยชมศรี(นักวิจัย หน่วยวินิจฉัยและกักกันศัตรูพืช ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม)

โดยทั่วไปแล้ว แมลงที่ทำลายหน่อไม้ฝรั่งพบน้อยมาก แมลงที่พบว่าทำลายพืชชนิดนี้จะเป็นแมลงที่มีพืชอาหารหลายชนิด อาจจะเป็นเพราะสภาวะที่ไม่เหมาะสมหรือพืชอาหารชนิดอื่นขาดแคลน แมลงจึงเข้าทำลายหน่อไม้ฝรั่งได้

แมลงที่ทำลายหน่อไม้ฝรั่ง

1.  หนอนกระทู้หอม

ชื่ออื่น ๆ คือ หนอนหลอดหอม หนอนเขียว หนอนหนังเหนียว

หนอนกระทู้หอม เป็นหนอนที่มีความสำคัญมากที่สุดชนิดหนึ่งของพืชผัก  โดยเฉพาะในแถบภาคกลางของประเทศไทย มีการระบาดและเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว

ลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัย หรือแม่ผีเสื้อของแมลงชนิดนี้วางไข่เป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มไข่มีขนสีขาวนวลปกคลุมอยู่ทางด้านบนวางไข่ได้ในปริมาณ 20-300 ฟอง ปกติระยะไข่ประมาณ 3-5 วัน ชอบวางไข่ในเวลาเย็นถึงค่ำ วางไข่ตามใต้ใบพืชที่เป็นอาหาร  เพื่อให้หนอนที่ฟักออกมามีอาหารกินทันทีเมื่อออกจากไข่ ระยะหนอนหรือระยะตัวอ่อนนี้ เป็นระยะที่กินอาหารมากที่สุด จึงกัดกินพืชอาหารให้เสียหายเป็นอย่างมาก ตัวหนอนของแมลงชนิดนี้ มีสีของลำตัวที่แตกต่างกัน เช่นสีเขียวแก่ สีเขียวปนชมพู หรืออาจมีสีเขียวเกือบดำ ตัวหนอนเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ซึ่งใช้เวลาประมาณ 14-17 วัน จะลอกคราบเพื่อเข้าดักแด้ โดยเข้าดักแด้ในดินบริเวณโคนต้นพืช ระยะดักแด้ประมาณ 5-7 วัน ต่อจากนั้นดักแด้จะออกเป็นตัวเต็มวัยซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาล ผีเสื้อมีชีวิตอยู่ได้ 5-10 วัน

ลักษณะการทำลาย

ระยะของแมลงที่เข้าทำลายหน่อไม้ฝรั่งมีระยะเดียวคือระยะตัวหนอน โดยจะกัดกินส่วนต้นและใบให้ขาด แหว่ง และหักได้ มักพบว่าแมลงชนิดนี้ จะกัดกินหน่อไม้ฝรั่งที่อยู่ในระยะกล้ามากกว่า เพราะกัดกินได้ง่ายกว่าหน่อไม้ฝรั่งที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว เนื่องจากฝีเสื้อวางไข่ครั้งละมาก ๆ ทำให้ตัวหนอนที่ฟักจากไข่มีจำนวนมาก พอที่จะกัดกิน หน่อไม้ฝรั่งให้เสียหายได้มากทีเดียว

การป้องกันกำจัด

เนื่องจากแมลงชนิดนี้มีปัญหาในการดื้อต่อยาฆ่าแมลงมาก ทำให้การใช้ยาฆ่าแมลงที่เกษตรกรเคยใช้อยู่ไม่ได้ผล  ซึ่งถ้าเป็นสวนผักที่เพิ่มปลูกใหม่ การใช้ยาฆ่าแมลงพวกแอมบุช ริพคอร์ด หรือแลนเนท ก็ยังพอจะได้ผลอยู่บ้างแต่เมื่อใช้ไปนาน ๆ แมลงจะเริ่มดื้อต่อยาดังกล่าว จึงควรใช้ยาดังกล่าวฉีดพ่นสลับกับสารเคมีอย่างอื่น ซึ่งอาจจะเป็นพวกที่มีผลต่อการลอกคราบของตัวหนอน เช่น ดิมิลิน อัสซิสติน หรือ แชคคิลเลอร์ เป็นต้น ในปัจจุบันนี้ การใช้เชื้อไวรัส กำจัดหนอนกระทู้หอมเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง เพราะหนอนชนิดนี้จะอ่อนแอต่อเชื้อโรคนี้มาก  และเชื้อชนิดนี้ก็ไม่เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ หรือแมลงที่มีประโยชน์อื่น ๆ การฉีดพ่นเหมือนกับการใช้สารเคมี และสิ่งสำคัญคือ ต้องฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสถูกทำลายด้วยแสงแดด เมื่อฉีดเชื้อแล้วหนอนจะตายภายใน 3-5 วัน เกษตรกรสามารถเก็บหนอนที่ตายแล้วมาผสมน้ำเพื่อฉีดพ่น ฆ่า หนอน ได้อีก โดยใช้หนอนที่ตายแล้วขนาดประมาณ 2 ซม. 1 ตัวผสมกับน้ำ 1 ลิต หรือเก็บเชื้อจากหนอนตายไว้ในขวดสีชาเก็บไว้ในที่เย็น และไม่ถูกแสงแดดก็จะเก็บรักษาเชื้อไว้ได้นานมาก

2.  หนอนบุ้ง

พบว่ามีการทำลายหน่อไม้ฝรั่งได้บ้างแต่พบน้อย  อาจจะระบาดมาจากแปลงผักที่อยู่ใกล้เคียงได้

ลักษณะและชีวประวัติ

ตัวเต็มวัยจะวางไข่เป็นกลุ่ม โดยวางไข่ตามใต้ใบพืชอาหารระยะไข่ 5-7 วัน เมื่อฟักออกจากไข่เป็นตัวหนอน ซึ่งมีขนปกคลุมอยู่ตามลำพัง ระยะตัวหนอนประมาณ 29-30 วัน จึงลอกคราบเพื่อเข้าดักแด้ โดยมีการสร้างใยเป็นรังหุ้มรอบดักแด้ที่อยู่ภายใน ดักแด้จะติดอยู่ที่ต้นพืชโดยใยที่มันสร้างขึ้นหุ้มตัวนั้น ระยะดักแด้ 7-14 วัน จากนั้นดักแด้จะออกเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืนสีน้ำตาล ผีเสื้อมีชีวิตอยู่ได้ 5-9 วัน

ลักษณะการทำลาย

ตัวหนอนจะกัดกินส่วนต่าง ๆ ของหน่อไม้ฝรั่งโดยเฉพาะส่วนที่ยังอ่อนอยู่

การป้องกันกำจัด

ควรดูแลแปลงปลูกหน่อไม้ฝรั่งอย่าให้มีหญ้า หรือวัชพืชต่าง ๆ ขึ้นปกคลุม หน่อไม้ฝรั่งมากนัก  เพราะวัชพืชจะเป็นที่หลบซ่อนของหนอนบุ้งได้เป็นอย่างดี  ตัวหนอนชอบหากินเวลาใกล้ค่ำ  เนื่องจากแมลงชนิดนี้ไม่ได้ระบาดรุนแรงมากนัก การใช้ยาฆ่าแมลงจึงควรใช้ชนิดที่มีฤทธิ์สั้นและมีผลตกค้างน้อย เช่น เซฟวิน 85% หรือแอมบุช ฉีดพ่นเมื่อพบว่ามีแมลงชนิดนี้เริ่มกัดกินหน่อไม้ฝรั่ง

3.  เพลี้ยไฟ

เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็กซึ่งมองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น แต่สามารถสังเกตได้จากความผิดปกติที่เกิดกับพืชที่ถูกเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงคืออาการหงิก แคระ แกรน ซึ่งต่างกับหนอนผีเสื้อ ซึ่งจะใช้ปากกัดกินส่วนของพืชให้เป็นรอยเว้าแหว่งหรือขาดจากกันได้

ลักษณะและชีวประวัติ

เพลี้ยไฟ วางไข่เป็นฟองเดี่ยว ๆ ตามส่วนต่าง ๆ ของพืช ไข่ขนาดเล็กมาก ระยะไข่ 3-4 วัน จึงฟักเป็นตัวอ่อน ระยะตัวอ่อนประมาณ 4-7 วัน จึงลอกคราบแล้วเข้าดักแด้ในดิน  ระยะดักแด้ 1-5 วัน จึงฟักเป็นตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยมีสีเหลือง ตัวค่อนข้างผอมยาวมีปีกขนาดเล็ก ๆ 2 คู่ ระยะตัวเต็มวัย 7-20 วัน

ลักษณะการทำลาย

ทั้งตัวอ่อน และตัวแก่ของเพลี้ยไฟจะใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อพืชแล้วดูดน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะในส่วนยอดอ่อน ซึ่งทำให้หน่อไม้ฝรั่งมีอาการยอดอ่อนหงิกไม่ชี้ตรงเหมือนปกติ  ส่วนใบจะเป็นฝอย การทำลายอาจะเป็นหย่อม ๆ หรือกระจายทั่วไป  เมื่อพืชถูกทำลายอย่างรุนแรงยอดจะเหลืองมีสีซีดลง ส่วนกิ่งก้านลำต้นที่ถูกเพลี้ยไฟดูดน้ำเลี้ยงจะมีรอยสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง  และสีน้ำตาลเข้มขึ้นตามลำดับ เพลี้ยไฟจะระบาดมากในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศแห้ง จึงทำให้หน่อไม้ฝรั่งแสดงอาการใบฝอยรุนแรงมาก แต่ถ้าพ้นระยะดังกล่าวแล้วปริมาณเพลี้ยไฟจะลดลง ยอดของหน่อไม้ฝรั่งที่เคยถูกเพลี้ยไฟดูดกินน้ำเลี้ยงจนหงิกก็สามารถแตกยอดใหม่ต่อไป โดยเจริญเติบโตเป็นปกติได้

การป้องกันกำจัด

ถ้าพบว่ามีเพลี้ยไฟระบาดมาก อาจจะใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นได้บ้าง เช่นใช้เซฟวิน 85% ในแหล่งที่ยังไม่เคยมีการระบาดของเพลี้ยไฟมาก่อนหรือใช้ยาฆ่าแมลงอย่างอื่น เช่นโตกุไธออน เมชูโรล หรือฟอสซ์ ฉีดพ่นในแหล่งที่มีการระบาดของเพลี้ยไฟมากและเพลี้ยไฟนั้นเริ่มดื้อต่อยาฆ่าแมลงแล้ว ซึ่งต้องทิ้งระยะหลังฉีดยาฆ่าแมลงแล้ว 7-10 วัน จึงเก็บหน่อไม้ฝรั่งออกจำหน่ายได้