คุณค่าสมุนไพรจีนโท่ติ่งเท้า


ชื่อ
จีนเรียก    โท่ติ่งเท้า แปะชุ่ยเง็ก เตี่ยมแต้ Oldenlandia hedyotidea (D.C) Hand – Mazz.

ลักษณะ
ชอบขึ้นตามทุ่งในน้ำ ริมคู คันนา เป็นพืชพวกเถาวัลย์มีหัวไม่มีชื่อไทย รากเป็นหัวส่วนลำต้นเป็นเถา ใบสลับ ก้านใบสั้น ใบก็สั้นเนื้อหยาบมีขน รูปใบกลมยาว ปลายแหลม ยาวประมาณ 2 นิ้ว ขอบใบม้วนลง เอ็น หน้าใบเด่น เอ็นหลังใบจม มีหูใบประกอบทุกใบ ออกดอกสีขาวเป็นช่อในหน้าร้อนและหน้าฝน กระเปาะดอกแตกเป็น 4 กลีบ ส่วนกลีบดอกก็มี 4 กลีบเช่นกัน เมล็ดพันธุ์เป็นรูปกลม

รส
มีรสขมนิดๆ ธาตุเย็น ไม่มีพิษ

สรรพคุณ
สามารถประสะเลือดให้เย็น ทำให้ปอดเย็น ใช้ภายนอกแก้บวม คลายคัด ฤทธิ์เข้าถึงปอดและม้าม

รักษา
ไอเพราะปอดร้อน อุจจาระเป็นเลือด ริดสีดวงทวารบวมถ่ายเลือด
ผิวหนังเป็นตุ่ม ฝีพิษ ผดพิษ เจ็บบวม เป็นหิด เด็กเป็นชันนะตุ ใบใช้แก้ผู้หญิงเจ็บนม

ตำราชาวบ้าน
1. ไอเพราะปอดร้อนใน -โท่ติ่งเท้า 1 ตำลึง ต้มกับกวยแชะ รับประทาน
2. อุจจาระเป็นเลือด – โท่ติ่งเท้า 2 ตำลึง สับจนแหลก ต้มเนื้อสันหมู รับ ประทาน
3. ริดสีดวงทวารถ่ายเป็นเลือด -โท่ติ่งเท้า 1 ตำลึง ต้มกับนํ้าตาลแดงรับประทาน หรือโท่ติ่งเท้า 1 ตำลึงต้มกับสายนํ้าผึ้ง และแซตี่ อย่างละครึ่งตำลึง
4. เป็นหิด ชันนะตุ – โท่ติ่งเท้าครึ่งตำลึงถึง 1 ตำลึง ต้มนํ้าตาลแดง รับ ประทาน
5. ผิวหนังเป็นพิษพุพองเป็นผื่น-โท่ติ่งเท้า 1 ตำลึง ต้มนํ้าตาลแดง หรือ โท่ติ่งเท้า 1 ตำลึงต้มกับสายนํ้าผึ้ง  และแซตี่ อย่างละครึ่งตำลึง หรือโท่ติ่งเท้าต้มกับสายนํ้าผึ้ง  และแฮ่โกเช่า  อย่างละครึ่งตำลึง
6. ผู้หญิงเจ็บนม -โท่ติ่งเท้า 1 ตำลึง ตำแหลกใส่เหล้ารับประทาน ส่วนกากใช้พอก

ปริมาณใช้
ต้นและรากไม่เกิน 1 ตำลึงครึ่ง แห้งไม่เกิน 1 ตำลึง ใช้ภายนอกกะพอ ประมาณ

ข้อควรรู้
หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน

ที่มา:บุญชัย  ฉัตตะวานิช