โทงเทงประโยชน์ใช้รักษา


โคมจีน เผาะแผะ ทุ้งทิ้ง
ชื่อ
จีนเรียก     เต็กลั่งเช่า  โป๊กเกี๋ยเช่า  Physalis pubescens Linn.

ลักษณะ
อยู่ในประเภทมะเขือ ชอบเกิดที่ในทุ่งกว้าง ริมทาง ที่ลุ่ม เป็นพืชล้มลุก ลำต้นมีขนขึ้นประปราย แผ่กิ่งก้านหลายกิ่ง บ้างก็ขึ้นตรงบ้างก็เอนลม สูงประมาณ 1-2 ฟุต ลำต้นสีม่วง ลำข้อเป็นปม ใบคู่ ก้านใบยาว ใบกลม เป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 2 นิ้ว ปลายใบค่อนข้างแหลม ฐานใบบ้างก็สอบ บ้างกป้าน ไม่สมดุลย์กัน ขอบใบรูปคลื่นไม่เรียบและมีมุมแหลมเป็นบางแห่ง ออกดอกจากฐานกิ่งในหน้าร้อนและหน้าฝน ดอกสีเหลืองอ่อนเป็นช่อ ใบดอกพองออกห่อเมล็ด คล้ายโคมกระดาษญี่ปุ่น

รส
รสขม ธาตุเย็นมาก ไม่มีพิษ รากมีรสหวานปะแล่ม

สรรพคุณ
รับประทานสามารถแก้ร้อน ประสะเลือดให้เย็น ดับพิษ แก้คัด ใช้ภายนอก แก้ร้อน แก้บวม ฤทธิ์เข้าถึงม้ามและปอด

รักษา
เจ็บคอเพราะปอดร้อน ฝีในปอด คางทูม ลูกอัณฑะร้อน ปัสสาวะเลือด
ใช้ภายนอกรักษาผิวหนังเป็นตุ่มเป็นฝี เหงือกเจ็บบวม

ตำราชาวบ้าน
1. เจ็บคอเพราะปอดร้อน – โทงเทง 1 ตำลึงตำเอานํ้ารับประทาน หรือต้มโทงเทงใส่นํ้าตาลแดงรับประทานและตำกับเกลือแล้วใช้อม หรือตำกับ หญ้าเกล็ดหอย 1 ตำลึง คั้นเอาน้ำรับประทาน หรือต้มกับ
ยาเย็น 1 ตำลึง รับประทาน
2. ฝีในปอด – โทงเทง สับแหลกใส่เหล้า ตุ๋นรับประทาน
3. คางทูม – โทงเทง 1 ตำลึง ต้มกับกวยแชะ รับประทาน
4. ลูกอัณฑะร้อน – โทงเทง หรือรากของมัน 1 ตำลึง ต้มนํ้าใส่น้ำตาลแดง หรือตุ๋นกับไข่ไก่ ตุ๋นเหล้า รับประทาน หรือโทงเทง ต้มกับ  ขี้ตุ่น 1 ตำลึง รับประทาน
5. ปัสสาวะเลือด – โทงเทง 1 ตำลึง ต้มกับลูกพลับแห้ง รับประทาน
6. ผิวหนังพุพองเป็นตุ่มฝี – โทงเทง ครึ่งตำลงตำเอาน้ำ ตุ๋นเหล้า
7. เหงือกเจ็บบวม – โทงเทง ตำแหลกแช่น้ำส้ม ใช้อม

ปริมาณใช้
รับประทานสดรวมทั้งรากไม่เกิน 2 ตำลึง แห้งไม่เกิน 5 เฉียน ใช้ภายนอก กะพอประมาณ

ข้อควรรู้
หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช